EXIM BANK จับมือกระทรวงพาณิชย์ สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสุด 2.75% ต่อปี
สร้างผู้ส่งออก SMEs ลุยตลาดโลก โดยเฉพาะกลุ่ม RCEP
 
            นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานในพิธี ถ่ายภาพร่วมกับ ดร.รักษ์
วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และผู้บริหารจากหน่วยงานพันธมิตร ในพิธีเปิดโครงการ “จับคู่กู้เงิน ลุยตลาด RCEP” เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบธุรกิจส่งออกหรืออยู่ใน Supply Chain ที่เกี่ยวข้องในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเน้นส่งออกไปยังประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขพิเศษ ตลอดจนเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ ณ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเร็ว ๆ นี้

          ทั้งนี้ EXIM BANK ออกบริการใหม่ “สินเชื่อเอ็กซิมลุยตลาด RCEP” อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2.75% ในปีแรก วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท และสามารถใช้หนังสือค้ำประกันบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมกับบุคคล/นิติบุคคลค้ำประกัน เป็นหลักประกันร่วมได้กรณีกู้เงินไม่เกิน 5 ล้านบาท แถมวงเงิน Forward Contract สูงสุด 1 เท่าของวงเงินสินเชื่อ เป้าหมายวงเงินสนับสนุนรวม 3,000 ล้านบาท พิเศษ! 500 รายแรกที่ยื่นขอสินเชื่อจะได้รับ Voucher บริการประกันการส่งออกมูลค่า 2,200 บาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่บัดนี้ถึง 29 กรกฎาคม 2565
 
  EXIM BANK รับ 9 รางวัลเกียรติยศ ปี 2564  
            ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK นำกรรมการธนาคารแสดงความยินดีแก่ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และผู้บริหาร EXIM BANK ในโอกาสที่ EXIM BANK ได้รับรางวัลเกียรติยศจากหน่วยงานต่าง ๆ จากผลการดำเนินงานปี 2564 ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหาร พนักงาน และบุคลากร EXIM BANK เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามภารกิจและพันธกิจของธนาคาร ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้

          ทั้งนี้ ปี 2564 EXIM BANK ได้รับรางวัลเกียรติยศจากหน่วยงานต่าง ๆ รวม 9 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น จาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น ประเภทดีเด่น และรางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ประเภทชมเชย รางวัล Total Quality Management ประเภท Best Practices จากมูลนิธิส่งเสริมทีคิวเอ็มในประเทศไทย 2 รางวัล ได้แก่ การประยุกต์มาตรฐานเพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน : กลไกสำคัญที่ต่อยอดสู่การพัฒนาบุคลากร EXIM BANK รางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 10 จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รางวัลเกียรติคุณ การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน จากสถาบันไทยพัฒน์ รางวัลอาคารประหยัดพลังงานและคุณภาพอากาศภายในอาคาร จากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รางวัลประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่มีผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน (ITA) ระดับ AA จากสำนักงาน ป.ป.ช. และรางวัลบูทสวยงามยอดเยี่ยม Money Expo 2021 จากวารสารการเงินธนาคาร
 
  EXIM BANK จัดพิธีทำบุญตักบาตร โอกาสเปิดดำเนินการครบรอบ 28 ปี  
            ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK พร้อมด้วยนายสุวัฒน์ กมลพนัส นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ดร.วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล กรรมการ และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ นำคณะผู้บริหารและพนักงาน EXIM BANK ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรในโอกาสที่ธนาคารเปิดดำเนินการครบรอบ 28 ปี โดยถวายภัตตาหารเช้าและทำบุญตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง แด่พระภิกษุสงฆ์จากวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK สนับสนุนทุนการศึกษาและเงินช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผ่านมูลนิธิฟอร์เด็ก  
            นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคม EXIM BANK นายอนุสรณ์ เอมกมล กรรมการ EXIM BANK และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK มอบทุนการศึกษาระดับอาชีวศึกษาให้แก่เยาวชน จำนวน 5 ทุน พร้อมเงินสนับสนุนค่าอาหาร อุปกรณ์การศึกษา และเงินช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและครอบครัวผู้ยากไร้ ผ่านมูลนิธิเพื่อการฟื้นฟูพัฒนาเด็กและครอบครัว (ฟอร์เด็ก) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 230,000 บาท เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ ตลอดจนคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กและเยาวชนในอนาคต โดยมี ดร.อัมพร วัฒนวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ เป็นผู้รับมอบ ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK เสนอยกเครื่องประเทศไทย ด้วยกลยุทธ์ “ซ่อม สร้าง เสริม สานพลัง”
สร้าง “คน” และ “ทีม” ประเทศไทยบุกตลาดโลก
 
            ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK แถลงนโยบายในโอกาสครบรอบ 28 ปีของธนาคาร ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ประเทศไทยในวันนี้ไม่เหมือนอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งเคยเป็นว่าที่ “เสือตัวที่ 5” ของเอเชียต่อจากฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ปัจจุบันไทยยังติดกับดักเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียกำลังจะไต่ขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High-income Country) ในอีก 3 ปีข้างหน้า ทิ้งห่างประเทศไทยหลายช่วงตัวซึ่งน่าจะใช้เวลาอีกนานกว่า 10 ปี และเวียดนามที่แซงหน้าประเทศไทยในหลาย ๆ มิติ โดยเฉพาะการส่งออกและเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เป็นผลจากข้อจำกัดของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ได้แก่
          1. ขนาดตลาดและกำลังซื้อ ไทยมีจำนวนประชากรเพียงไม่ถึง 70 ล้านคน และกำลังซื้อไม่สูง เพราะเศรษฐกิจโดยรวมตกต่ำมาเป็นเวลานาน อีกทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้ไทยมีสัดส่วนของประชากรอายุเกิน 60 ปีสูงถึงเกือบ 20%
          2. การขาดอุตสาหกรรมในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Industries) ที่ผ่านมาการผลิตเน้นเชิงปริมาณมากกว่าการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นการเป็นผู้รับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturer : OEM) แทนการสร้างเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือแบรนด์ของตนเอง ทำให้สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน และไม่ดึงดูดการลงทุนของต่างชาติเท่าที่ควร
          3. การขาดนักรบเศรษฐกิจไปบุกตลาดต่างประเทศ ท่ามกลางตลาดในประเทศที่มีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่ตลาดโลกเต็มไปด้วยโอกาส โดยเฉพาะตลาดใหม่ (New Frontiers) หรือแม้แต่ตลาดหลักเดิมที่ยังมีช่องว่างอีกมากในการเข้าไปเติมเต็ม
          4. ระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนานวัตกรรม เพื่อรองรับการค้าการลงทุนในโลกยุคใหม่ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล และกฎระเบียบหลายประการยังเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

          ดร.รักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยจึงขอเสนอกลยุทธ์ “เกมเปลี่ยนประเทศไทย (Thailand Game Changer)” ดังนี้
          1. เกมสร้างนักรบเศรษฐกิจ ในการปลดล็อกข้อจำกัดด้านขนาดตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ ประเทศไทยต้องเร่งสร้างผู้ส่งออก SMEs ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 23,000 รายหรือไม่ถึง 1% ของ SMEs รวม เทียบกับเวียดนามที่มีสัดส่วนถึง 10%
          2. เกมสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและตอบโจทย์กระแสโลกในอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมสีเขียว (Green) เพื่อรองรับกระแสรักษ์โลก อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) เพื่อสร้างความสะดวกสบายและตอบสนองความต้องการอย่างรวดเร็ว และอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ (Health) สอดรับกระแสการดูแลสุขภาพ
          3. เกมสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อธุรกิจการค้าและการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พาณิชยนาวี Logistics และอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นฐานของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

