วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบกับทั้งวิถีชีวิตของผู้บริโภคทั่วโลกและต่อเนื่องมายังภาคธุรกิจ โดยบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจดิจิทัล และบริการขนส่งสินค้า แม้จะได้อานิสงส์จนธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่กลับต้องเผชิญกับแรงกดดันจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง และส่งผลให้ธุรกิจส่วนใหญ่ชะลอการตัดสินใจลงทุนทั้งในประเทศ ไปจนถึงการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ความหวังในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัจจัยสนับสนุนด้านความก้าวหน้าของวัคซีน COVID-19 ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มกลับมองโอกาสในการลงทุน ซึ่งการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions : M&A) เป็นหนึ่งในทางเลือกของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เห็นโอกาสถึงวัฏจักรขาขึ้นรอบใหม่ของเศรษฐกิจ สอดคล้องไปกับข้อมูลการทำ M&A ของโลกในปี 2563 ซึ่งวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้มูลค่า M&A ของโลกในช่วงครึ่งแรกของปีหดตัวถึง 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี พบว่า มูลค่า M&A ของโลกกลับมาเพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่า การทำ M&A สามารถตอบสนองความต้องการลงทุนของภาคธุรกิจ ดังนั้น จึงเป็นที่คาดการณ์ได้ว่าแนวโน้มการทำ M&A จะยังเป็นเทรนด์สำคัญของการลงทุนต่อเนื่องในปี 2564
 
  M&A ตอบโจทย์การรุกธุรกิจในต่างประเทศยุคปัจจุบัน  
            การทำ M&A ในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่นิยมสำหรับธุรกิจที่วางแผนในการเติบโตระยะยาว และมักถูกใช้เป็นกลยุทธ์ในการรุกตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ ปัจจัยที่ควรพิจารณาในการทำ M&A ในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ
 
  ทำ M&A ให้ถูกจังหวะเพื่อให้ได้ของดีที่ราคาไม่แพง โดยพิจารณาจาก
          คำนึงถึงเวลาที่เหมาะสมในการเข้าซื้อ เนื่องจากปัจจุบันวิกฤต COVID-19 ยังไม่คลี่คลาย
อีกทั้งเศรษฐกิจแต่ละประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวไม่พร้อมกัน ดังนั้น การเลือกเวลาเข้าซื้อที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับในช่วงที่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวดี
          ประเมินศักยภาพในอนาคตของธุรกิจที่จะเข้าซื้ออย่างรอบคอบ โดยเฉพาะหลังวิกฤต COVID-19 เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคบางอย่างมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงถาวรแม้วิกฤต COVID-19 จะคลี่คลายลง อาทิ กรณีของธุรกิจค้าปลีกที่ยังเป็นธุรกิจขาลง เพราะพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ได้เข้ามาแทนที่การซื้อสินค้าหน้าร้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในทางกลับกัน ในกรณีของธุรกิจท่องเที่ยวมีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวได้รวดเร็วหลังการได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 เนื่องจากปัจจุบันการสร้างประสบการณ์จากการท่องเที่ยวกลายเป็นส่วนหนึ่งใน
วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ซึ่งยังไม่สามารถหากิจกรรมอื่นมาทดแทนได้
 
  ทำ M&A กับธุรกิจที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงหลัง COVID-19
          ในภาวะปกติ ผู้ประกอบการอาจขยายประเภทธุรกิจของตนด้วยการเข้าซื้อกิจการในธุรกิจอื่น ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของภาวะตลาด แต่การทำ M&A ในยุค COVID-19 จะเน้นการเข้าถึงธุรกิจที่จะมีส่วนเกื้อหนุนการดำเนินงานในปัจจุบัน เช่น กรณีธุรกิจธนาคารเข้าซื้อธุรกิจ Fintech เพื่อเสริมอาวุธด้านดิจิทัลในโลกการเงินที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และกรณีธุรกิจค้าปลีกเข้าซื้อธุรกิจ E-Commerce ก็เพื่อปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป
 
