ดอยซิลเวอร์ สืบสานเครื่องเงินน่านจากบรรพบุรุษสู่ตลาดโลก

วันที่ประกาศ 10 พฤศจิกายน 2565

Pic_CEO_Talk_1065.jpg

นับเป็นความมหัศจรรย์ที่น่าทึ่ง เมื่อเครื่องเงินของชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์อิวเมี่ยนหรือเย้า ที่มีถิ่นกำเนิดบนดอยสูง กลายเป็นสินค้าส่งออกของไทยไปตีตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ได้สำเร็จนับเป็นความสำเร็จจากจุดเริ่มต้นของครอบครัว “รุ่งรชตะวานิช” ที่นำเอาอัตลักษณ์ความสวยงามของลวดลายเครื่องเงินชนเผ่าของบรรพบุรุษมาพัฒนาเป็นสินค้าเครื่องเงินที่ทรงคุณค่าและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก คุณพิมพร รุ่งรชตะวาณิช รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดอยซิลเวอร์ แฟคตอรี่ จำกัด บอกเล่าการเดินทางอันยาวนานหลายทศวรรษจากรุ่นสู่รุ่นจนมาเป็นธุรกิจเครื่องเงิน “ดอยซิลเวอร์” ที่สร้างงานและรายได้ให้แก่ชุมชนและเยาวชนใน จ.น่าน

 

จากเครื่องประดับชาวเขาสู่เครื่องเงินมหาชน

        จุดเริ่มต้นของธุรกิจมาจากครอบครัวสามีคือ คุณสมชาย รุ่งรชตะวานิช ซึ่งเป็นชาวไทยภูเขา เป็นผู้ผลิตเครื่องเงินรายใหญ่ที่สุดในหมู่บ้านสืบทอดมาจากบรรพบุรุษจนปัจจุบันทำมา 4 ชั่วคนแล้ว โดยมีลายกระดูกงูถือเป็นลายเครื่องเงินที่ทำยากและสวยงามเป็นเอกลักษณ์ของเผ่าอิวเมี่ยน ในช่วงของทายาทรุ่นที่ 3 คือคุณพ่อของคุณสมชายได้มีโอกาสไปทำเครื่องเงินร่วมกับช่างที่ศูนย์ศิลปาชีพจิตรลดา พร้อมทั้งเคยร่วมถวายงานที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ และพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร ทำให้มีประสบการณ์ด้านการทำเครื่องเงินมากขึ้น ซึ่งคุณพ่อท่านเห็นว่าการทำเครื่องเงินเป็นชิ้นเล็ก ๆ จะทำให้ขายได้ง่าย นั่นคือจุดเริ่มต้นของธุรกิจเครื่องเงินของครอบครัว ในช่วงแรกคุณสมชายและดิฉันเริ่มต้นธุรกิจกันเพียงลำพัง ด้วยการผลิตสร้อยข้อมือจำนวน 14 เส้นไปขายที่เชียงใหม่ มีพ่อค้าคนกลางรับซื้อไปแล้วขายได้จึงมาสั่งเพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องจ้างคนงาน จนถึงวันนี้ก็ผ่านมาเกือบ 40 ปีแล้ว

        สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จมาจังหวัดน่านเมื่อปี 2552 พระองค์ท่านรับสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านให้ความช่วยเหลือธุรกิจเครื่องเงินให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดก็เริ่มพัฒนาเครื่องเงินน่าน โดยเชิญอาจารย์ต่าง ๆ มาช่วยพัฒนา คิดค้นรูปแบบ และทำการตลาด จากที่เริ่มทำเพียงไม่กี่รูปแบบปัจจุบันมีความหลากหลายตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และทำให้เครื่องเงินจังหวัดน่านเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

 

ส่งออกได้ด้วยน้ำใจของลูกค้า

        นับเป็นเรื่องบังเอิญที่เครื่องเงินของบรรพบุรุษของเราได้กลายเป็นสินค้าส่งออก วันหนึ่งมีชาวต่างชาติมาจากนิวยอร์ก สหรัฐฯ ตามหาสร้อยข้อมือลายกระดูกงู ตามหามาหลายประเทศจนมาพบที่เรา เขาเป็นดีไซเนอร์จึงออกแบบเครื่องประดับใหม่มาให้เราผลิต และเราสามารถส่งมอบสินค้าได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ได้รับคำชมว่าเป็นสร้อยลายกระดูกงูที่สวยมาก เราจึงได้เรียนรู้เรื่องการออกแบบและพัฒนาสินค้าเราไปอีกขั้นหนึ่ง ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นศักยภาพของตัวเองที่ผลิตสินค้าได้ไม่เหมือนใครและส่งออกได้ผ่านมา 12 ปีแล้วปัจจุบันสร้อยลายนี้ก็ยังขายอยู่ และเราไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จึงเกิดเป็นเอกลักษณ์ของดอยซิลเวอร์ที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้

        ในการส่งออกครั้งแรก เราได้ลูกค้าเป็นพี่เลี้ยงที่ช่วยทั้งด้านการดีไซน์และการทำตลาด โดยซื้อเครื่องมือที่ทันสมัยในการผลิตเครื่องประดับให้ด้วย แม้กระทั่งการดูเพชร ดูพลอย ลูกค้าก็ติดต่อให้ทั้งหมด ระยะแรกเรามุ่งเน้นส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และอิตาลี ต่อมาพยายามพัฒนาตัวเอง และทำการตลาดแบบค่อยเป็นค่อยไป สิ่งที่ยากสำหรับธุรกิจส่งออกคือ คุณภาพสินค้าและการส่งมอบได้ตรงเวลา ช่วงที่ส่งออกใหม่ ๆ เรากลัวไม่มีออเดอร์ เมื่อมีออเดอร์เรากลัวจะผลิตไม่ทัน ตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมาเราจึงสร้างช่างฝีมือที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าเราพร้อมเป็นผู้ส่งออก จนถึงวันนี้สินค้าทุกชิ้นยังไม่เคยถูกตีคืน และที่สำคัญคู่ค้าสามารถนำไปขายได้ราคา วันนี้เรายิ่งเกิดความเชื่อมั่นและพร้อมขยายตลาดส่งออกมากยิ่งขึ้น

