ตี๋เล็ก ซาลาเปา อร่อยจากครัวบ้าน สู่แฟรนไชส์ส่งออก

วันที่ประกาศ 02 ตุลาคม 2566
Pic_CEO_Talk_0466.jpg

หนึ่งในเมนูอาหารรองท้องที่ให้ความอิ่มแบบพอดี มีคุณค่าทางโภชนาการ หาซื้อง่ายในราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง ได้แก่ “ติ่มซำ” ที่มีหลากหลายเมนู โดยเฉพาะ “ขนมจีบ-ซาลาเปา” ซึ่งมีขายทั่วไปในท้องตลาด แต่การทำให้โดดเด่น ครองใจผู้บริโภค จนสร้างยอดขายได้ถล่มทลายไม่ใช่เรื่องง่าย ดังเส้นทางการเติบโตของ “ตี๋เล็ก ซาลาเปา” ภายใต้การบริหารของ “คุณบิ๊ก” ภัทธธนัฐ ตั้งเมธากุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ตี๋เล็กฟู้ดส์ จำกัด ผู้ทิ้งงานด้านดนตรีที่รักมาสู่ธุรกิจอาหารอย่างเต็มตัว

คุณภาพที่สืบทอดมานานกว่า 40 ปี
       คุณบิ๊กเล่าถึงที่มาที่ไปของ “ตี๋เล็ก ซาลาเปา” ว่า เดิมนั้นคุณพ่อและคุณแม่ “เฮียตี๋และเจ๊เล็ก” ได้เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวในซอยวัดนักบุญเปโตร อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ต่อมาได้ขยายเมนูเพิ่มเติม มีอาหารตามสั่ง ขนมปัง เบเกอรี่ และซาลาเปา ขายมานานกว่า 40 ปี ในสมัยเด็ก หลังจากเลิกเรียนกลับมาถึงบ้าน คุณบิ๊กจะมีหน้าที่ช่วยขายและหยิบซาลาเปาใส่ถุง โตขึ้นมาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจึงเกิดความคิดต่อยอดซาลาเปาที่คุณพ่อทำขายด้วยการนำซาลาเปาไปวางขายในโรงอาหารใหญ่ของมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา เพื่อหารายได้เสริมระหว่างเรียน ใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 4,000 บาท จ้างคนขาย 1 คน กิจการไปได้ดี มียอดขายซาลาเปาวันละ 400 ลูก ต้องตื่นตี 4-ตี 5 ไปเปิดร้านทุกวัน หลังจากทดลองตลาดขายตรงในมหาวิทยาลัย คุณบิ๊กมีความคิดจะขยายธุรกิจโดยนำเอาซาลาเปาและขนมจีบ ซึ่งเป็นอาหารสูตรพิเศษที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น “ตี๋เล็ก ซาลาเปา” จึงเกิดขึ้นโดยการนำเอาชื่อคุณพ่อคุณแม่มาตั้งเป็นชื่อแบรนด์

ต่อยอดความอร่อยสู่ธุรกิจแฟรนไชส์
      จุดเด่นของตี๋เล็ก ซาลาเปาคือ ไส้เยอะ ใส่ไส้แบบไม่หวงของ ด้วยรสชาติที่อร่อยถึงเครื่อง แป้งนุ่ม ขายในราคาไม่แพง ทำให้ลูกค้าชื่นชอบ ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียง

      คุณบิ๊กเล่าว่า ทางร้านมีลูกค้าประจำเป็นกลุ่มแม่ค้าและคนที่สนใจเข้ามาติดต่อขอรับไปขายเป็นจำนวนมาก จึงเกิดเป็นความคิดริเริ่มในการขายส่งขนมจีบ ซาลาเปา ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดี แม่ค้ารับไปขายก็ขายได้ดี ขายหมดกันแทบทุกวัน มียอดขายวันละหลายหมื่นลูก จึงมองเห็นช่องทางและโอกาสในการต่อยอดธุรกิจเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ของบริษัท ตี๋เล็กฟู้ดส์ จำกัด ภายใต้ชื่อแฟรนไชส์ ตี๋เล็ก ขนมจีบ ซาลาเปา ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา

      ปัจจุบันทางตี๋เล็กยังมีโรงงานที่เป็นผู้ผลิตให้กับบริษัทต่าง ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Lucky Suki, ไอศกรีมไผ่ทอง, Thaifoods, Villa Market, Foodland และ 7-Eleven

      “ขณะนี้ ตี๋เล็ก ซาลาเปา มีการขายส่งให้กับภัตตาคารและร้านอาหารจีน รวมทั้งมี Kiosk เป็นร้านขายของเราเองซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ และเตรียมที่จะขยายผลิตภัณฑ์เพิ่มเป็นเมนูอาหารพร้อมรับประทาน และอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อนำเข้าไปขายในร้านสะดวกซื้ออีกด้วย” คุณบิ๊กกล่าว

EXIM BANK สนับสนุนจับคู่ธุรกิจพร้อมลุยตลาด CLMV
       นอกจากจะสนใจทำธุรกิจแล้ว สิ่งที่คุณบิ๊กไม่เคยหยุดทำคือ การแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าอบรมความรู้ทางธุรกิจกับหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เพราะมีแผนที่จะขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เนื่องจากมองเห็นโอกาสจากวัฒนธรรมการบริโภคของประเทศเพื่อนบ้านที่คล้ายคลึงกับไทย ขณะนี้บริษัทมีความพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตจากที่เริ่มธุรกิจใหม่ ๆ มีคนงานเพียง 4-5 คน แต่ปัจจุบันมีคนงานมากกว่า 70 คน มีกำลังการผลิตซาลาเปาสูงถึงวันละ 3 หมื่นลูก ซึ่งใกล้จะเต็มกำลังการผลิตแล้ว

       “ผมได้เคยเข้าร่วมอบรมความรู้เรื่องการส่งออกกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXAC) ของ EXIM BANK ซึ่งได้รับความรู้และได้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจและประสบการณ์เกี่ยวกับการส่งออกจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายอุตสาหกรรม แต่อยากสานฝันด้านการส่งออกให้เป็นจริง จึงต้องการได้รับการสนับสนุนจาก EXIM BANK ช่วยแนะนำในการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ให้สามารถส่งต่อความอร่อยไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้สำเร็จ” คุณบิ๊กกล่าว

ฝากถึงผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นธุรกิจส่งออก
       สิ่งที่ผมมีมาตลอดก็คือ ความมุ่งมั่น ความตั้งใจ และความสม่ำเสมอ การทำธุรกิจไม่ใช่สิ่งที่จะประสบความสำเร็จได้ในวันเดียว จึงอยากฝากถึงนักธุรกิจคนรุ่นใหม่ ขอให้ตั้งใจทำให้เต็มที่ ใช้เวลา ไม่มองข้ามปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะเมื่อเราแก้ไขปัญหาได้ก็จะทำให้เรามองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การเริ่มต้นธุรกิจในยุคดิจิทัลมีเครื่องมือให้เลือกมากมายโดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเยอะ เช่น ช่องทางโซเชียลมีเดีย LINE, Facebook, TikTok เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็สามารถค้าขายได้ การเริ่มต้นธุรกิจจึงเป็นไปได้ไม่ยาก แต่การทำให้ธุรกิจเติบโตได้ไกลในระดับโลกเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นทุ่มเทในการพัฒนาตนเองและกิจการอย่างต่อเนื่อง