มองทิศทางธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 ในเวียดนาม

วันที่ประกาศ 09 กันยายน 2563
กิจกรรมสัมมนาออนไลน์ EXAC Online Forum ได้จัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อให้ผู้ประกอบการทราบถึงสถานการณ์และโอกาสทางธุรกิจในประเทศต่างๆ ซึ่งล่าสุดศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXAC) ของ EXIM BANK จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นภายใต้หัวข้อ Xin Chao คลายล็อกเวียดนาม เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 โดยมีการเชิญผู้แทนจากสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม และผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ในตลาดเวียดนามมาเป็นวิทยากรร่วมกับตัวแทนจาก EXIM BANK เพื่อให้มุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน รวมถึงโอกาสทางธุรกิจและโอกาสของสินค้าไทยในเวียดนามในปัจจุบัน แม้เวียดนามต้องกลับมาดำเนินมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เข้มข้นอีกครั้ง หลังพบการแพร่ระบาดรอบใหม่ แต่ในภาพรวมนักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นต่อตลาดเวียดนามด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพของรัฐบาลในการรับมือกับการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดีในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและความพร้อมของประเทศที่เต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งสามารถสรุปประเด็นสำคัญจากกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ได้ ดังนี้
 
  • แม้เวียดนามเผชิญการแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ แต่เวียดนามยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็มีเสถียรภาพ สะท้อนได้จากค่าเงินด่องเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงไม่เกิน 1.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2-3% นอกจากนี้ เวียดนามยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมถึงเงินส่งกลับจากต่างประเทศที่ขยายตัว ดังนั้น แม้เศรษฐกิจเวียดนามปี 2563 จะชะลอการขยายตัวจากผลกระทบของ COVID-19 แต่ยังเติบโตโดดเด่นที่สุดในอาเซียน และเป็นที่คาดว่าหลัง COVID-19 เศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวได้เร็วในลักษณะ V-Shape
 
  • เวียดนามเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ดังนี้ 1) การเมืองมีเสถียรภาพ ทำให้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลมีความต่อเนื่อง ประกอบกับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่ชัดเจน ยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ 2) ตลาดมีขนาดใหญ่และกำลังซื้อของประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้วยจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคน มากเป็นอันดับ 15 ของโลก อีกทั้งผู้บริโภคระดับกลาง ซึ่งมีจำนวนราว 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ยังมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำ 3) แรงงานมีจำนวนมาก เพียงพอรองรับการเติบโตของภาคธุรกิจ เนื่องจากราว 70% ของประชากรทั้งหมดอยู่ในวัยแรงงาน ขณะที่ประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปีมีเพียง 5% ทำให้เวียดนามยังมีเวลาอีกอย่างน้อย 20-30 ปี จึงจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 4) ต้นทุนการผลิตต่ำ โดยเฉพาะต้นทุนค่าจ้างแรงงานของเวียดนามที่ต่ำกว่าจีนและไทย 5) การมีข้อตกลงการค้าเสรีถึง 14 ฉบับ โดยเฉพาะข้อตกลงสำคัญอย่าง Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) และ EU-Vietnam FTA (EVFTA) ทำให้เวียดนามมีแต้มต่อในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งรายอื่น และถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าว และ 6) โครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเวียดนามถือเป็นประเทศที่มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสูงที่สุดในอาเซียน ทั้งหมดนี้ล้วนช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้หลั่งไหลเข้ามาในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง
 
  • สินค้าไทยยังมีโอกาสขยายตลาดในเวียดนามแต่ผู้ประกอบการต้องเข้าใจตลาดและทำการตลาดอย่างจริงจัง ผู้บริโภคเวียดนามมีมุมมองที่ดีต่อสินค้าไทย เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพดีและราคาจับต้องได้ อย่างไรก็ตาม การทำให้สินค้าไทยติดตลาดเวียดนาม ผู้ประกอบการต้องทำการตลาดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งมีข้อสังเกตว่าแม้จะเป็นสินค้าแบรนด์ใหญ่ของไทยที่นำเข้าไปจำหน่ายในเวียดนาม หากไม่มีการประชาสัมพันธ์หรือการส่งเสริมการขาย ก็ยังเป็นการยากที่สินค้านั้นจะติดตลาดเวียดนาม ขณะที่สินค้าที่มีการทำการตลาดอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการออกงานแสดงสินค้าและจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง มักมีแนวโน้มติดตลาดได้เร็วกว่าแม้เป็นสินค้าแบรนด์ระดับกลางถึงเล็ก นอกจากนี้ หากเป็นสินค้าประเภทอาหาร อาจต้องมีการปรับรสชาติให้ถูกปากชาวเวียดนาม ซึ่งแตกต่างจากรสชาติอาหารของชาวไทย ประกอบกับชาวเวียดนามในแต่ละภูมิภาคยังชอบรสชาติอาหารที่ไม่เหมือนกัน โดยชาวเวียดนามทางภาคใต้จะชอบอาหารที่มีรสจัดจ้าน มีความเค็มหวานที่ชัดเจน ขณะที่ชาวเวียดนามทางภาคเหนือจะชอบรสชาติอาหารที่อ่อนกว่า ทำให้สินค้าอาหารบางแบรนด์มีการปรับปรุงรสชาติเพื่อให้เหมาะกับแต่ละภูมิภาค


