นโยบายในการดำเนินธุรกิจ
ธสน. มีนโยบายในการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ ให้ขยายการส่งออกและการลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ผ่านการให้สินเชื่อ รับประกัน หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการอื่น ๆ บนพื้นฐานของนวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลายอย่างครบวงจร (Total Solution) โดยมุ่งเน้นการเสริมศักยภาพการค้าการลงทุนให้กับธุรกิจไทย และสนับสนุนการค้าและการลงทุนของธุรกิจไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก อีกทั้ง ธสน. จะเป็นกลไกของรัฐเพื่อขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนธุรกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะที่สอดรับกับบริบทการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากล ซึ่ง ธสน. มุ่งมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการไทยตลอดห่วงโซ่มูลค่า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ประเทศไทยและอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ (S-curve) อันจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ต่อไป

ธสน. มุ่งมั่นที่จะดำเนินบทบาทการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) และมุ่งสู่วิสัยทัศน์ “เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนของไทย ให้เติบโตในเวทีโลกอย่างยั่งยืน” โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้
  • ด้านการส่งเสริมการส่งออกและการนำเข้า

    1
    ธสน. ได้พัฒนารูปแบบการสนับสนุนการส่งออกไทย
    ด้วยบริการทางการเงินตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และให้บริการด้านไม่ใช่การเงิน รวมถึงช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้ส่งออกด้วยบริการรับประกันความเสี่ยงในการเรียกเก็บเงินจากผู้ซื้อในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการขยายธุรกิจส่งออกของไทยไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดใหม่ (New Frontiers) ที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ ยังมุ่งส่งเสริมการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการนำเข้าสินค้าและบริการที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานของสินค้าไทยในตลาดโลก
     
  • ด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม
    เป้าหมายของประเทศ

    2
    ธสน. มีนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องตามนโยบายภาครัฐ โดยผลักดันการขยายธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) ที่มีศักยภาพสูง เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมสุขภาพ อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) เช่น พลังงานสะอาด/หมุนเวียน รวมถึงการสนับสนุนโครงการภาครัฐสู่ภาครัฐ (G2G) และโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ผ่านการให้สินเชื่อระยะยาวในประเทศและการสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) แก่ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ 
  • ด้านการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย
    ไปลงทุนในต่างประเทศ

    3
    ธสน. มีนโยบายเพิ่มศักยภาพการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทย เพื่อขยายตลาดหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากร และสิทธิประโยชน์จากประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ ธสน. ยังเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาค เช่น การให้เงินกู้ระยะยาวแก่ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการที่ใช้สินค้าและบริการของไทย ตลอดจนสนับสนุนการลงทุนในประเทศที่มีผลต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายรัฐ เช่น การขนส่งทางน้ำ พลังงานทดแทน 
  • ด้านการกำกับดูแล

    4
    ธสน. ยึดมั่นในการดำเนินงานตามหลักการกำกับดูแลที่ดี การให้สินเชื่อของ ธสน. ดำเนินไปตามหลักการธนาคารที่ดี (Sound Banking Practice) โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์และความสามารถในการชำระเงินคืนของผู้กู้เป็นสำคัญ พร้อมกันนี้ ธสน. มีการพัฒนาบุคลากรและระบบงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอภายใต้
    หลักธรรมาภิบาลและหลักการบริหารที่ดี รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามตามกรอบการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environment, Social and Government: ESG)