เอส.ไอ.พี. สยามอินเตอร์ แปซิฟิค ผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวสัตว์เลี้ยงระดับโลก

วันที่ประกาศ 03 กรกฎาคม 2568

การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมในโลกยุคใหม่ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “Pet Humanization” หรือ “Pet Parent” ขึ้นทั่วโลก คนเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว พร้อมทุ่มเททั้งเงิน เวลา ดูแลเอาใจใส่ในสุขภาพและความเป็นอยู่อย่างเต็มที่ ทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงกลายเป็นสิ่งจำเป็นและเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หนึ่งในผู้ประกอบการไทยที่มองเห็นเทรนด์นี้ได้อย่างเฉียบคมและต่อยอดเป็นธุรกิจส่งออกระดับโลกได้คือ บริษัท เอส.ไอ.พี. สยามอินเตอร์ แปซิฟิค จำกัด ผู้นำด้านการผลิตขนมขบเคี้ยวสัตว์เลี้ยงของไทยที่ปัจจุบันมีการส่งออกสินค้าไปยังตลาดทั่วโลก ทั้งในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป ไต้หวัน เกาหลี และสิงคโปร์ 

เส้นทางจากธุรกิจครอบครัว...สู่เวทีโลก
คุณพิพัฒน์ เลิศวิวัฒน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส.ไอ.พี. สยามอินเตอร์ แปซิฟิค จำกัด กล่าวว่า ก่อนจะทำธุรกิจผลิตและส่งออกขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยง (Pet Snack) ทางครอบครัวได้เริ่มจากการทำธุรกิจนำเข้าและส่งออกสินค้าทั่วไป หลังจากนั้นคุณพ่อคือ คุณคงประเสริฐ เลิศวิวัฒน์กุล ได้ร่วมกับพันธมิตรต่างชาติจัดตั้งโรงงานผลิตถุงมืออุตสาหกรรม และต่อยอดเข้าสู่ธุรกิจขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงในปี 2528 โดยเริ่มจากผลิตภัณฑ์ Dog Chew นำเอาหนังสัตว์มาผูกเป็นรูปทรงกระดูกให้สุนัขแทะเล่น แต่เนื่องจากในช่วงนั้นคนไทยยังไม่นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย จึงได้เน้นการส่งออกโดยเริ่มจากตลาดสหรัฐฯ ต่อมาจึงขยายตลาดไปประเทศในยุโรปและญี่ปุ่น และมีการขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2550 บริษัทได้คิดค้นและพัฒนาสินค้าใหม่ โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายขึ้นและมีการผลิตด้วยเครื่องจักรที่สามารถควบคุมได้ จึงปรับโครงสร้างทางธุรกิจ เลิกผลิตสินค้าแบบดั้งเดิม หันมาผลิตสินค้าใหม่ที่มีการทำ R & D (Research and Development) ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และมีแนวคิดในการบุกตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ ขนมขบเคี้ยวที่มีคุณสมบัติขัดฟันสัตว์เลี้ยงให้สะอาด ขนมสุนัข/แมวเลียแบบออร์แกนิก ทำจาก Plant-based และทรายแมวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
คุณพิพัฒน์ กล่าวว่า หัวใจของความสำเร็จของเราอยู่ที่การไม่หยุดพัฒนา เรามีทีมวิจัยและพัฒนาที่ทำงานร่วมกับลูกค้าและอ้างอิงงานวิจัยจากวงการวิชาการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลิตภัณฑ์ของ เอส.ไอ.พี. ได้รับมาตรฐานคุณภาพระดับสากล เช่น GMP, HACCP, ISO 9001 และ BRC โดยปัจจุบันเรามีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทั้งสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก เช่น กระต่ายและแฮมสเตอร์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก คือ ขนมสำหรับขัดฟัน (Dental Treats) ขนมขบเคี้ยวทั่วไป (Treats) และขนมเลีย (Lickable Treats) ภายใต้แบรนด์ Goodies, Tru Knox และ Delicio รวมถึงมีบริการรับจ้างผลิต OEM ให้กับแบรนด์ชั้นนำระดับโลก

เตรียมพร้อมรับมือ Reciprocal Tariffs
อย่างไรก็ดี หนึ่งในความท้าทายทางธุรกิจล่าสุดที่ เอส.ไอ.พี. กำลังเผชิญอยู่คือ มาตรการภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักของบริษัท แม้ปัจจุบันจะยังอยู่ในช่วงผ่อนผัน 90 วันก่อนเริ่มบังคับใช้จริง แต่บริษัทก็เริ่มเจรจากับคู่ค้าเพื่อวางแนวทางแบ่งเบาภาระภาษีร่วมกัน พร้อมปรับลด Margin เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันไปบ้างแล้ว

“ในความท้าทาย เรายังมองเห็นโอกาสอยู่บ้าง เพราะผู้ผลิตคู่แข่งจากจีนเองก็เผชิญกับภาษีสูง ซึ่งอาจเป็นช่องว่างให้สินค้าไทยที่มีคุณภาพและแบรนด์ที่น่าเชื่อถือภายใต้ฉลาก Made in Thailand เข้าสู่ตลาดมากขึ้นได้เช่นกัน โดยปัจจุบันเรามีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 70% และขายในประเทศ 30% ดังนั้นความเคลื่อนไหวของมาตรการภาษีนี้จึงเป็นเรื่องที่เราจับตาอย่างใกล้ชิด” คุณพิพัฒน์ กล่าว
คุณพิพัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากการรักษาฐานตลาดเดิม บริษัทยังมีการบริหารความเสี่ยงด้วยการเร่งเจาะตลาดใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและอาหรับ ซึ่งมีศักยภาพในการบริโภคด้วยกำลังซื้อที่สูง ขณะที่ตลาดจีนก็อยู่ในแผนเช่นกัน แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบที่ต้องศึกษาอย่างละเอียด นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มอาหารเปียกสำหรับสัตว์ และอยู่ระหว่างการพิจารณาติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อเสริมศักยภาพด้านความยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่า EXIM BANK จะเป็นพันธมิตรที่สำคัญในทุกย่างก้าวของบริษัท

การสนับสนุนจาก EXIM BANK
คุณพิพัฒน์ เล่าว่า หนึ่งในแรงสนับสนุนเบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทคือ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการเงินมาตั้งแต่ปี 2538 คอยเคียงข้างและช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัททั้งในช่วงขยายตลาดและเผชิญวิกฤต เช่น ในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่พฤติกรรมคนเปลี่ยนไปเลี้ยงสัตว์มากขึ้น ทำให้ยอดขายของบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด หรือในช่วงล่าสุดที่บริษัทลงทุนเปิดไลน์การผลิตขนมแมวเลีย ก็ได้รับการสนับสนุนจาก EXIM BANK ทั้งวงเงินกู้ระยะยาว สินเชื่อหมุนเวียน และสินเชื่อเพื่อการส่งออก จนสามารถเริ่มเดินสายการผลิตและส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ฝากถึงผู้ประกอบการ SMEs
สุดท้ายนี้คุณพิพัฒน์ ได้ฝากข้อคิดสำคัญถึงผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกว่า ควรให้ความสำคัญกับการจดเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และแบรนด์ให้ครอบคลุมทั้งในไทยและประเทศเป้าหมาย ที่สำคัญคือ ต้องศึกษากฎระเบียบของแต่ละประเทศให้ละเอียด เช่น ในสหรัฐฯ แต่ละรัฐมีกฎเฉพาะของตัวเอง หรือในจีนที่แต่ละมณฑลก็มีกฎการนำเข้าที่ต่างกัน หากต้องการคำปรึกษาและการสนับสนุนทางการเงินด้านการส่งออก ขอให้นึกถึง EXIM BANK