มองทิศทางธุรกิจ ช่วง COVID-19 ในกัมพูชา

วันที่ประกาศ 12 มิถุนายน 2563
         ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีกับกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ EXAC Online Forum ที่จัดผ่านช่องทาง Facebook Live : EXAC by EXIM BANK ซึ่งการสัมมนาออนไลน์เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 จัดขึ้นในหัวข้อ Susadei ที่นี่กัมพูชา เพื่อเจาะลึกสถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในกัมพูชาท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่คลุกคลีอยู่ในกัมพูชามานานหลายสิบปีอย่างคุณจีรนันท์ วงมงคล ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา รวมทั้งตัวแทนจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย คือ คุณชูพล สุขแสนเจริญ หัวหน้าสำนักงานผู้แทนพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และคุณกิตติภูมิ พงษ์สุรพิพัฒน์ ผู้จัดการส่วนวิจัยต่างประเทศ ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ทั้งนี้ วิทยากรทั้งสามท่านได้ให้มุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและทิศทางธุรกิจในกัมพูชาที่น่าสนใจในหลายมิติ โดยเฉพาะโอกาสทางธุรกิจท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
  • ชาวกัมพูชามีความเชื่อมั่นมากขึ้นหลังรัฐบาลจำกัดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ค่อนข้างดี โดยกัมพูชามีผู้ติดเชื้อรวม 125 ราย ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทำให้ชาวกัมพูชากลับมามีความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น สังเกตได้จากการจราจรในกรุงพนมเปญที่เริ่มหนาแน่นจนถึงติดขัดในบางพื้นที่ ทั้งนี้ สถานการณ์แพร่ระบาดที่คลี่คลายลงเป็นผลจากมาตรการของรัฐบาล โดยเฉพาะข้อกำหนดและการตรวจสอบที่เข้มงวดในการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ และการห้ามเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวกัมพูชานิยมเดินทางกลับภูมิลำเนา รวมถึงการได้รับความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากรัฐบาลจีน
  • ภาคธุรกิจสำคัญของกัมพูชาได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิ
  • ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ซบเซาลงมากจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงเกือบ 40% ในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลายและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับจีน คาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนทยอยกลับมาท่องเที่ยวในกัมพูชาในไม่ช้า
  • ธุรกิจสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้รับผลกระทบจากความต้องการซื้อในตลาดสำคัญอย่าง EU และสหรัฐฯ ที่ลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ทำให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวชะลอตัวมาก และช้ำเติมผลกระทบจากการที่ EU ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (EBA) สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปบางรายการของกัมพูชาไปก่อนหน้านี้
        ทั้งนี้ การชะลอตัวของภาคธุรกิจสำคัญส่งผลให้แรงงานส่วนใหญ่ถูกลดจำนวนชั่วโมงทำงาน รวมถึงบางส่วนถูกเลิกจ้าง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้บริโภคในกลุ่มแรงงานระมัดระวังมากขึ้นในการใช้จ่ายและลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการ  Lockdown ของกัมพูชาที่ไม่เข้มข้นมาก โดยยังคงอนุญาตให้ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และตลาดสด เปิดให้บริการได้ตามปกติ จึงมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจได้ระดับหนึ่ง
  • ธุรกิจแฟรน์ไชส์ยังมีแนวโน้มค่อนข้างดี เนื่องจากสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคกัมพูชายุคใหม่ที่ชื่นชอบแบรนด์ต่างประเทศ รวมถึงแบรนด์ไทยที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ขณะที่นักธุรกิจในกัมพูชาก็นิยมซื้อแบรนด์แฟรนไชส์จากต่างประเทศมาทำตลาดในกัมพูชา เนื่องจากมองว่าไม่ต้องเสียเวลาในการสร้างแบรนด์ และมีระบบการจัดการที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารและเครื่องดื่มมีการแข่งขันค่อนข้างสูงจากแบรนด์ต่างชาติที่ขยายธุรกิจเข้ามาในกัมพูชา การลงทุนแฟรนไชส์ประเภทดังกล่าวจำเป็นต้องศึกษาให้ละเอียดและมีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกในพื้นที่ทำเลที่จะเปิดร้าน  