 

ผลกระทบจาก COVID-19

         ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 สถานการณ์หนักหนาดูมืดมนไปหมดสำหรับผู้ประกอบการที่มีพนักงานลูกจ้างจำนวนมาก จากที่เคยมีนักท่องเที่ยวมาที่ร้านตลอดเวลาก็แทบไม่มีเลย การส่งออกก็ทำไม่ได้ทุกอย่างหยุดนิ่ง สิ่งเดียวที่ทำได้ตอนนั้นคือ ทำใจ ปล่อยวาง โชคดีที่ยังมีลูกค้าเดิมที่เคยซื้อของแล้วยังสั่งออเดอร์อยู่ทำให้ไม่ต้องเลิกจ้างพนักงาน ช่างและพนักงานอยู่ในพื้นที่ไม่ไกลจากโรงงานมาก ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา สามารถปลูกผัก เก็บพืชสวนครัวริมรั้วกินได้ ทำให้ลดแรงกดดันของเราได้มาก สิ่งที่ทำให้ภูมิใจคือ ชาวบ้านที่มาเป็นช่างฝีมือทำเครื่องเงินที่นี่ ไม่ต้องเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด สามารถอยู่กับครอบครัวได้อย่างมีความสุข

 

การสนับสนุนของ EXIM BANK

        หลังจากพัฒนาถึงจุดหนึ่งแล้ว เรานำสินค้าของเราไปอยู่ในงาน OTOP ซึ่งมีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มาเลือกสินค้าไปลงแคตตาล็อกเพื่อจำหน่ายบนเครื่องบิน กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงแนะนำว่าเราจำเป็นต้องพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ต่อมาเราได้รู้จักกับ EXIM BANK ซึ่งเชิญให้เราไปเข้าร่วมอบรมและมอบ Package ประกันการส่งออก EXIM For Small Biz ให้สำหรับใช้ในการส่งออกเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ต่อมาเมื่อได้รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศก็สามารถติดต่อให้ EXIM BANK ดูแล ซึ่งได้รับการดูแลอย่างดีมาก ปกติเราจะใช้ธนาคารพาณิชย์ในทำการทำธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งบางรายการอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ EXIM BANK เป็นธนาคารของรัฐ ดอกเบี้ยไม่สูง ถ้ามองในมุมผู้ประกอบการถือว่าโอเคมาก และนอกจากสินเชื่อแล้ว EXIM BANK ยังช่วยส่งเสริมและพัฒนาเพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้พร้อมที่จะส่งออกเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

ฝากถึงผู้ประกอบการที่จะเริ่มต้นส่งออก

        สำหรับผู้ที่สนใจเรียนวิชาช่างเงินหรืออยากจะเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการเครื่องเงิน ต้องเริ่มจากความตั้งใจและพร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง ต้องเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ที่อยากจะทำ อยากจะขายอะไร ต้องเรียนรู้ให้อย่างถ่องแท้ เพื่อจะได้มีคำตอบให้กับทุกคำถามของลูกค้า ที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าได้ สุดท้ายนี้อยากให้กำลังใจผู้ประกอบการทุกท่าน ต้องปรับตัวและพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ดูจากดอยซิลเวอร์เราเริ่มต้นส่งออกได้เพราะเราเรียนรู้ จนวันนี้เรามีพร้อมทุกอย่างเราพร้อมจะต่อสู้กับทุกอุปสรรค และเชื่อมั่นว่าเราจะผ่านปัญหาทุกอย่างไปได้

 

คืนกำไรให้สังคม

        ปัจจุบันเราสามารถสร้างการยอมรับให้กับคนทั่วไปได้แล้วว่า เครื่องเงินของ จ.น่าน มีคุณภาพดีและสวยงาม ให้ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชนได้มาก จากที่เคยมีช่างทำเครื่องประดับเงินไม่กี่คน ปัจจุบันเพิ่มเป็นร้อยกว่าคนซึ่งเป็นคนใน อ.ปัวและใกล้เคียง ในจำนวนนั้นมีช่างฝีมือประมาณ 40-50 คนที่พร้อมถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจ นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง (ในพระบรมมหาราชวัง) สถาบันวิชาชีพช่างฝีมือ วิทยาลัยอาชีวะช่างฝีมือทำเงินฝึกวิชาชีพเยาวชนเหล่านี้ให้มาเรียนรู้และอยู่ประจำที่โรงงาน ปีละ 10 คน ค่าใช้จ่ายทั้งหมดทางโรงงานดูแลให้ พวกเขาจะได้รับโอกาสให้ฝึกงานเป็นช่างทำเครื่องเงินจริง ๆ ตั้งแต่การอบรม การฝึกหลอม การยืด จนถึงการตีเงิน เมื่อจบแล้ว พวกเขาสามารถเลือกทำงานที่นี่ต่อหรือไม่ก็ได้ ไม่มีพันธะผูกพันใด ๆ ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการขอบคุณและตอบแทนสังคม สร้างช่างฝีมือเครื่องเงินให้กับแผ่นดินไทยและเป็นที่ต้องการในตลาดโลกมากยิ่ง ๆ ขึ้นไป