นโยบายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นโยบายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

 
          ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ยึดมั่นการเป็นธนาคารที่รับผิดชอบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Responsible Banking) จึงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับ ธสน. มาเป็นทิศทาง การดำเนินงาน พร้อมเสริมสร้างโครงสร้างและระบบบริหารจัดการเพื่อพัฒนาสู่การเป็นธนาคารที่ยั่งยืน โดยอ้างอิงตามกรอบการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environment, Social and Governance Framework : ESG Framework) และกรอบแนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking Framework) ของเครือข่าย Sustainable Banking Network (SBN) ที่มุ่งประยุกต์ใช้การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศได้อย่างสมดุลและยั่งยืนตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง ธสน.

กรอบนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ ธสน. มีรายละเอียดดังนี้
  • ค่านิยมเพื่อการพัฒนา ธสน. สู่การเป็นธนาคารที่ยั่งยืน

    1
              คณะกรรมการ ธสน. ได้นำหลักปฏิบัติ 7 หลักการ (7 Principles) ตามมาตรฐาน ISO 26000 ที่ ธสน. ยึดปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2560 มาพัฒนาต่อยอด ให้เป็น 9 ค่านิยมพื้นฐาน เพื่อพัฒนาพฤติกรรมของบุคลากรทุกระดับให้มุ่งสู่การเป็นธนาคารที่ยั่งยืน ผ่านการยกระดับการกำกับดูแล การปฏิบัติงานและให้บริการทางการเงินที่รับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนี้
     
    1. ความรับผิดชอบ (Accountability)
    2. ความโปร่งใส (Transparency)
    3. การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม (Ethical Behavior)
    4. การเคารพต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Respect for Stakeholder Interests)
    5. การเคารพต่อหลักนิติธรรม (Respect for the Rule of Law)
    6. การเคารพต่อการปฏิบัติตามแนวทางของสากล (Respect for International Norms of Behavior)
    7. การเคารพต่อสิทธิมนุษยชน (Respect for Human Rights)
    8. การกำกับและบริหารความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social and Environmental Risk Governance)
    9. การเน้นใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน (Innovation for Sustainability)
  • หลักปฏิบัติเพื่อการพัฒนา ธสน. สู่การเป็นธนาคารที่ยั่งยืน

    2
              ธสน. กำหนดหลักปฏิบัติในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประยุกต์ใช้ ESG Framework และ Sustainable Banking Framework เป็นกรอบการดำเนินงานพื้นฐาน ควบคู่กับการเพิ่มเติมแนวปฏิบัติที่ดีตามหลักการและมาตรฐานสากล เช่น Responsible Banking เป็นต้น เพื่อให้องค์กรมีแนวทางการดำเนินงานที่ครบถ้วนสมบูรณ์และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป โดยสามารถแสดงสาระสำคัญของหลักปฏิบัติที่สำคัญ ได้ดังนี้
     

    กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 1 : การบริหารจัดการการเงินและธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ

     
    หลักการ
     
              การบริหารจัดการการเงินและธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ เป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อสะท้อนการประกอบธุรกรรมทางการเงินที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ใช้บริการและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งจากการที่ ธสน. มีภารกิจในการให้สินเชื่อ การค้ำประกันสินเชื่อ และการประกันการส่งออก รวมถึงการระดมทุนจากตลาดเงินและตลาดทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อใช้ในการสนับสนุนด้านสินเชื่อแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย ในที่นี้ ธสน. จึงได้นำหลักการบริหารจัดการการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Finance) ซึ่งครอบคลุมทั้งการบริหารจัดการการเงินสีเขียว (Green Finance) และการบริหารจัดการการเงินอย่างยั่งยืนด้วยกรอบ ESG Framework มาประยุกต์ใช้ตั้งแต่การกำหนดนิยามความหมาย การเสริมสร้างแนวปฏิบัติในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รวมถึงบริหารจัดการการเงินการลงทุนของธนาคารให้รับผิดชอบและสร้างประโยชน์สูงสุดอย่างสมดุลแก่ผู้ใช้บริการและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริงต่อไป
     