          ในปี 2565 EXIM BANK จึงมีนโยบายมุ่งเน้นบทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Bank)” ด้วยภารกิจ ดังนี้
          “ซ่อม” อุตสาหกรรมที่ประสบวิกฤต เช่น สายการบิน พาณิชยนาวี และอุตสาหกรรมที่เริ่มไปต่อไม่ได้ โดยสนับสนุนให้เกิดการ Transform ธุรกิจและพัฒนากิจการตอบโจทย์ลูกค้ายุค Next Normal
          “สร้าง” อุตสาหกรรมสู่อนาคต อาทิ การสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ธุรกิจที่เสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio, Circular, Green Economy : BCG Economy) และสร้างนักรบเศรษฐกิจหน้าใหม่ที่พร้อมบุกตลาดโลก โดยมุ่งเน้นบ่มเพาะกลุ่มผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก (Indirect Exporters) ให้ผันตัวมาเป็นผู้ส่งออก เริ่มต้นจากการค้าออนไลน์บน EXIM Thailand Pavilion ที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม Alibaba
          “เสริม” การค้าการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่ อาทิ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP)
           “สานพลัง” กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเดินเกมเปลี่ยนแปลงประเทศไทย สร้างคุณค่าและผลลัพธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน

          กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ในการเดินหน้าภารกิจข้างต้น พื้นฐานสำคัญคือ คน (People) ซึ่ง EXIM BANK จะเร่งพัฒนาองค์กรให้เป็น Empathic Workplace ที่ดึงดูดให้บุคลากรภายในองค์กรพร้อมส่งมอบผลลัพธ์ที่ดีไปสู่ลูกค้า ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs และผู้คนในสังคมที่ยังเปราะบาง ให้เข้มแข็ง มีศักยภาพ และยืดหยุ่น พร้อมรับมือและปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและส่งมอบสินค้าที่ตรงใจผู้บริโภค อันจะนำไปสู่ผลกำไร (Profit) ที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลกโดยรวม บนรากฐานของการพัฒนากระบวนการ (Process) และช่องทาง (Platform) ใหม่ ๆ ที่จะไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีในรูปของบริการทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน เพื่อตอบโจทย์โลกอนาคตอย่างยั่งยืน

          ด้านผลการดำเนินงานปี 2564 แม้ว่า COVID-19 จะทำให้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ แต่ EXIM BANK สามารถพลิกผลประกอบการกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง โดยมีกำไรสุทธิสูงถึง 1,531 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี ด้วยการขยายบทบาทการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งด้านการเงิน (สินเชื่อและประกัน) และไม่ใช่การเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2564 EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 152,773 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 17,545 ล้านบาทหรือ 12.97% ซึ่งเป็นผลงานด้านสินเชื่อที่สูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการมา 28 ปี แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 40,259 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 112,514 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 13.50% จากปีก่อน สะท้อนบทบาทการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) ตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด โดยการให้สินเชื่อทั้งหมดของ EXIM BANK ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 196,726 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 70,797 ล้านบาท หรือคิดเป็น 35.99%

          สำหรับการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศ ณ สิ้นปี 2564 EXIM BANK มีวงเงินสะสมสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวม 102,152 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 66,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,870 ล้านบาทหรือ 17.50% เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ EXIM BANK ยังสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ New Frontiers รวมถึง CLMV โดยปี 2564 มีสินเชื่อคงค้างจำนวน 50,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,312 ล้านบาทหรือ 25.94% เมื่อเทียบกับปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้รุกตลาด New Frontiers รวมถึง CLMV ซึ่งมีโอกาสทางธุรกิจและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง

          ด้านบริการประกันการส่งออกและการลงทุน ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย ปี 2564 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 153,466 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นถึง 18,394 ล้านบาท หรือ 13.62% เมื่อเทียบกับปีก่อน

          นอกจากนี้ EXIM BANK ได้ทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการทั้งในด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน ด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการชำระเงิน พักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านข้อมูลและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ผ่านการให้คำปรึกษาและจัดอบรม/สัมมนาออนไลน์ ทั้งนี้ ปี 2564 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการกว่า 12,800 ราย ด้วยวงเงินรวมประมาณ 73,800 ล้านบาท

