เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศ การปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนเป็นเสมือนหน้าด่านที่จะ
สื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่เข้าไปลงทุน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาให้ละเอียดและทำความเข้าใจ
อย่างถี่ถ้วน เพื่อให้การเริ่มต้นธุรกิจในต่างประเทศราบรื่น อีกทั้งยังช่วยร่นระยะเวลาดำเนินการบางส่วนลง ไม่เว้นแม้แต่การเข้าไปลงทุน
ใน สปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยที่ผู้ประกอบการต้องศึกษาข้อมูลการขออนุญาตลงทุนให้รอบด้าน เนื่องจากมี
เอกสารสำคัญหลายฉบับที่ต้องยื่นขอจากหน่วยงานต่างๆ สำหรับเอกสารสำคัญที่ผู้ประกอบการควรทำความรู้จักก่อนเข้าไปลงทุน
ใน สปป.ลาว มีดังนี้

              ใบอนุญาตลงทุน (Investment License / Business License) กฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับล่าสุด ปี 2559 ของ
สปป.ลาว แบ่งธุรกิจทั่วไป (General Business) เป็น 2 ประเภท คือ 1. ธุรกิจที่อยู่ในบัญชีควบคุม* และ 2. ธุรกิจที่อยู่นอกบัญชีควบคุม สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในธุรกิจที่อยู่ในบัญชีควบคุมจะต้องขออนุมัติการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครอง
การลงทุน โดยสามารถยื่นคำร้องพร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาเพื่อขอใบอนุญาตลงทุน (Investment License) ผ่านศูนย์บริการ
One Stop Service ที่กรมส่งเสริมการลงทุน กระทรวงแผนการและการลงทุน ซึ่งมีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
เพื่อขอความเห็นชอบ การพิจารณาอนุมัติใช้เวลาราว 25 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ศูนย์บริการ One Stop Service ได้รับคำร้อง สำหรับ
การลงทุนในธุรกิจที่อยู่นอกบัญชีควบคุม ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจ (Business License) กับกระทรวง
ที่เกี่ยวข้องกับประเภทธุรกิจของผู้ประกอบการโดยตรง อาทิ ธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจบันเทิง เช่น
โรงภาพยนตร์ สามารถยื่นขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจที่กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว เป็นต้น

              ใบทะเบียนวิสาหกิจ (Enterprise Registration Certificate) กฎหมายวิสาหกิจฉบับปี 2556 กำหนดว่าผู้ประกอบการ
ที่ลงทุนในธุรกิจทั่วไปทั้งธุรกิจที่อยู่ในและนอกบัญชีควบคุม ต้องยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเพื่อขอรับใบทะเบียนวิสาหกิจ ซึ่งเป็น
เอกสารที่รับรองว่าผู้ประกอบการมีตัวตนและสามารถดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยข้อตกลงว่าด้วยการ
ขึ้นทะเบียนวิสาหกิจ เลขที่ 0023/MOIC.DERM ลงวันที่ 9 มกราคม 2562 กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องยื่นคำร้องพร้อมเอกสาร
ประกอบการพิจารณาผ่านศูนย์บริการ One Stop Service ที่กรมทะเบียนและคุ้มครองวิสาหกิจ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า
ในนครหลวงเวียงจันทน์ หรือฝ่ายทะเบียนที่แผนกอุตสาหกรรมและการค้าของแต่ละแขวง รวมถึงสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้า
ของแต่ละเมือง สำหรับอำนาจในการอนุมัติการจดทะเบียนธุรกิจมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งธุรกิจ ขนาด และประเภทของ
ธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องการจดทะเบียน อาทิ การจดทะเบียนบริษัทจำกัดและมหาชนที่มีทุนจดทะเบียนมากกว่า 500 ล้านกีบ
(ราว 1.8 ล้านบาท) ขึ้นไป จะต้องยื่นคำร้องที่กรมทะเบียนและคุ้มครองวิสาหกิจเท่านั้น ส่วนการจดทะเบียนบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน
น้อยว่า 500 ล้านกีบ สามารถยื่นคำร้องได้ทั้งที่แผนกอุตสาหกรรมและการค้าของแต่ละแขวง หรือสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้า
ของแต่ละเมือง
                  ทั้งนี้ ธุรกิจที่อยู่นอกบัญชีควบคุม เจ้าหน้าที่ทะเบียนจะพิจารณาคำร้องภายใน 10 วันทำการ ขณะที่ธุรกิจที่อยู่ในบัญชีควบคุม
ศูนย์บริการ One Stop Service จะติดต่อประสานงานไปที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเห็นชอบภายใน 10 วันทำการ ซึ่งหาก
ได้รับความเห็นชอบ เจ้าหน้าที่ทะเบียนจะดำเนินการจดทะเบียนให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันทำการ โดยหลังจากที่ได้รับใบทะเบียนวิสาหกิจ
แล้ว ผู้ประกอบการจะต้องเริ่มดำเนินกิจการตามประเภทธุรกิจที่ระบุไว้ในใบทะเบียนภายใน 90 วัน