    แนวปฏิบัติ
    1. การมุ่งมั่นผนวกรวมหลักการการเงินที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบธุรกรรมต่าง ๆ ของ ธสน. เพื่อสร้างประโยชน์และตอบสนองความต้องการ รวมถึงความท้าทายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างครอบคลุม
    2. การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มทุกขนาดเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ ธสน. ได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
    3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ การกำหนดดอกเบี้ยผ่อนปรน การออกแบบกลไกและมาตรการเพื่อส่งเสริมและจูงใจการให้สินเชื่อแก่โครงการที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ
    4. การบริหารจัดการสินทรัพย์ (Portfolio Management) เพื่อลงทุนในกิจการที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม
    5. การกำหนดนำแนวคิดการบริหารจัดการนวัตกรรม (Innovation Management) มาเป็นกรอบพื้นฐานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินอย่างมีความรับผิดชอบให้มีความหลากหลาย และตอบสนองต่อผู้ใช้บริการทุกกลุ่มได้อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิผล
    6. การบริหารจัดการเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลขนาดใหญ่ (Digital Technology and Big Data Management) เพื่อเสริมสร้างการบริหารการเงินการธนาคารที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
    7. การจัดกิจกรรมสร้างบรรยากาศและกระตุ้นจิตสำนึก เพื่อให้พนักงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้ใช้บริการ/ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่คุณค่าของ ธสน. เกิดการรับรู้และยินยอมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ
    8. การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาธนาคารอย่างยั่งยืน ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่
    • การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
    • การป้องกันการปล่อยมลพิษ โดยเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
    • การนำมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Eco Management) เช่น Circular Economy และ Eco Symbiosis มาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการและการปฏิบัติงานของ ธสน. ผู้ใช้บริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร
    9.การบริหารประเด็นผู้ใช้บริการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธนาคารและระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่
    • การให้บริการที่เป็นธรรม สารสนเทศที่เป็นจริงและไม่เบี่ยงเบนและการปฏิบัติตามข้อตกลงที่เป็นธรรม
    • การคุ้มครองสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้ใช้บริการ
    • การบริโภคและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
    • การบริการ การสนับสนุน และการยุติข้อร้องเรียนและข้อโต้แย้งแก่ผู้ใช้บริการ
    • การปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ
    10. การนำหลักการคำนวณผลตอบแทนเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมตามกรอบแนวคิด Social Return on Investment (SROI) มาประยุกต์ใช้เป็นกรอบในการประเมินผลสำเร็จของการบริหารจัดการการเงินที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม
    11. การทบทวนการบริหารจัดการการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ โดยตนเองอย่างสม่ำเสมอทุกปี ก่อนจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญภายนอกทำการประเมินอย่างเป็นรูปธรรมอย่างน้อยทุก 3 ปี
    12. การรายงานผลสำเร็จด้านการบริหารการเงินการธนาคารที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งของการรายงานความยั่งยืนของ ธสน.
     

    กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 2 : การสร้างคุณค่าด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล

     
    หลักการ
     
              การสร้างคุณค่าด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เป็นกรอบการพัฒนาที่สอดคล้องกับหลักการด้าน Environment, Social and Governance Framework (ESG Framework), Sustainable Banking Framework และ Principles for Responsible Banking Guidance ซึ่งทุกกรอบหลักการต่างเห็นว่า ธสน. จะเกิดความยั่งยืนได้นั้นต้องมีการบริหารจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงอย่างทั่วถึงทั้งองค์กร (Enterprise-wide Risk Management) จากกรณีดังกล่าวนี้ จึงมีความจำเป็นที่ ธสน. จะต้องกำหนดโครงสร้างผู้รับผิดชอบ พัฒนากระบวนการปฏิบัติงานและการให้บริการที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเสริมสร้างระบบการส่งเสริม ตรวจติดตามและรายงานผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งโครงสร้างและระบบงานต่าง ๆ ที่กล่าวถึงนี้ต้องมีความสอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่กำหนดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ประกอบด้วย การปฏิบัติด้านแรงงาน การบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชน การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของ ธสน. ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
      
