ธสน. ได้นำแนวนโยบายภาครัฐ ประกอบด้วย แนวนโยบายจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แผนพัฒนารัฐวิสาหกิจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (ปี 2566-2570) รวมทั้งแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มากำหนดทิศทางและแนวทางดำเนินงานของ ธสน. เพื่อเป็นกลไกสำคัญของภาครัฐในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาประเทศ ผ่านการสนับสนุนด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และนักลงทุนไทย โดยเฉพาะในส่วนที่ยังได้รับการสนับสนุนไม่เพียงพอหรือยังไม่ได้รับการสนับสนุน
ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ธสน. ดำเนินงานตามแนวนโยบายจากผู้ถือหุ้นภาครัฐ ทั้งแนวนโยบายจาก สศค. ระยะ 5 ปี (ปี 2564-2568) ซึ่งมุ่งเน้นให้ “การดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เป็นฟันเฟืองทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีคุณภาพ สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้สามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ ตลอดจนเพิ่มพูนผลิตภาพเชิงเศรษฐกิจควบคู่กับการฟื้นฟูผลิตภาพทางสังคมไปอย่างยั่งยืน” และแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ ปี 2566-2570 ของ สคร. ซึ่งกำหนดกรอบภารกิจสถาบันการเงิน คือ “เป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา และสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึง ควบคู่กับการให้ความรู้ทางการเงิน รวมทั้งสนับสนุนความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” ทั้งนี้ บทบาท ธสน. มีความเกี่ยวข้องกับหมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้ และหมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ
โครงสร้างทางธุรกิจ
ธสน. ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งในด้านการเงินผ่านบริการสินเชื่อและประกัน และด้านไม่ใช่การเงินผ่านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้สามารถส่งออกหรือลงทุนในต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน
หมายเหตุ: ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ธสน. ได้ถือหุ้นในบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) จำนวน 10,836 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 0.31 ของทุนจดทะเบียนของ NDID ตามมติที่ประชุมสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