               ใบทะเบียนอากร (Tax Registration Certificate) และใบยั่งยืนเลขประจำตัวผู้เสียภาษี เป็นเอกสารสำคัญทางภาษี
ที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการยื่นขอจากกรมสรรพากร กระทรวงการเงิน หลังจากได้รับใบทะเบียนวิสาหกิจแล้ว อย่างไรก็ตาม ล่าสุด
กระทรวงการเงินได้ออกประกาศว่าด้วยเรื่องการออกหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่ 0489/PSO.MOF ลงวันที่ 5 มีนาคม 2562
โดยกำหนดให้รวมขั้นตอนการขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีกับขั้นตอนการขอใบทะเบียนวิสาหกิจผ่านระบบ TaxRis ดังนั้น ผู้ประกอบการ
จะได้รับใบทะเบียนวิสาหกิจแบบใหม่ที่มาพร้อมกับเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และสามารถใช้ใบทะเบียนดังกล่าวแทนใบทะเบียนอากร
และใบยั่งยืนเลขประจำตัวผู้เสียภาษี นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการชำระภาษีใน สปป.ลาว
ภายใน 30 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ได้รับใบทะเบียนวิสาหกิจแบบใหม่แล้ว

              ใบอนุญาตใช้ตราประทับบริษัท (Company Seal) การลงนามในเอกสารต่างๆ ใน สปป.ลาว จะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ก็ต่อเมื่อมีการประทับตราบริษัท ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นคำร้องขอจัดทำตราประทับบริษัทกับกระทรวงป้องกันความสงบ ซึ่งจะเป็น
ผู้แกะสลักตราประทับ ขึ้นทะเบียนตราประทับ และออกใบอนุญาตใช้ตราประทับให้แก่ผู้ประกอบการภายใน 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่
ได้รับคำร้องและใบทะเบียนวิสาหกิจ ทั้งนี้ ตราประทับบริษัทที่ใช้ใน สปป.ลาว มีการกำหนดรูปแบบ ลักษณะ ตลอดจนวิธีการใช้ที่ชัดเจน
โดยตราประทับจะต้องเป็นรูปทรงแปดเหลี่ยมและมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 3.5 เซนติเมตร รวมถึงต้องใช้น้ำหมึกสีน้ำเงินในการ
ประทับเท่านั้น ขณะที่รายละเอียดบนตราประทับจะต้องประกอบด้วยชื่อบริษัท ที่ตั้งของบริษัท และหน่วยงานที่กำกับดูแลการดำเนิน
กิจการของวิสาหกิจใน สปป.ลาว ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่กำหนดเท่านั้น อาทิ ชื่อบริษัทอยู่บริเวณใจกลาง
ตราประทับ ชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่บริเวณด้านบนและที่ตั้งบริษัทอยู่บริเวณกรอบด้านล่างของตราประทับ เป็นต้น

               ใบยั่งยืนการนำเงินทุนเข้าประเทศ (Capital Importation Certificate) ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจทั่วไป
ใน สปป.ลาว จะต้องดำเนินการนำเงินทุนอย่างน้อย 30% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมดที่ระบุไว้ในใบอนุญาตลงทุนหรือใบทะเบียนวิสาหกิจ
เข้ามาใน สปป.ลาว ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเอกสารดังกล่าว โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถนำเงินทุนเข้ามาผ่านบัญชีที่เปิดไว้
กับธนาคารพาณิชย์ของ สปป.ลาว หรือหากนำเงินทุนเข้ามาในรูปแบบเงินสดจะต้องสำแดงรายการเงินตราต่อจุดตรวจศุลกากรและนำ
เอกสารรับรองที่ได้รับมายื่นเป็นหลักฐานที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว (Bank of the Lao PDR) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องนำหลักฐาน
การนำเงินทุนเข้ามาแสดงต่อธนาคารแห่ง สปป.ลาว ทุกครั้ง เพื่อออกหนังสือรับรองการนำเงินทุนเข้ามาภายในประเทศหรือที่เรียกว่า
ใบยั่งยืนการนำเงินทุนเข้าประเทศสำหรับผู้ประกอบการที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่นอกนครหลวงเวียงจันทน์สามารถติดต่อขอรับใบยั่งยืน
ได้ที่สาขาของธนาคารแห่ง สปป.ลาว หรือธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาต

              อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายส่งเสริมการลงทุนและกฎหมายวิสาหกิจกำหนดกรอบระยะเวลาการพิจารณาใบอนุญาตต่างๆ ไว้
อย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติกระบวนการดังกล่าวยังใช้เวลานาน โดยการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจอาจใช้เวลาเฉลี่ย 5-7 เดือน
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเพียงกระทรวงหลักอย่างกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ากับกระทรวงแผนการและการลงทุนเท่านั้นที่สามารถ
ดำเนินการต่างๆ ที่จุดเดียวได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรวางแผนและเผื่อเวลาสำหรับขั้นตอนต่างๆ แต่เนิ่นๆ
  * ธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  หน้าหลัก   I   Share โลกเศรษฐกิจ   I   เปิดประตูสู่ตลาดใหม่   I   รู้ทันเกมการค้า
เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ   I   CEO Talk   I   แวดวงคู่ค้า   I   แนะนำบริการ   I   สรุปข่าว