    แนวปฏิบัติ
    1. การเสริมสร้างการประกอบธุรกิจธนาคารอย่างมีความรับผิดชอบ โดยผนวกประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงานประจำวัน ผ่านการนำกรอบแนวคิด ESG Framework, Principles for Responsible Banking Guidance และมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 มาประยุกต์ให้เกิดแนวปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้
    1.1 การปฏิบัติด้านแรงงาน เพื่อพัฒนาธนาคารอย่างยั่งยืน ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่
    • การจ้างงานและการบริหารความสัมพันธ์กับแรงงาน
    • การจัดให้แรงงานได้รับความคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความเป็นอยู่ อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
    • การจัดให้มีการเจรจาและแสดงความคิดเห็นที่เป็นอิสระ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม
    • การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่คำนึงถึงสุขภาพ ความปลอดภัย และอาชีวอนามัยภายในสถานที่ทำงาน
    • การพัฒนาพนักงานและแรงงานให้มีทักษะ และเกิดการเติบโตในสายอาชีพอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
    1.2 การบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อพัฒนาธนาคารอย่างยั่งยืน ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่
    • การกำหนดกลไกป้องกัน และชดเชยกรณีเกิดเหตุการณ์การละเมิดสิทธิของพนักงาน ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ ธสน.
    • การป้องกันและบริหารจัดการข้อร้องเรียนและความขัดแย้งด้านสิทธิมนุษยชน
    • การบริหารความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน
    • การไม่เลือกปฏิบัติในการให้บริการและการปฏิบัติงาน
    • การกำหนดให้สิทธิการเป็นพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
    • การคำนึงถึงสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
    1.3 การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน เพื่อพัฒนาธนาคารอย่างยั่งยืน ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่
    • การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาชุมชนได้อย่างสอดคล้องกับบริบทชุมชนด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม รวมถึงความสามารถพิเศษของ ธสน.
    • การมุ่งมั่นพัฒนาให้ชุมชนเกิดความยั่งยืน โดยแบ่งเป็น
    • การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การพัฒนาทักษะและการจ้างงาน การส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี การเสริมสร้างรายได้ชุมชน และการลงทุนทางสังคม
    • การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้านสังคม ได้แก่ การส่งเสริมการศึกษาและวัฒนธรรมชุมชน การเสริมสร้างสุขภาพที่ดีภายในชุมชน
    • การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม
    2. การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ตามแนวคิดด้านการพัฒนาธนาคารสู่ความยั่งยืน
    2.1 การเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
    2.2 การกำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่มีสาระสำคัญครอบคลุมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
    2.3 การพัฒนาระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่มีองค์ประกอบครบถ้วนและเป็นมาตรฐาน เพียงพอต่อการพัฒนาธนาคารสู่ความยั่งยืน
    2.4 การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในการประกอบธุรกรรมทางการเงินทุกประเภทของธนาคาร ที่ครอบคลุมอย่างน้อย ได้แก่ การกำหนดปัจจัยเสี่ยง การกำหนดกิจกรรมการควบคุม การประเมินระดับความรุนแรงและผลกระทบ การจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยเสี่ยง การกำหนดแนวทางการบริหารความเสี่ยง และการจัดการความเสี่ยงในเชิงบูรณาการ
    2.5 การจัดทำข้อตกลงและ/หรือสัญญาที่คำนึงถึงความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากผลิตภัณฑ์ บริการ และการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่าง ธสน. กับผู้ใช้บริการ คู่ค้า ผู้ส่งมอบ คู่ความร่วมมือ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ
    2.6 การประเมินผลการปฏิบัติงานบุคลากร เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุผลสำเร็จในการบริหารจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
    2.7 การจัดให้มีระบบการติดตาม และประเมินความเพียงพอและประสิทธิผลของการบริหารความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของ ธสน.
    2.8 การบริหารจัดการข้อร้องเรียนจากความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน รวมถึงการปฏิบัติงานของ ธสน.
    2.9 การประเมินและทบทวนมาตรฐานและความเพียงพอของระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ของ ธสน.
    2.10 การรายงานผลการบริหารความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของการรายงานความยั่งยืนของ ธสน.


    กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 3 : การกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อพัฒนาธนาคารอย่างยั่งยืน

     
    หลักการ
     
              การกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นหนึ่งในสามหลักการของ ESG Framework และแนวทางการพัฒนาธนาคารสู่ความยั่งยืนในระดับสากล เนื่องจาก ธสน. จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวต้องมีพื้นฐานสำคัญจากการขยายตัวอย่างมั่นคงของภาคเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของภาคสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน โดยการจะทำให้ทุกมิติอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลนั้น ธสน. ต้องปฏิบัติงานและมุ่งให้บริการทางการเงินอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดเริ่มต้นสำคัญจากการกำกับดูแลกิจการที่ดีของคณะกรรมการ ธสน. และผู้บริหารระดับสูงที่จะต้องยอมรับและนำเป้าหมายการพัฒนาอย่างสมดุลมากำหนดเป็นทิศทางการดำเนินงานระยะยาวขององค์กร การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน การกำหนดผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการปฏิบัติงานที่คำนึงถึงประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วม ระบบการติดตาม ประเมินและรายงานผล เพื่อให้การปฏิบัติงานทั่วทั้ง ธสน. เป็นระบบและมีมาตรฐานครบถ้วนสมบูรณ์ตามกรอบการพัฒนาธนาคารอย่างยั่งยืนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

    แนวปฏิบัติ
              แนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อพัฒนาธนาคารสู่ความยั่งยืน (Enabling Good Corporate Governance Environment) ประกอบด้วย

    1. การกำหนดนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ตอบสนองต่อหลักการ แนวปฏิบัติที่ดี มาตรการ และนโยบายสนับสนุนการพัฒนาความยั่งยืนของหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐทั้งภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย และองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
    2. การทบทวนปัจจัยความยั่งยืนของ ธสน. ให้สอดคล้องและครอบคลุมตามกรอบหลักการ แนวปฏิบัติที่ดี และกรอบแนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืน โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์การจัดตั้ง ธสน.
    3. การผนวกการพัฒนาความยั่งยืนสู่กระบวนการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ของ ธสน.
    4. การเสริมสร้างค่านิยม/วัฒนธรรมที่มุ่งเน้นการเติบโตที่ยั่งยืนจากการให้บริการทางการเงินที่รับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
    5. การตอบสนองความต้องการและปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
    6. การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาความยั่งยืนร่วมกับ ธสน. ได้ในเชิงบูรณาการ
    7. การประกอบกิจการที่เป็นธรรม โดยครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่
    • การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
    • การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างรับผิดชอบ
    • การเสริมสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม
    • การผนวกรวมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าของ ธสน.
    8. การเชื่อมโยงหลักปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อพัฒนาธนาคารสู่ความยั่งยืน เข้ากับระบบประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของบุคลากร ธสน.
    9. การรายงานผลการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบมาตรฐานสากล

             หลักการและแนวปฏิบัติที่ดีด้านการพัฒนาธนาคารสู่ความยั่งยืนนี้ ธสน. จะมีการทบทวนและนำเสนอคณะกรรมการ ธสน. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นประจำทุกปี ก่อนเผยแพร่ให้บุคลากรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องภายนอกถือปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นมาตรฐานต่อไป