ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และคาดว่าจะทวีความสำคัญขึ้น ในอนาคต จากจำนวนประชากรโลกที่คาดว่าจะเพิ่มจาก 7.7 พันล้านคนในปัจจุบัน เป็น 9.7 พันล้านคนในปี 2593 ขณะที่การขยายพื้นที่เมืองไปแทนที่พื้นที่ทำการเกษตร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการระบาดของโรคในพืชและสัตว์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ อาจมีผลให้ผลผลิตของพืชและเนื้อสัตว์ที่นำมาทำเป็นอาหารได้ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นไม่ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น กระแสการบริโภค " Novel Food (อาหารใหม่)" โดยเฉพาะอาหารซึ่งทำมาจากวัตถุดิบชนิดใหม่ เริ่มเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้น เพราะไม่เพียงช่วยเพิ่มปริมาณอาหาร ยังช่วยลดปัญหาโลกร้อนอีกด้วย "ส่องเทรนด์โลก" ฉบับนี้จึงขอพาท่านไปสำรวจตัวอย่าง Novel Food ที่น่าสนใจ และอาจเป็นไอเดียนำไปต่อยอดธุรกิจ ดังนี้  
  Novel Food คืออะไร ?  
  Novel Food โดยทั่วไปหมายถึงอาหารที่ถูกผลิตขึ้นจากวัตถุดิบชนิดใหม่ นอกเหนือจากพืชและสัตว์ที่มีการบริโภคกันอยู่ทั่วไป หรืออาหารที่ผลิตด้วยกรรมวิธี เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ และอาจครอบคลุมถึงอาหารที่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย หรือเป็นอาหารที่เดิมการบริโภคจำกัดอยู่เพียงในบางพื้นที่  
  Novel Food ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผู้ผลิตสินค้าอาหาร โดยเฉพาะใน EU ซึ่งได้ผ่อนคลายกฎระเบียบ Novel Food เพื่อให้ทันกับพัฒนาการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของอาหาร และผู้ประกอบการนำสินค้าอาหารชนิดใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ทำให้ในช่วงปี 2561-2563 มีผู้ยื่นขอขึ้นทะเบียนผลิตและจำหน่ายอาหารชนิดใหม่ ๆ ใน EU มากถึง 156 รายการ หรือเฉลี่ยปีละ 52 รายการ เทียบกับในช่วงปี 2540-2560 ที่มีผู้ยื่นขอขึ้นทะเบียนเฉลี่ยเพียงปีละ 6.4 รายการ  
  แค็ตตาล็อก Novel Food ของ EU  
  ปัจจุบัน EU ได้จัดทำแค็ตตาล็อกที่รวบรวมรายชื่อ Novel Food ชนิดต่าง ๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายใน EU ได้ ผ่านทางเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการยุโรป (EC)  
  ตัวอย่าง Novel Food ที่น่าสนใจ  
  อาหารจากแมลง (Edible Insects) รับประทานได้ทั้งในรูปแบบแมลงทั้งตัวซึ่งนิยมนำไปทอด/อบ และทำเป็นผงหรือแป้ง ซึ่งนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ อาทิ ขนมขบเคี้ยว เบเกอรี่ โปรตีนบาร์ เวย์โปรตีน และเส้นพาสต้า สำหรับแมลงที่นิยมนำไปแปรรูปเป็นอาหารมากที่สุด คือ จิ้งหรีด ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารหลากหลายที่ทำจากจิ้งหรีดและแป้งจิ้งหรีด อาทิ ไส้กรอกจิ้งหรีด และกาแฟบราซิลผสมผงจิ้งหรีด รวมถึงข้าวเกรียบจิ้งหรีดที่จุดกระแสบริโภคแมลง
ในญี่ปุ่น ทั้งนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่าทั่วโลกมีแมลงกว่า 1,900 สายพันธุ์ ที่นำมาบริโภคได้ ขณะเดียวกันบริษัทวิจัย Global Market Insight คาดว่าตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลงจะเติบโตจาก 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 เป็น 710 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2569 หรือเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ (CAGR) 43.5%
 
  แป้งจิ้งหรีด  
  ภาพจาก snacksafely.com  
  โปรตีนจากอากาศ หลัก ๆ เกิดจากการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้เป็นกรดอะมิโนซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่สุดของโปรตีน แล้วนำมาแยกน้ำจนกลายเป็นผงโปรตีนก่อนจะนำไปผ่านกระบวนการขึ้นรูปพร้อมแต่งกลิ่น และรสสัมผัสเลียนแบบเนื้อสัตว์ แต่ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืชที่อาจปนเปื้อนระหว่างการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้ โปรตีนจากอากาศมีปริมาณโปรตีนสูง ที่สำคัญใช้เวลาผลิตเพียง 4 วัน น้อยกว่าการผลิตโปรตีนจากแหล่งอื่น ๆ อาทิ ถั่วเหลืองซึ่งใช้เวลาปลูกและเก็บเกี่ยวราว 3 เดือน ไก่ใช้เวลาเลี้ยงราว 5 เดือน และวัวราว 2 ปี ทั้งนี้ ปัจจุบันยังมีบริษัทที่ผลิตผงโปรตีนจากอากาศเพียงไม่กี่ราย อาทิ Solar Foods (ฟินแลนด์) ซึ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยใช้ผงโปรตีนจากอากาศมากกว่า 20 รายการ เช่น เนื้อเบอร์เกอร์และลูกชิ้นเนื้อ แต่คาดว่าจะมีผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจพัฒนาโปรตีนจากอากาศเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มรักสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโปรตีนจากอากาศตอบโจทย์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าโปรตีนจากแหล่งอื่น ๆ เพราะใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่งมาเป็นวัตถุดิบผลิตอาหาร  
  ผงโปรตีนจากอากาศ  
  ภาพจาก www.euronews.com  
  แป้งทาโก้ที่ผลิตจากผงโปรตีนจากอากาศ  
  ภาพจาก www.mercurynews.com  
  โปรตีนจากเชื้อรา (Mycoprotein) โปรตีนที่ได้จากการหมักบ่มจุลินทรีย์จากเชื้อรา ซึ่งมีกระบวนการเปลี่ยนแป้งและน้ำตาลในพืชที่หมักให้เป็นก้อนชีวมวล (Biomass) ก่อนที่จะดึงของเหลวออกและปรับแต่งขนาดให้มีรูปทรงและเนื้อสัมผัสตามต้องการ ทั้งนี้ โปรตีนจากเชื้อรามีจุดเด่น คือ ไม่มีคลอเลสเตอรอล ไม่มีน้ำตาล ไขมันและคาร์โบไฮเดรตต่ำ จึงได้รับความสนใจจากผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ ปัจจุบันมีอาหารที่ผลิตขึ้นโดยโปรตีนจากเชื้อราวางจำหน่ายแล้วในหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหรัฐฯ และเมื่อต้นปี 2564 ร้าน KFC ในสิงคโปร์ก็ได้เปิดตัว KFC Zero Chicken Burger ซึ่งเป็นเบอร์เกอร์ที่ทำด้วยโปรตีนจากเชื้อรา ทั้งนี้ จากรายงานของ Global Market Insight ระบุว่ามูลค่าตลาดโปรตีนจากเชื้อราจะเพิ่มจาก 3.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 เป็น 6.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2569 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ (CAGR) 8.3%
 
  ก้อนโปรตีนจากเชื้อรา  
  ภาพจาก www.vegolosi.it  
  เนื้อสัตว์ปลูกหรือเนื้อเทียมจากการเพาะเลี้ยง (Cultured Meat หรือ Lab-Grown Meat) เกิดจากการนำเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ (Stem Cell) ของสัตว์ต่าง ๆ มาเพาะเลี้ยงในห้องทดลองจนกลายเป็นชิ้นเนื้อ โดย Eat Just (สหรัฐฯ) นับเป็นบริษัทแรกที่ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายเนื้อสัตว์ปลูกในเชิงพาณิชย์ โดยวางจำหน่ายในรูปแบบนักเก็ตไก่ปลูก และ
เนื้ออกไก่ปลูก ปัจจุบันมีอีกหลายบริษัทที่ให้ความสนใจพัฒนาเนื้อสัตว์ปลูกให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่หลากหลายกว่าเดิม อาทิ BlueNalu (สหรัฐฯ) อยู่ระหว่างพัฒนาอาหารทะเลที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเซลล์ ทั้งเนื้อปลา กุ้ง และหอย เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงเกินขนาด (Overfishing) และลดปัญหาการบริโภคสัตว์น้ำที่มีสารปนเปื้อน โดยบริษัทฯ คาดว่าผลิตภัณฑ์จะออกสู่ตลาดได้ใน 2-3 ปีจากนี้ และ Finless Foods (สหรัฐฯ) อยู่ระหว่างเพาะเลี้ยงเนื้อปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin Tuna) ซึ่งมีความเสี่ยงจะสูญพันธุ์ และไม่สามารถเลี้ยงในฟาร์มปลาทูน่าได้ รวมถึง Gourmey (ฝรั่งเศส) อยู่ระหว่างเพาะเลี้ยงเซลล์ตับของเป็ดและห่าน เพื่อนำมาใช้ทดแทนฟัวกราส์ (Foie Gras) ที่ได้จากการเลี้ยงในฟาร์ม ทั้งนี้ บริษัทวิจัย Allied Market Research ประเมินว่าตลาดเนื้อสัตว์ปลูกทั่วโลกจะเติบโตจาก 1.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 เป็น 2.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ (CAGR) 95.8%
 
  เนื้อสัตว์ปลูก  
  ภาพจาก theconversation.com  
  เนื้อนักเก็ตไก่ปลูกของ Eat Just  
  ภาพจาก www.btimesonline.com  
            Novel Food หลายชนิดสามารถตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพ และใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพของสัตว์ รวมถึงความมั่นคงทางอาหารได้พร้อมกัน จึงมีแนวโน้มสูงที่จะกลายเป็นสินค้าดาวรุ่งดวงใหม่ในตลาดโลก และเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจมองหาตลาดใหม่ ๆ ที่มีแนวโน้มเติบโตดี อีกทั้งประเทศไทยก็มีศักยภาพในการผลิตวัตถุดิบสำหรับอาหาร Novel Food ได้หลายชนิด อย่างฟาร์มจิ้งหรีดระบบปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ตั้งอยู่ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การขึ้นทะเบียน Novel Food ในแต่ละประเทศมีระเบียบปฏิบัติแตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษากฎระเบียบอย่างรอบคอบก่อนรุกตลาด ควบคู่ไปกับการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคพร้อมกับช่องทางการทำตลาดในแต่ละประเทศด้วย  
  Disclaimer: ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  ที่มาของรูปภาพ: Freepik, Muhammad Ali and Smashicons from www.flaticon.com  
  หน้าหลัก  I  Share โลกเศรษฐกิจ  I  เปิดประตูสู่ตลาดใหม่  I  ส่องเทรนด์โลก  I  เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ
CEO Talk  I  แนะนำบริการ  I  สรุปข่าว