  ย่นระยะเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจ และเพิ่มความเร็วในการสร้างฐานลูกค้าในต่างประเทศ
          การใช้วิธี M&A เพื่อขยายการลงทุนในต่างประเทศเป็นทางเลือกที่ประหยัดเวลาและต้นทุนกว่าการเริ่ม
ดำเนินโครงการลงทุนใหม่ทั้งหมด อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากฐานลูกค้าและฐานความรู้ด้านการบริหารงานจากธุรกิจท้องถิ่นที่เข้าไปทำ M&A โดยเฉพาะในสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้การดำเนินโครงการลงทุนใหม่ในต่างประเทศเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากข้อจำกัดของการเดินทางไปมาระหว่างประเทศเพื่อจัดการในขั้นตอนต่าง ๆ อาทิ การก่อสร้างหรือจัดตั้งสถานที่ประกอบกิจการ
 
  เข้าถึงใบอนุญาตประกอบกิจการ
          ในหลายกรณี M&A ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงใบอนุญาตประกอบกิจการได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่
เห็นได้ชัด คือ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีการทำ M&A จำนวนมากในปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจาก
หลายประเทศมักออกใบอนุญาตดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพร้อมกันจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งของผู้ที่เข้ามา
ขอใบอนุญาตไม่มีความพร้อมในการดำเนินงานอย่างแท้จริงและหาทางออกโดยการขายใบอนุญาตในรูปแบบของ
การขายโครงการ ทั้งนี้ การเข้าซื้อกิจการธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นในหลายประเทศอาเซียนไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงไทย
 
  กลยุทธ์ M&A…เครื่องมือจำเป็นของผู้ประกอบการทุกขนาด  
     
  ผู้ประกอบการรายใหญ่
M&A เป็นกลยุทธ์ที่ธุรกิจขนาดใหญ่มีความคุ้นเคย
ดีอยู่แล้ว โดย McKinsey&Company เปิดเผยผลสำรวจ
พบว่า ธุรกิจที่ปรับโครงสร้างองค์กรด้วยการทำ M&A
ในทุก ๆ 10 ปี จะเป็นธุรกิจที่มีประสิทธิภาพในการ
ดำเนินงานเหนือกว่าธุรกิจอื่นในตลาดราว 5% ดังนั้น
ในช่วงของการฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 นี้ จึงคาดได้ว่า
ผู้ประกอบการรายใหญ่จะแสวงหาดีล M&A เพิ่มขึ้น
เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจรองรับเศรษฐกิจ
ที่จะกลับมาฟื้นตัวในอนาคต
 

SMEs
สำหรับธุรกิจ SMEs การเข้าซื้อกิจการอื่นอาจถูกมองว่า
เป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่
ขาดความพร้อมด้านเงินทุน อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่ง
การทำ M&A ในลักษณะการควบรวมกิจการกับพันธมิตร
อาจเป็นทางเลือกในการเพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ
หรือต่อยอดสินค้าและบริการเพื่อต่อสู้กับคู่แข่งในตลาดที่
มีประสบการณ์หรือมีขนาดใหญ่กว่า

 
            วิกฤต COVID-19 อาจเป็นเพียงสัญญาณเตือนของการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นตามมาอีกในอนาคต การทำความคุ้นเคยกับ M&A ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาดีลเพื่อเข้าซื้อธุรกิจในต้นทุนที่ต่ำ การรุกขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ การเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ ไปจนถึงการแก้ปัญหาทางการเงินเพื่อพยุงกิจการ จะช่วยให้บริษัทมีความพร้อมรับมือกับความท้าทาย และช่วยเพิ่มแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจในระยะยาว  
  Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  หน้าหลัก  l  Share โลกเศรษฐกิจ  l  เปิดประตูสู่ตลาดใหม่  l  ส่องเทรนด์โลก  l  เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ
เรื่องเล่าจาก CLMV  l  CEO Talk  l  แนะนำบริการ  l  สรุปข่าว