          EXIM BANK มีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 2.73% ลดลงจาก 3.81% ณ สิ้นปี 2563 โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 4,166 ล้านบาท แต่มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 11,670 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 280.11%

          นอกจากนี้ ในปี 2564 EXIM BANK ยังได้รับอนุมัติเงินเพิ่มทุนจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 4,198 ล้านบาท นับเป็นการเพิ่มทุนครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยได้รับเงินแบ่งจ่ายงวดที่ 1 จำนวน 2,198 ล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน 2564 และงวดที่ 2 อีกจำนวน 2,000 ล้านบาทภายในปี 2565 เปรียบเสมือนการเติมน้ำมันให้ EXIM BANK เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถทำการค้าการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างเข้มแข็ง

          “โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Next Normal ที่ผู้คนเริ่มปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะจาก COVID-19 พร้อมกับโอกาสที่กำลังเข้ามาตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การสร้างผู้ส่งออกใหม่จากกลุ่มผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออกที่มีจำนวนมากจะทำให้ธุรกิจส่งออกของไทยมีจำนวนรายและมูลค่าเพิ่มขึ้น เป็นการขยายฐานการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมั่นคง ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของ GDP ขณะเดียวกันยังช่วยนำพาผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมี EXIM BANK ทำหน้าที่ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลังการพัฒนาผู้ประกอบการไทยตลอดห่วงโซ่อุปทาน สร้างผลผลิตเป็นนักรบเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและภาคการส่งออกให้กลับมาเติบโตได้ทวีคูณและยั่งยืน” ดร.รักษ์ กล่าว
 
  กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK มอบนโยบายปี 2565 แก่พนักงาน ยกระดับบุคลากร
พร้อมเดินหน้า ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง พัฒนาเศรษฐกิจไทย
 
           ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK มอบนโยบายการดำเนินงานปี 2565 ของ EXIM BANK แก่ผู้บริหารและพนักงานธนาคารในงานกรรมการผู้จัดการพบพนักงาน (Town Hall Meeting) จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ (Strive for Excellence)” เพื่อขอบคุณผู้บริหารและพนักงานที่ร่วมกันสร้างความสำเร็จ ทั้งผลการดำเนินงานและรางวัลเกียรติยศที่ได้รับในปี 2564 โดยปี 2565 EXIM BANK ยังให้ความสำคัญกับการสร้างองค์กรให้เป็น Empathic Workplace ที่พัฒนาและดูแลเอาใจใส่บุคลากร อันเป็นทรัพยากรที่มีค่าสูงสุด พร้อมให้สัญญาร่วมกันที่จะดำเนินภารกิจ “ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” พัฒนาผู้ประกอบการ อุตสาหกรรม และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและภาคการส่งออกไทย ทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายสินเชื่อคงค้าง 165,000 ล้านบาทในปี 2565 และสร้างบ้านที่น่าอยู่ มีบุคลากรที่เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร ประเทศไทย ตลอดจนระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลก โดยมีผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารระดับฝ่ายเข้าร่วมงาน ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ ควบคู่กับการประชุมทางออนไลน์กับพนักงานสำนักงานใหญ่ สาขา และสำนักงานผู้แทนในต่างประเทศ เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK สนับสนุนสินเชื่อ ESG แก้ปัญหาโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง  
           EXIM BANK ชี้ปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น เพิ่มต้นทุนทางธุรกิจมากขึ้น พร้อมร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน เร่งขยายสินเชื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ช่วยธุรกิจไทยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม

         ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งทั่วโลก กระทบต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน บั่นทอนการพัฒนาทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเพิ่มต้นทุนการดำเนินงานของทุกภาคส่วน โดย The Economist Intelligence Unit (EIU) หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจชั้นนำของโลก คาดการณ์ว่า ภายในปี 2593 ภาวะโลกร้อนจะเพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจโดยตรงต่อโลกถึง 7.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ผ่านมาจึงเกิดความพยายามที่จะบูรณาการความร่วมมือกันทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ มีการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก อาทิ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ได้บรรลุข้อตกลงเพื่อควบคุมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลักดันการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งประเทศไทยกำหนดเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี 2608 ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีกลไกการทำงานที่เรียกว่า กลไกการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) กำหนดหลักการลดความได้เปรียบด้านต้นทุนของสินค้านำเข้าจากประเทศนอก EU ขณะที่สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ อยู่ระหว่างการพิจารณาออกมาตรการที่มีแนวทางการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตามการปล่อยคาร์บอน มาตรการเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจและ Supply Chain ของระบบเศรษฐกิจโลก ทำให้ผู้ส่งออกของแต่ละประเทศ รวมถึงผู้ส่งออกไทย ต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชย

         กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK ในฐานะธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่มีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาประเทศและส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของโลก จึงดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลที่ดีและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการทำงาน มุ่งตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สู่เป้าหมายการเป็นธนาคารที่รับผิดชอบและยั่งยืน โดยดำเนินภารกิจ “ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว การเร่งสร้างอุตสาหกรรมสู่อนาคตจึงดำเนินไปเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว นั่นคือ การเปลี่ยน “แรงกดดันของปัญหาและมาตรฐานใหม่ด้านสิ่งแวดล้อม” เป็น “โอกาสทางธุรกิจ” ที่จะเติบโตไปด้วยกันกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน EXIM BANK จึงได้กำหนดและดำเนินนโยบายด้านการบริหารจัดการการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ มุ่งสนับสนุนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากความท้าทายในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดี (Environmental, Social, Governance : ESG) และธุรกิจที่มุ่งให้เกิดผลตอบแทนทางการเงิน ควบคู่กับผลตอบแทนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ ธุรกิจสีเขียว และพลังงานทดแทน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา EXIM BANK สนับสนุนทางการเงินให้แก่ธุรกิจพลังงานทดแทนมากกว่า 194 โครงการ กำลังการผลิต 6,455 เมกะวัตต์ โดยเป็นการสนับสนุนทางการเงินรวม 57,392 ล้านบาท สร้างมูลค่าการลงทุน 373,572 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบัน EXIM BANK มีสัดส่วนการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจสีเขียวประมาณ 1 ใน 3 ของยอดคงค้างสินเชื่อโดยรวม

         กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า EXIM BANK ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวตามหลัก ESG และมาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ “สินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan” สนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาผ่อนสูงสุด 7 ปี และ “สินเชื่อ Solar Orchestra Loan” โดยความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK กับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด และบริษัท นีโอ คลีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด เพื่อสนับสนุนการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา พร้อมขึ้นทะเบียนขายคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้ประกอบการไทย ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจาก EXIM BANK 100% ของมูลค่าการลงทุน อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2.75% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนสูงสุด 7 ปี

         นอกจากการสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยผู้ประกอบการไทยปรับปรุง
ประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการลดและบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแล้ว ที่ผ่านมา EXIM BANK ยังมีส่วนริเริ่มและ
ผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน โดยการเข้าเป็นสมาชิกก่อตั้งและกรรมการในองค์กรต่าง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์
การจัดตั้งเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและการลงทุนในธุรกิจสีเขียว อาทิ Thailand Carbon Neutral Network, Carbon Market
Club และ RE100 Thailand Club ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาจัดตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทยเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจไทยบรรลุ
เป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Net Zero) รวมทั้งอยู่ระหว่างการพัฒนากลไกความร่วมมือเพื่อสนับสนุน
ทางการเงินให้แก่ธุรกิจที่มีส่วนลดหรือแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน

         “EXIM BANK พร้อมใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ และเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ ในการออกแบบและให้บริการเพื่อซ่อม สร้าง เสริม และสานพลังที่จะพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทยให้แข่งขันทางธุรกิจได้ในระยะยาว ควบคู่กับการเสริมสร้างการพัฒนาสังคมและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นก้าวแรกของการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวและฟื้นธุรกิจในโลกยุค Next Normal ได้เร็วที่สุด และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกที่ต้องอาศัยความร่วมมือขนานใหญ่ของทุกภาคส่วนและทุกประเทศทั่วโลกช่วยกันทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่และดีกว่าเดิมในวันข้างหน้า” ดร.รักษ์ กล่าว
 
  EXIM BANK สนับสนุนทางการเงิน 1,287 ล้านบาทให้กลุ่มเสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น
พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามและอินโดนีเซีย
ตามนโยบายขับเคลื่อนการค้า การลงทุน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
           EXIM BANK สนับสนุนทางการเงินจำนวน 39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,287 ล้านบาท สนับสนุนกลุ่มเสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น นำไปขยายการลงทุนและเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนาม และโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ในอินโดนีเซีย ตามนโยบายรัฐบาลและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ EXIM BANK

         ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และนายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SSP) ร่วมลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินของ EXIM BANK รวมจำนวน 39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,287 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตรวมกว่า 50 เมกะวัตต์ (สัญญารับซื้อไฟฟ้า 40 เมกะวัตต์) ที่จังหวัดกว๋างหงาย เวียดนาม และโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ในรูปแบบข้อตกลงการซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตจากระบบที่ติดตั้งบนหลังคาโรงงานหรืออาคารของผู้ประกอบการธุรกิจ โดยผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนแต่อย่างใด (Private Power Purchase Agreement : Private PPA) กำลังการผลิตรวมกว่า 30 เมกะวัตต์ ในอินโดนีเซีย ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้

         กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK บุกเบิกการสนับสนุนโครงการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในโครงการ
พลังงานทดแทนในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและนโยบาย
ของภาครัฐในการสร้างหลักประกันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา ควบคู่กับการส่งเสริมและ
สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสามารถขยายการลงทุนไปต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา EXIM BANK
สนับสนุนวงเงินสินเชื่อให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนในโครงการพลังงานทดแทน อัตราการขยายตัวกว่า 50% ต่อปี ขณะที่กลุ่ม SSP
เป็นนักลงทุนไทยที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเวียดนาม
และอินโดนีเซียเป็นเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญของนักลงทุนต่างชาติ สอดคล้องกับแผนความร่วมมือด้านพลังงานภูมิภาคอาเซียน
ที่กำหนดนโยบายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีสัดส่วน 35% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมภายในปี 2568

         “EXIM BANK เดินหน้าขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนของไทย ควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและโลกโดยรวม ภายใต้ความร่วมมือในหลายมิติกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ลูกค้าที่มีศักยภาพให้เกิดการขยาย
ธุรกิจและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและองค์ความรู้ภายในภูมิภาคอาเซียนเพื่อผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ
เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ที่เสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในท้องถิ่นและประชาคมโลกในมิติ
เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” ดร.รักษ์ กล่าว
 
  EXIM BANK ร่วมเป็นวิทยากรหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง  
           ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจปี 2565 ความท้าทายและการปรับตัวในภาคเกษตรกรรมเพื่อแข่งขันในเวทีโลก ในการอบรมหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่ 1 หัวข้อ “ภาคการเงินและการบริหารเพื่อต่อยอดธุรกิจ กับช่วงวิกฤตที่ท้าทาย” จัดโดยมูลนิธิเกษตราธิการ สำนักงานพัฒนาวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK พบปะ บจก. รักบ้านเกิด หารือแนวทางสนับสนุนเกษตรกรไทยให้เข้มแข็ง  
           ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK พบปะนายพิรชัย เบญจรงคกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด โอกาสเข้าพบเพื่อสวัสดีปีใหม่ 2565 และหารือแนวทางความร่วมมือในการสนับสนุนเกษตรกรไทยให้เข้มแข็ง สามารถเริ่มต้นและส่งออกได้อย่างยั่งยืน ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK หารือแนวทางส่งเสริมการค้าและการลงทุนไทย-สาธารณรัฐแอฟริกาใต้  
           นางสาวดรัสวันต์ ชูวงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK พบปะหารือกับนางโธเบก้า ดลามินี่ อุปทูตรักษาราชการ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทย เกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุนไทย-สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK ร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก
สนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ
 
           นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ลงนามร่วมกับ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจ
แห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิกอีก 20 แห่ง ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในคดี
อาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อให้การประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ธนาคารในการป้องกันและระงับยับยั้ง
การกระทำความผิดของคนร้ายทุกรูปแบบเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับรูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เมืองทองธานี) เมื่อเร็ว ๆ นี้
 
  EXIM BANK ร่วมยินดี  
  ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย  
           นางขวัญใจ เตชะเสนสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ร่วมแสดงความยินดีกับ
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) รวมทั้งหารือแนวทางความร่วมมือในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยภายใต้บทบาทของ EXIM BANK ณ สำนักงาน กทท. เมื่อเร็ว ๆ นี้
 
  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ครบรอบ 42 ปี  
           นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ร่วมแสดงความยินดีกับนายธิวา สุดใจ บรรณาธิการข่าว และนางสาววิชชุดา จิตจันทร์ บรรณาธิการข่าวการเงิน-การคลัง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ในโอกาสครบรอบ 42 ปี ณ อาคารอินเตอร์ลิงค์ ทาวเวอร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK แต่งตั้งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ  

 

         EXIM BANK แต่งตั้งนายชลัช รัตนบุญนิธิ เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ดูแลสายงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

         EXIM BANK แต่งตั้งนายชลัช รัตนบุญนิธิ เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ดูแลสายงานวิสาหกิจ
ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
ครอบคลุมงานสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
ให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจส่งออกทั้งในรูปแบบศูนย์กลางการดูแลลูกค้าและช่องทางสาขา
การบริหารความสัมพันธ์กับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนและพัฒนาผู้ส่งออก SMEs การให้
คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจส่งออกและบริการด้านต่าง ๆ ของธนาคาร ตลอดจนการพัฒนา
ศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการไทยสู่มาตรฐานสากลและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1
กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

         นายชลัชจบการศึกษาปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย ซานเบอร์นาร์ดิโน สหรัฐฯ และปริญญาตรี บัญชีบัณฑิต สาขาระบบสารสนเทศทางการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการธุรกิจภาครัฐ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ก่อนเข้าร่วมงานกับ EXIM BANK นายชลัช ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
 
  EXIM BANK สนับสนุนน้ำดื่มบรรเทาความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
ผ่านศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น)
 
           นางวันเพ็ญ อรรชุนเดชะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK มอบน้ำดื่มจำนวน 5,000 ขวด ให้แก่นายไชยา โชติวรรธกวณิช ผู้อำนวยการศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และบริการแก่ประชาชนทั่วไปที่ศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 กรุงเทพมหานคร รวมทั้งประชาชนในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง ภายใต้โครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) “EXIM เพื่อสุขภาพชุมชน” ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK มอบปฏิทินเก่าให้มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
ใช้จัดทำหนังสืออักษรเบรลล์สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น
 
           นางวันเพ็ญ อรรชุนเดชะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ส่งมอบปฏิทินตั้งโต๊ะไม่ใช้แล้ว ซึ่งรับบริจาคจากพนักงาน EXIM BANK ให้กับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อนำไปจัดทำหนังสืออักษรเบรลล์สำหรับใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนในโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ โดยมีนางสาวจรัสศรี ศรีมณี ผู้อำนวยการสำนักบริหารมูลนิธิฯ เป็นผู้รับมอบ ณ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  หน้าหลัก  I  Share โลกเศรษฐกิจ  I  เปิดประตูสู่ตลาดใหม่  I  ส่องเทรนด์โลก  I  เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ
CEO Talk  I  แนะนำบริการ  I  สรุปข่าว