นอกจากการบุกไปทำตลาดในเวียดนามแล้ว การทำตลาดในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในไทยเองก็เป็น1 ล้านคน ซึ่งเกือบทั้งหมดนิยมไปเลือกซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าย่านราชประสงค์ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะนำสินค้าไปจำหน่ายในช่องทางดังกล่าว โดยอาจมีการจ้างพนักงานที่สามารถพูดสื่อสารภาษาเวียดนามได้มาประชาสัมพันธ์สินค้าในจุดที่วางจำหน่าย เพื่อเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า และเป็นโอกาสในการขยายตลาดไปในเวียดนามในระยะถัดไป
  • ตลาดอีคอมเมิร์ซเป็นอีกช่องทางในการส่งสินค้าไทยไปจำหน่ายในเวียดนาม ตลาดอีคอมเมิร์ซเวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพและน่าจับตามองมากที่สุดในอาเซียน เนื่องจากเป็นตลาดที่ขยายตัวแบบก้าวกระโดดมาตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 และยังได้อานิสงส์จากการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ประเทศ ซึ่งปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซเวียดนามมีสัดส่วนราว 2-3% ของมูลค่าค้าปลีกทั้งหมดของประเทศ และคาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 10% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายผ่านช่องทางตลาดอีคอมเมิร์ซในเวียดนาม จำเป็นต้องหา Partner หรือ Distributor ที่แข็งแกร่งและไว้ใจได้ เพื่อช่วยกระจายสินค้าในเวียดนาม หรือผู้ประกอบการอาจเข้ามาลงทุนเปิดบริษัท  Trading ในเวียดนามด้วยตนเอง เนื่องจากเวียดนามอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทำธุรกิจ Trading ได้ 100% ซึ่งเมื่อจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้ว ผู้ประกอบการก็สามารถนำสินค้าเข้ามาสต็อกไว้ในเวียดนาม ก่อนที่จะจำหน่ายผ่าน Platform ในตลาดอีคอมเมิร์ซทั้ง E-marketplace และ Social Media ซึ่งปัจจุบันการจำหน่ายผ่านช่องทาง Social Media อย่าง Facebook Instagram และ Zalo เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ต้องการมีช่องทางการขายเป็นของตนเอง
 
  • การลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนามยังมีความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาค่าเช่าที่อยู่ในระดับสูง อย่างเช่นกรณีค่าเช่าอาคารพาณิชย์ชั้นเดียวขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 15 เมตร บนถนน Nguyen Hue ซึ่งเป็นถนนสายธุรกิจที่สำคัญในนครโฮจิมินห์ สูงถึงราว 4-5 แสนบาทต่อเดือน ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ประเภทร้านอาหารและเครื่องดื่มต้องประสบภาวะขาดทุนและปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก ส่วนแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อก็ต้องเผชิญปัญหาด้านค่าจ้างแรงงาน ซึ่งต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีก 30% สำหรับการจ้างงานหลังช่วงเวลา 22.00 น. ทำให้การดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนามถือว่ามีความท้าทายมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีแฟรนไชส์ของไทยรุกเข้าไปในตลาดเวียดนามบ้างแล้ว อาทิ MK Restaurant, Swensen’s, The Pizza Company และ Greyhound Café ซึ่งล่าสุด Café Amazon เตรียมเปิดสาขาแรกในนครโฮจิมินห์ ทั้งนี้ ประเภทแฟรนไชส์ที่คาดว่ายังมีโอกาสในตลาดเวียดนาม คือ ร้านขนมและเบเกอรี่ เนื่องจากชาวเวียดนามนิยมรับประทานของหวานหลังมื้ออาหารหลักเสมอ ขณะที่ร้านขนมหรือร้านเบเกอรี่ยังมีให้เลือกน้อย โดยเฉพาะร้านที่มีรสชาติดีอย่างในประเทศไทย ทำให้ตลาดเวียดนามยังมีความต้องการแฟรนไชส์ดังกล่าวในระดับสูง และถือว่าตลาดยังมีคู่แข่งน้อยราย


สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนในเวียดนามซึ่งเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยศักยภาพ ทางสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ได้ริเริ่มโครงการ Mentorship Program หรือโครงการพี่จูงน้องมาลงทุนในเวียดนาม ซึ่งจะเป็นการจับคู่กันระหว่าง Mentor ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทยที่ประสบความสำเร็จในเวียดนาม และ Mentee ซึ่งเป็นผู้ประกอบการใหม่ที่ต้องการเข้าไปลงทุนในเวียดนาม โดย Mentor จะให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ รวมถึงแบ่งปันเคล็ดลับต่างๆ ในการทำธุรกิจ จนกว่า Mentee จะสามารถทำธุรกิจในเวียดนามได้จนประสบความสำเร็จ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดของโครงการดังกล่าวได้ที่สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม หรือติดต่อผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXAC) ของ EXIM BANK ซึ่งจะช่วยเป็นตัวกลางสื่อสารและประสานงานให้กับผู้ประกอบการต่อไป

ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย