มองทิศทางธุรกิจช่วง COVID-19 ในเมียนมา

วันที่ประกาศ 22 พฤษภาคม 2563
         จบลงไปแล้วสำหรับกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ EXAC Online Forum ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXAC) ของ EXIM BANK ที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออัพเดตสถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในประเทศเมียนมา ซึ่งมีการเชิญคุณกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา มาเป็นวิทยากรร่วมกับตัวแทนจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ทั้งคุณวรมินทร์ ถาวราภา หัวหน้าสำนักงานผู้แทนย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา และคุณกิตติภูมิ พงษ์สุรพิพัฒน์ ผู้จัดการส่วนวิจัยต่างประเทศ ฝ่ายวิจัยธุรกิจ เพื่อให้เห็นมุมมองเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนของเมียนมาในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เมียนมาต้องใช้มาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของเมียนมาชะงักงัน ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การค้าขายสินค้า และภาคบริการ ขณะเดียวกันยังมีส่วนทำให้พฤติกรรมการบริโภครวมถึงไลฟ์สไตล์ของชาวเมียนมาเปลี่ยนแปลงไป การดำเนินธุรกิจในเมียนมาหลังจากนี้จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งสามารถสรุปให้เห็นภาพพอสังเขปได้ ดังนี้

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 : ภาครัฐควบคุมการแพร่ระบาดไว้ได้จากการดำเนินมาตรการ Lockdown ที่เข้มข้น โดยแรงงานที่เดินทางกลับบ้านในช่วง Thingyan Festival หรือเทศกาลสงกรานต์ของเมียนมา ส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินทางกลับมาทำงานได้ เนื่องจากภาครัฐไม่อนุญาตให้เดินทางข้ามรัฐและระบบขนส่งหยุดดำเนินการตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน ขณะที่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้งต้องหยุดดำเนินการเกือบทั้งหมดตามมาตรการ Lockdown ทั้งบรรดาร้านค้า โรงแรม และสถานบริการ อาทิ โรงภาพยนตร์ ร้านทำผม และร้านนวดสปา รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว ขณะที่การเปิดให้บริการของซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมที่เข้มงวด นอกจากนี้ ประชาชนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศต้องถูกกักตัวในสถานที่ที่ภาครัฐจัดให้เป็นเวลา 21 วัน และกักตัวที่บ้านต่ออีก 7 วัน


มาตรการบรรเทาผลกระทบ : ปรับลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจแล้วถึง 3% ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน โดยธนาคารกลางเมียนมา (CBM) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว 3 ครั้ง นับตั้งแต่เมียนมาเผชิญวิกฤต COVID-19 รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันลงเหลือไม่เกิน 10% เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าอัตราดอกเบี้ยในเมียนมาที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางเมียนมาสามารถเลือกใช้วิธีปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีกในการดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างนัก เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้สินเชื่อของธนาคาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการปรับลดดอกเบี้ย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในเมียนมายังใช้เงินสดในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากไม่เชื่อมั่นต่อระบบธนาคาร ทำให้การดำเนินนโยบายทางการเงินในเมียนมายังให้ผลในวงจำกัด

ผลกระทบต่อภาคธุรกิจ : ภาคการผลิตส่วนใหญ่ค่อยๆ ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ ยกเว้นบางอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ที่อาจต้องใช้เวลากว่าจะกลับมาผลิตได้ในระดับปกติ เพราะได้รับผลกระทบตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งจาก EU ที่ชะลอคำสั่งซื้อและการที่ผู้ประกอบการต้องหาแหล่งวัตถุดิบใหม่แทนวัตถุดิบจากจีน สำหรับภาคการผลิตส่วนใหญ่ในเมียนมาคาดว่าจะทยอยกลับมาดำเนินการผลิตได้ หลังจากโรงงานผ่านการตรวจมาตรการป้องกัน COVID-19 ตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนด


โอกาสธุรกิจในช่วงวิกฤต : ธุรกิจ Delivery มาแรงรองรับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ วิกฤต COVID-19 ถือเป็นตัวเร่งในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าสู่ระบบออนไลน์ของผู้บริโภคทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในเมียนมา โดยในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจ Delivery ในเมียนมาเกิดขึ้นมากมายหลายรูปแบบ โดยเฉพาะธุรกิจ Food Delivery ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในช่วงวิกฤต COVID-19 สำหรับธุรกิจ Food Delivery ในเมียนมามีผู้เล่นหลัก 5 ราย ได้แก่ Yangon Door2Door, Grab Food, Panda Food, Food2u และ Hi-So Mall ขณะที่ธุรกิจ Delivery สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ หลังจากชาวเมียนมาเริ่มสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึง Facebook มากขึ้น ขณะเดียวกัน ร้านค้าปลีก/ค้าส่งเองก็เริ่มหันมาให้บริการ Delivery ยกตัวอย่างเช่นห้าง Makro ที่เริ่มให้สั่งสินค้าออนไลน์ผ่าน Facebook และมีการจัดส่งสินค้าด้วยรถขนส่งของบริษัท อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ Delivery ในเมืองย่างกุ้งยังมีข้อจำกัด เนื่องจากรัฐบาลไม่อนุญาตให้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในเมืองย่างกุ้ง ทำให้การจัดส่งสินค้าประเภทอาหารต้องใช้จักรยานเป็นพาหนะ ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า ประกอบกับการใช้จักรยานไม่สามารถบรรทุกสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากได้ ทำให้ธุรกิจ Delivery บางรายมองหาทางเลือกในการจัดส่งสินค้าด้วยรถขนาดเล็กประเภทตุ๊กตุ๊ก ที่สามารถขับขี่เข้าถึงตรอกซอกซอยในเมืองย่างกุ้งได้


การคว้าโอกาสของผู้ประกอบการไทย : เร่งมองหาช่องทางการขายออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุค New Normal ผู้ประกอบการที่สนใจส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในเมียนมาอาจใช้กลยุทธ์ในการทำการตลาดผ่านการโฆษณาสินค้าใน Facebook ซึ่งถือเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายน้อย และคาดว่าจะเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวเมียนมาได้สะดวกที่สุดในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ ผู้ประกอบการต้องมีช่องทางที่จะเข้าถึง Online Community ของชาวเมียนมาให้ได้ ซึ่งทางศูนย์ธุรกิจ Myanmar Thai Chamber of Commerce and Industry (MTCCI) ภายใต้การดูแลของสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ได้จัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวเมียนมาได้ ซึ่งถือเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำธุรกิจค้าขายในเมียนมาประสบความสำเร็จได้