อนาคตพลังงานสะอาด : ยังไปต่อได้…แม้อาจสะดุดจากวิกฤต COVID-19

วันที่ประกาศ 17 กรกฎาคม 2563
ประเด็นการพัฒนาพลังงานสะอาดเพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระสำคัญในหลายเวทีประชุมระดับโลก เนื่องจากถือเป็นความท้าทายที่นานาประเทศต้องเตรียมรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อน อันเป็นที่มาของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20:20:20 นั่นคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% การเพิ่มอัตราส่วนการใช้พลังงานสะอาด 20% และการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน 20% เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสในทศวรรษนี้ แต่ในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์โลกกลับไม่เป็นไปตามที่ยุทธศาสตร์ตั้งไว้ แย่ไปกว่านั้นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีที่ผ่านมา ยังเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกต้องเผชิญกับวิกฤตที่ไม่มีใครคาดคิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง โดยมีการคาดการณ์ว่าความต้องการใช้พลังงานของทั้งโลกในปี 2563 จะลดลงถึง 6% ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวที่มากที่สุดในรอบ 70 ปี หรือเทียบเท่าความต้องการใช้พลังงานของประเทศผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกอย่างอินเดีย ขณะเดียวกัน ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกยังลดลงมากเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับธรรมชาติและสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ที่กลับมาฟื้นตัวในช่วง Lockdown ประเด็นดังกล่าวจุดประกายให้ประชากรโลกได้ตระหนักแล้วว่ากิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมไปมากเพียงใด  จนหลายฝ่ายหวังว่าประสบการณ์ร่วมในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานสะอาด ให้สำเร็จลุล่วงได้ในระยะยาว

การลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนของโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่เพียงพอต่อการลดภาวะโลกร้อนในระยะข้างหน้า

จากข้อมูลของ BloombergNEF การลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก (ไม่รวมโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่ากว่า 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนของโลกเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 5.9% ในปี 2552 เป็น 13.4% ในปี 2562 ขณะเดียวกัน กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปี 2562 ยังเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 184 กิกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อนหน้า ทำให้ ณ สิ้นปี 2562 กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของโลกอยู่ที่ 1,627 กิกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณามูลค่าการลงทุนในปี 2562 กลับเพิ่มขึ้นไม่ถึง 1% จากปีก่อนหน้า หรือราว 2.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุหลักมาจากการที่ต้นทุนในการลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนลดลงอย่างต่อเนื่อง
3119407.jpg

เป็นที่น่าสังเกตว่า นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะจีนและอินเดีย มีการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วมาโดยตลอด แสดงให้เห็นว่าบทบาทของการพัฒนาพลังงานสะอาดได้ย้ายมายังประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น จากเดิมที่การลงทุนกระจุกตัวอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากในอดีตพลังงานหมุนเวียนถือเป็นพลังงานราคาแพง การลงทุนจึงเกิดขึ้นในประเทศที่มีความพร้อมด้านเงินทุนและเทคโนโลยีอย่างประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ด้านพลังงานหมุนเวียนมีราคาถูกลง ส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากขึ้น และยังช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานด้วยการกระจายแหล่งพลังงานออกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ไปยังพลังงานสะอาดอย่างแสงอาทิตย์และลมได้มากขึ้น

สำหรับในระยะ 10 ปีข้างหน้า BloombergNEF ได้ประมาณการแนวโน้มการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนจากนโยบายของประเทศต่าง ๆ ตลอดจนการลงทุนของภาคธุรกิจสำคัญ โดยคาดว่าโลกจะมีการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนอีก 826 กิกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระดับดังกล่าวอาจไม่เพียงพอที่จะช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากมีการประมาณการว่าโลกต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอีก 2,836 กิกะวัตต์ ในอีก 10 ปีข้างหน้า จึงจะสามารถรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสได้ เพื่อที่จะบรรเทาปัญหาโลกร้อนซึ่งมีแนวโน้มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งจากภาวะอากาศที่แปรปรวนจนทำให้ภาคเกษตรกรรมได้รับความเสียหาย ไปจนถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้งขึ้นจนสร้างความเสียหายต่อชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของหลายประเทศ

ในระยะสั้นอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนต้องเผชิญอุปสรรคภายใต้วิกฤต COVID-19

วิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้การพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนต้องหยุดชะงัก เนื่องจาก
  • มาตรการ Lockdown และ Travel Restriction ส่งผลกระทบต่อโครงการพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นการที่โครงการต้องหยุดดำเนินการก่อสร้างชั่วคราว เนื่องจากแรงงานไม่สามารถกลับเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ ตลอดจนการหยุดดำเนินการของผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ด้านพลังงานหมุนเวียน ทำให้บางโครงการประสบปัญหาการหยุดชะงักของ Supply Chain
  • ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงรุนแรงจากความต้องการใช้ที่หดตัวบั่นทอนแรงจูงใจในการผลักดันการพัฒนาพลังงานสะอาด เนื่องจากราคาน้ำมันถือเป็นหนึ่งในราคาอ้างอิงของราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ดังนั้น การที่เชื้อเพลิงฟอสซิลมีราคาถูกลง จึงส่งผลให้พลังงานหมุนเวียนสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในมุมมองของผู้กำหนดนโยบายในแต่ละประเทศที่ต้องวางแผนว่าควรลงทุนในโครงการพลังงานประเภทใดในระยะข้างหน้า
  • ความสามารถในการลงทุนของบางประเทศลดลงจากภาระทางการคลังและภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ จำเป็นต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบของวิกฤต COVID-19 ดังนั้น ประเทศที่มีฐานะการคลังที่อ่อนแออยู่แล้วอาจมีแรงจูงใจลดลงในการผลักดันการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน
ทั้งนี้ อุปสรรคต่อการลงทุนจากวิกฤต COVID-19 อาจยืดเยื้อไปอีก 1-2 ปี ก่อนที่จะคลี่คลายลงเมื่อประชากรโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินตามปกติ ซึ่งหลังจากปัญหาเฉพาะหน้าจากวิกฤต COVID-19 ผ่านพ้นไป แน่นอนว่าภาวะโลกร้อนจะกลับมาเป็นประเด็นที่นานาชาติให้ความสำคัญและเร่งแก้ปัญหา เพราะประชาชนต่างตระหนักแล้วว่าปัญหาโลกร้อนได้คืบคลานเข้ามาประชิดตัวผ่านภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตลอดจนอาจเป็นต้นตอของโรคอุบัติใหม่ ๆ ก็เป็นได้ การลงทุนในพลังงานสะอาดจึงยังมีความจำเป็นและเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

COVID-19 เปิดทางสู่การใช้พลังงานสะอาดในชีวิตประจำวันในระยะยาว

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วถึงผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้การใช้พลังงานของโลกในปี 2563 มีแนวโน้มลดลงเท่ากับการใช้พลังงานของทั้งประเทศอินเดีย อีกทั้งยังส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงมากเป็นประวัติการณ์ เผยให้เห็นการฟื้นตัวของสิ่งแวดล้อมในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง ยิ่งไปกว่านั้น วิกฤต COVID-19 ยังทำให้รูปแบบในการใช้พลังงานของสังคมเปลี่ยนไป และรูปแบบดังกล่าวอาจดำเนินต่อไปในอนาคตหลัง COVID-19 อาทิ การที่หลายบริษัทมีนโยบายสนับสนุนให้พนักงานทำงานจากที่บ้านแม้ยกเลิกมาตรการ Social Distancing แล้วก็ตาม รวมถึงนโยบายปรับรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านการประชุมออนไลน์แทนการเดินทางไปประชุมในต่างพื้นที่หรือต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้ำมันในภาคขนส่งทั้งทางบกและทางอากาศมีแนวโน้มลดลง แต่จะถูกทดแทนด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวมีส่วนเอื้อต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน เนื่องจากมีการลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้ำมันดิบซึ่งก่อให้เกิดมลพิษจากการเผาไหม้ ไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตได้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

จะเห็นได้ว่านานาประเทศยังคงต้องร่วมมือกันเพื่อหาแนวทางผลักดันการพัฒนาพลังงานสะอาดให้เพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อป้องกันวิกฤตภาวะโลกร้อนในอนาคต อย่างไรก็ตาม แม้วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อโครงการพลังงานสะอาด โดยเฉพาะในช่วงเวลา 1-2 ปีข้างหน้า แต่ขณะเดียวกันก็สร้างโอกาส ให้กับการพัฒนาพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น อีกทั้งในที่สุดแล้วโลกยังคงต้องการการลงทุนโครงการพลังงานสะอาดอย่างพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญกับนโยบายพลังงานสะอาด ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสของผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน ซึ่งผู้ประกอบการไทยเองก็ถือว่ามีศักยภาพในการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่จะแสวงหาโอกาสในการลงทุนและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนในอนาคต