นโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
ธสน. ยึดมั่นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการปฏิบัติงาน (CSR in Process) เป็นแนวปฏิบัติหลักในการแสดงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มของ ธสน. ซึ่งเทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล ISO 26000 ที่เป็นหลักการที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป โดยได้มีการกำหนดโครงสร้างผู้รับผิดชอบ ค่านิยมหรือพฤติกรรมพึงประสงค์ ระบบการปฏิบัติงานและการบริหารจัดการอย่างครบถ้วน ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้
  • คณะกรรมการ ธสน. ผู้บริหาร และพนักงานมุ่งมั่นปฏิบัติตนตามหลักความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

    1
    • ความรับผิดชอบ (Accountability) : การรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ บริการและการปฏิบัติงานที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมภายนอกองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม
    • ความโปร่งใส (Transparency) : ความโปร่งใสในการตัดสินใจและการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
    • การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม (Ethical Behavior) : การยึดมั่นปฏิบัติงานอย่างมีจริยธรรมทั้งความซื่อสัตย์ ไม่เลือกปฏิบัติ และยุติธรรม
    • การเคารพต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Respect for Stakeholder Interests) : การเคารพ พิจารณาและตอบสนองต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มขององค์กร
    • การเคารพต่อหลักนิติธรรม (Respect for the Rule of Law) : เป็นการยอมรับการปฏิบัติตามหลักนิติธรรมหรือการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับ ธสน.
    • การเคารพต่อการปฏิบัติตามแนวทางของสากล (Respect for International Norms of Behavior) : เป็นการเคารพต่อการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่สากลกำหนด ร่วมกับการยึดมั่นการดำเนินงานตามหลักนิติธรรมที่รัฐบาลกำหนดอย่างเคร่งครัด
    • การเคารพต่อสิทธิมนุษยชน (Respect for Human Right) : เป็นการให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และยอมรับถึงความสำคัญ และความเป็นสากลของหลักการ
  • ธสน. เสริมสร้างให้องค์กรมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการปฏิบัติงาน (CSR in Process) ที่เป็นระบบ มีประสิทธิผล โดยสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ISO 26000

    2
    2.1) ธรรมาภิบาลเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม : โดย ธสน. จะกำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการ ธสน. และผู้บริหารระดับสูง รวมถึงระบบการบริหารจัดการและการชี้นำองค์กร ที่ทำให้คณะกรรมการ ธสน. ผู้บริหารระดับสูงและพนักงานภายใน ธสน. มีการตัดสินใจและการปฏิบัติงานอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ บริการ และการปฏิบัติงานของ ธสน. โดยธรรมาภิบาลเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมีขอบเขตการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
    • การกำกับ ธสน. ให้ยึดมั่นแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการปฏิบัติงาน (CSR in Process)
    • การตอบสนองและสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล
    • บทบาทของผู้บริหารระดับสูงในการเสริมสร้างพฤติกรรมและวัฒนธรรมองค์กรด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยครอบคลุม 7 แนวปฏิบัติ (7 Principles) ตามมาตรฐาน ISO 26000
    • การติดตาม และทบทวนความเพียงพอของระบบการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้มั่นใจได้ถึงมาตรฐานและประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน

    2.2) สิทธิมนุษยชน : ธสน. มุ่งตัดสินใจและปฏิบัติงาน โดยนำข้อมูลสิทธิตามกฎหมาย และสิทธิอื่นๆ ที่พนักงาน ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญทุกกลุ่มได้รับ นำมาใช้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การให้บริการ และการปฏิบัติงานของ ธสน. ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน โดยการปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชนมีขอบเขตดังนี้
    • การป้องกันและหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชน
    • การบริหารความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน
    • การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านสิทธิมนุษยชน
    • การไม่เลือกปฏิบัติในการให้บริการและการปฏิบัติงาน
    • สิทธิการเป็นพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
    • การคำนึงถึงสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

    2.3) การปฏิบัติด้านแรงงาน : การปฏิบัติต่อพนักงานภายในองค์กรอย่างเป็นธรรมและมีความรับผิดชอบ ตามสิทธิที่พนักงานพึงได้รับตามหลักกฎหมายและหลักจริยธรรม โดยการปฏิบัติด้านแรงงานอย่างมีความรับผิดชอบมีขอบเขตดังนี้
    • การจ้างงานและการบริหารความสัมพันธ์กับแรงงาน
    • สภาพการทำงานและการคุ้มครองทางสังคม
    • การส่งเสริมการเจรจาต่อรองที่เป็นธรรมระหว่างพนักงานและองค์กร
    • สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน
    • การพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากรในสถานที่ปฏิบัติงาน

    2.4) สิ่งแวดล้อม : ธสน. กำหนดพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และออกแบบการปฏิบัติงาน ที่ทำให้องค์กรใช้ทรัพยากรทุกประเภทอย่างประหยัด และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการปฏิบัติอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมีขอบเขตดังนี้
    • การป้องกันมลภาวะ
    • การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
    • การลดและปรับตัวให้เข้ากับภาวะโลกร้อน
    • การปกป้องสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และการบูรณะที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ

    2.5) การปฏิบัติที่เป็นธรรม : การมุ่งเน้นให้พนักงานมีแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดซื้อจัดจ้าง และดำเนินงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั้งผู้ส่งมอบ คู่ค้า และคู่ความร่วมมืออย่างมีความรับผิดชอบและเป็นธรรม พร้อมผลักดันให้ผู้ส่งมอบ คู่ค้า และคู่ความร่วมมือนำแนวทางการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไปปฏิบัติ โดยการปฏิบัติงานที่เป็นธรรมมีขอบเขต ดังนี้
    • การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
    • การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างรับผิดชอบ
    • การเสริมสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม
    • การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมในห่วงโซ่แห่งคุณค่า
    • การเคารพต่อสิทธิในทรัพย์สิน

    2.6) ประเด็นด้านผู้ใช้บริการ : การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่รับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการ โดยครอบคลุมประเด็นสำคัญ ดังนี้
    • การตลาดที่เป็นธรรม สารสนเทศที่เป็นจริงและไม่เบี่ยงเบนและการปฏิบัติตามข้อตกลงที่เป็นธรรม
    • การคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ
    • การบริโภคและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
    • การบริการ การสนับสนุน และการยุติข้อร้องเรียนและข้อโต้แย้งแก่ผู้ใช้บริการ
    • การปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ
    • การเข้าถึงบริการทางการเงินที่จำเป็น

    2.7) การมีส่วนร่วมของชุมชนและการพัฒนาชุมชน : การพัฒนาและส่งเสริมให้ชุมชนสำคัญของ ธสน. เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยยึดแนวทางให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานกับ ธสน. ในขอบเขตที่สำคัญดังนี้
    • การมีส่วนร่วมของชุมชนและการพัฒนาชุมชน
    • การศึกษาและวัฒนธรรม
    • การส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน
    • การพัฒนาและการเข้าถึงเทคโนโลยี
    • การสร้างความมั่งคั่งและรายได้
    • สุขภาพ
    • การลงทุนทางสังคม
    โดยแนวปฏิบัติที่ดีที่ระบุไว้ในนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ ธสน. จะมีการทบทวนและนำเสนอให้คณะกรรมการ ธสน. พิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นประจำทุกปี ก่อนเผยแพร่ให้บุคลากรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องภายนอก ถือปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นมาตรฐานต่อไป