  • วิกฤต COVID-19 เร่งโอกาสของธุรกิจดิจิทัล โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ ที่ผ่านมาผู้บริโภคกัมพูชาคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าออนไลน์อยู่บ้างแล้ว และมีสินค้าไทยหลายประเภทที่นิยมซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ สินค้ากลุ่ม Beauty & Wellness เครื่องใช้ในบ้านและเครื่องครัว เสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่น รวมถึงอาหารแปรรูป ขณะที่วิกฤต COVID-19 ถือเป็นตัวเร่งให้ชาวกัมพูชาหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเช่นเดียวกับผู้บริโภคในประเทศอื่นๆ โดยผู้บริโภคกัมพูชานิยมหาข้อมูลและซื้อสินค้าผ่าน Facebook ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกัมพูชา จนทำให้ E-Marketplace อื่นๆ ที่ได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็น Glad Market, Mall855 และ ecamshopping.com ล้วนเปิดหน้าร้านบน Facebook นอกเหนือจากการพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของตนเอง อย่างไรก็ตาม การลงทุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซในกัมพูชายังมีข้อจำกัด เนื่องจากผู้บริโภคชาวกัมพูชานิยมชำระค่าสินค้าปลายทางและชำระด้วยเงินสด (COD) ไม่ใช้บัตรเครดิต ขณะที่การโอนเงินชำระค่าสินค้าก่อน
    มีค่าธรรมเนียมในการโอนจึงไม่ได้รับความนิยม ทั้งนี้ นอกจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังมาแรงแล้ว กระแสธุรกิจดิจิทัล อาทิ ธุรกิจการศึกษาออนไลน์ ธุรกิจบริการด้าน IT Solution การพัฒนาแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มต่างๆ ล้วนเป็นธุรกิจที่น่าสนใจในกัมพูชา เนื่องจากความต้องการของตลาดที่กำลังเติบโตตามการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของชาวกัมพูชาที่ใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้น
  • ผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับกลยุทธ์สู่ช่องทางการขายออนไลน์ เพื่อเน้นเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคกัมพูชายุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยอาจเริ่มต้นจากการประชาสัมพันธ์สินค้าและทำการตลาดออนไลน์บน Facebook เพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักในตลาดกลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการควรหา Trader หรือพันธมิตรทางธุรกิจที่มีสำนักงานอยู่ในกัมพูชา เนื่องจากชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ไม่นิยมรอสินค้าข้ามวัน จึงควรมีสต็อกสินค้าบางส่วนเพื่อส่งมอบให้ทัน นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวกัมพูชายังนิยมโทรศัพท์มาสอบถามรายละเอียดสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อและยืนยันคำสั่งซื้อทางโทรศัพท์ ทำให้ผู้ประกอบการไทยอาจต้องมีเบอร์โทรศัพท์ที่จดทะเบียนในกัมพูชาและมีทีมงานสำหรับดูแลการให้ข้อมูลสินค้าและตอบคำถามลูกค้า ซึ่งการมี Trader หรือพันธมิตรในกัมพูชาจะช่วยตอบโจทย์ดังกล่าวได้โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ยังไม่พร้อมในการจัดตั้งสำนักงานในกัมพูชา ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังมีทางเลือกในการขายสินค้าออนไลน์ผ่านโครงการสนับสนุนของ Thaitrade.com ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงพาณิชย์ไทยที่กำลังรุกตลาดประเทศเป้าหมายอย่างกัมพูชา จึงนับเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำธุรกิจค้าขายออนไลน์ในกัมพูชามีโอกาสประสบความสำเร็จ
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านสามารถรับชม EXAC Online Forum ย้อนหลังได้ในทาง Facebook ของ EXAC by EXIM Bank ซึ่งนอกจากสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังมีความรู้อื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอีกมากมาย ซึ่ง EXIM Bank ขอเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมเสริมความแข็งแกร่งให้กับท่านผู้ประกอบการในการสู้กับวิกฤตในปัจจุบัน