มองทิศทางธุรกิจ หลัง COVID-19 ใน สปป.ลาว

วันที่ประกาศ 26 มิถุนายน 2563
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXAC) ของ EXIM BANK ได้จัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ EXAC Online Forum ผ่านช่องทาง Facebook Live ภายใต้หัวข้อ Sabaidee มีเรื่องเล่าจาก สปป.ลาว เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนใน สปป.ลาว ท่ามกลางสถานการณ์
การแพร่ระบาดของ COVID-19  โดยได้รับเกียรติจากคุณวราวุธ มีสายญาติ นายกสมาคมนักธุรกิจไทยใน
สปป.ลาว มาเป็นวิทยากรร่วมกับตัวแทนจาก EXIM BANK ทั้งคุณวีรนุช ธรรมศักดิ์ หัวหน้าสำนักงานผู้แทนเวียงจันทน์ ประเทศ สปป.ลาว และคุณกิตติภูมิ พงษ์สุรพิพัฒน์ ผู้จัดการส่วนวิจัยต่างประเทศ ฝ่ายวิจัยธุรกิจ
ซึ่งวิทยากรทั้งสามท่านได้เจาะลึกถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของ สปป.ลาว ในปัจจุบัน และให้มุมมองเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ รวมถึงเทคนิคต่างๆ ในการทำธุรกิจใน สปป.ลาว ซึ่งสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้
  • การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซ้ำเติมเศรษฐกิจ สปป.ลาว ที่เปราะบาง จากเหตุอุทกภัยครั้งรุนแรงเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงอย่างมาก รวมถึงปัญหาหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลต้องดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังเพื่อรักษาระดับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ดังนั้น วิกฤต COVID-19 จึงเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน สปป.ลาว ต้องหยุดชะงักลงจากมาตรการ Lockdown ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวซบเซาลงอย่างมาก ซึ่งในนครหลวงเวียงจันทน์และหลวงพระบางมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมากกว่า 5,000 แห่ง ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ส่วนการปิดด่านประเพณีและด่านท้องถิ่นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลให้การขนส่งสินค้าบางส่วนไม่สามารถทำได้ตามปกติ จึงทำให้ค่าบริการขนส่งปรับสูงขึ้นและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศปรับสูงขึ้นตาม
  • ธุรกิจ Delivery เติบโตตามกระแสการซื้อสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงที่ผ่านมาชาวลาวหันมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น โดยจะซื้อสินค้าผ่านผู้ให้บริการรับซื้อสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งผู้ให้บริการดังกล่าวจะทำการสั่งซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อาทิ Lazada, Shopee และ JD.com ในไทย และทำการจัดส่งสินค้าไปให้ผู้ซื้อใน สปป.ลาว ซึ่งบริการดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในนครหลวงเวียงจันทน์ และผลักดันให้ธุรกิจ Delivery เติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต COVID-19 เนื่องจากการปิดด่านชายแดน ทำให้ชาวลาวไม่สามารถข้ามมาเลือกซื้อสินค้าที่ฝั่งไทยได้เหมือนเคย นอกจากนี้ ยังเกิดธุรกิจ Delivery รูปแบบใหม่ใน สปป.ลาว อาทิ แอปพลิเคชันใหม่อย่าง LOCA GRO ที่รับซื้อสินค้าประเภท Grocery และของใช้ในครัวเรือนจากร้านค้าปลีกที่ได้รับความนิยมในนครหลวงเวียงจันทน์ และทำการจัดส่งให้ถึงบ้าน ขณะที่ธุรกิจ Food Delivery ก็ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงวิกฤต COVID-19 ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลายราย อาทิ Food Panda, GoTeddy, M Food Delivery และ Chomp-a
  • โอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจหลังวิกฤต COVID-19 นอกเหนือจากการขยายช่องทางการขายออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุค New Normal ที่หันมาซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้นแล้ว สปป.ลาว ยังมีโอกาสทางธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในระยะข้างหน้า อาทิ ธุรกิจด้านการศึกษา เนื่องจากปัจจุบันชาวลาวให้ความสำคัญกับการศึกษามากขึ้นและนิยมส่งบุตรหลานเรียนพิเศษเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ ภาษาต่างประเทศ และดนตรี รวมถึงกีฬา ขณะที่โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ในนครหลวงเวียงจันทน์ ยังสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของผู้ประกอบการที่อยู่ใน Supply Chain ของธุรกิจโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ ธุรกิจเกษตรแปรรูปยังเป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากชาวลาวยังขาดทักษะในการผลิตตามมาตรฐานสากล ขณะที่การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรยังทำได้เพียงขั้นพื้นฐานเท่านั้น
ทั้งนี้ นอกจากเข้าใจแนวโน้มธุรกิจหลังวิกฤต COVID-19 แล้ว ผู้ประกอบการควรรู้ถึงกลยุทธ์การทำตลาดและการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายใน สปป.ลาว ดังนี้
  • การทำตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค สปป.ลาว เป็นตลาดที่ค่อนข้างเล็ก ด้วยจำนวนประชากรเพียง 7.2 ล้านคน เมื่อประกอบกับพฤติกรรมไม่กลัวการลองสินค้าใหม่ๆ ทำให้สินค้าที่นำเข้าไปจำหน่ายใน สปป.ลาว อาจได้รับความนิยมแค่ในช่วงแรก เนื่องจากเมื่อมีสินค้าที่ใหม่กว่าเข้าสู่ตลาด ชาวลาวก็มักเปลี่ยนไปทดลองสินค้าที่ใหม่กว่าแทน ทำให้สินค้าเดิมได้รับความนิยมน้อยลง นอกจากนี้ ชาวลาวยังมีกำลังซื้อที่ไม่สูงมาก จึงค่อนข้างอ่อนไหวต่อราคาสินค้าและมักเลือกซื้อสินค้าโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าเป็นหลัก ดังนั้น สินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายใน สปป.ลาว โดยเฉพาะในนครหลวงเวียงจันทน์ ควรมีราคาใกล้เคียงกับราคาที่จำหน่ายในฝั่งไทย เนื่องจากชาวลาวจะข้ามมาซื้อที่ฝั่งไทยแทนหากสินค้าในไทยมีราคาถูกกว่า ซึ่งการเดินทางจากนครหลวงเวียงจันทน์มายังจังหวัดหนองคายใช้เวลาเพียง 40 นาที สำหรับการทำการตลาดใน สปป.ลาว ผู้ประกอบการอาจใช้วิธีโฆษณาสินค้าบน Facebook ซึ่งเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงชาวลาวได้เป็นอย่างดี รวมถึงใช้ Influencer ที่เป็นนักร้องหรือดารานักแสดงชาวไทยในการโปรโมทสินค้า เนื่องจากเป็นที่รู้จักและชื่นชอบผ่านอิทธิพลจากสื่อโซเชียลและรายการโทรทัศน์ของไทยซึ่งชาวลาวสามารถติดตามได้เกือบทั้งหมด
  • การนำเข้าสินค้ามาจำหน่ายใน สปป.ลาว ผู้ประกอบการสามารถนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายใน สปป.ลาว ได้โดยการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทค้าส่ง/ค้าปลีกเพื่อนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายเอง หรือใช้ตัวแทนจำหน่ายดำเนินการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าให้แทน อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งบริษัทค้าส่ง/ค้าปลีกที่เป็นบริษัทต่างชาติใน สปป.ลาว จะต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำถึง 4 พันล้านกีบ หรือราว 70  ล้านบาท ทำให้การใช้ตัวแทนจำหน่ายเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากกว่า โดยสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรดำเนินการก่อนเป็นลำดับแรกในการทำการค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายใน สปป.ลาว คือ การร่างสัญญาตัวแทนจำหน่ายให้ชัดเจนและนำไปจดทะเบียนศาล เพื่อให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย รวมทั้งเพื่อป้องกันข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ในระยะแรก ผู้ประกอบการอาจส่งพนักงานมาดำเนินการเรื่องการทำประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักก่อน เนื่องจากตัวแทนจำหน่ายอาจรู้จักสินค้าได้ไม่ดีเท่ากับตัวผู้ประกอบการเอง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการที่ยังไม่มั่นใจในตลาด สปป.ลาว อาจทดลองจำหน่ายสินค้าตามแนวชายแดนก่อน และเมื่อสินค้าเริ่มติดตลาดจึงค่อยนำเข้ามาจำหน่ายอย่างเป็นทางการ 

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถติดตามกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ EXAC Online Forum ผ่านช่องทาง Facebook Live : EXAC by EXIM BANK ซึ่งจะยังมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาเจาะลึกสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงทิศทางธุรกิจที่น่าสนใจ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง