EXIM BANK ลงนามถวายพระพรสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 
            นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK นำคณะผู้บริหาร EXIM BANK ถวายแจกันดอกไม้เบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์และร่วมลงนามถวายพระพรสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ววันและทรงมีพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเร็ว ๆ นี้
 
  EXIM BANK แถลงผลการดำเนินงานปี 63 สะท้อนการเติบโตก้าวกระโดดในรอบ 5 ปี
เป็นผลจากการปรับองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อเป็นผู้นำ ‘องค์กรการเงินเพื่อการส่งออก’ ระดับโลก
 
            นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK แถลงในโอกาสจะครบวาระดำรงตำแหน่งสิ้นเดือนมกราคม 2564 ภายหลังได้รับการต่อวาระสมัยที่ 2 จนครบอายุ 60 ปี ต่อเนื่องจากการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559 ว่า EXIM BANK ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ (Transformation) ตามแผนแม่บท 10 ปี (ปี 2560-2570) ทำให้องค์กรพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภายนอกได้เป็นอย่างดี แม้ปี 2563 ทุกภาคส่วนทั่วโลกต้องเผชิญความท้าทายจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง ยังมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและเป็นไปตามเป้าหมายที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำองค์กรการเงินเพื่อการส่งออก (Export Credit Agency : ECA) ระดับภูมิภาคในปี 2565 และเป็น ECA ระดับโลกในปี 2570 สะท้อนได้จากสัดส่วนมูลค่าการสนับสนุนธุรกรรมด้านการค้าและการลงทุนไทยของ EXIM BANK ต่อรายได้มวลรวมประชาชาติ (Gross National Income : GNI) อยู่ที่ 1.6% สูงกว่า ECA อื่น ๆ ในอาเซียน ซึ่งอยู่ในระดับ 0.5-0.7% ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ในปี 2563 เติบโตในทุกด้านตามแผนยุทธศาสตร์ และเติบโตอย่างก้าวกระโดดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา  
            ยุทธศาสตร์ที่ 1 เชื่อมไทย เชื่อมโลก ด้วยการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ EXIM BANK สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายการส่งออกและลงทุนในต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดใหม่ (New Frontiers) ทั้งในและนอกอาเซียน
          การเติบโตก้าวกระโดดในรอบ 5 ปี (2558-2563) :
          • ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อขยายตัว 84% จาก 73,540 ล้านบาท เป็น 135,228 ล้านบาท (เฉลี่ย 13% ต่อปี)
ในจำนวนนี้ เป็นยอดคงค้างสินเชื่อ SMEs เพิ่มขึ้น 86% จาก 16,883 ล้านบาท เป็น 31,461 ล้านบาท (เฉลี่ย 13% ต่อปี)
          • จำนวนลูกค้าโต 163% จาก 1,631 ราย เป็น 4,282 ราย (เฉลี่ย 21% ต่อปี) ในจำนวนนี้ ลูกค้า SMEs เพิ่มขึ้น 194% จาก 1,192 ราย เป็น 3,507 ราย (เฉลี่ย 24% ต่อปี) คิดเป็นสัดส่วนสนับสนุนผู้ส่งออก SMEs ได้ 15% ของทั้งประเทศ
          • ยอดสินเชื่อคงค้างใน New Frontiers (รวมกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือ CLMV) ขยายตัว 53% จาก 26,022 ล้านบาท เป็น 39,754 ล้านบาท (เฉลี่ย 9% ต่อปี)

          ผลการดำเนินงานปี 2563 :  
          • มีสินเชื่อคงค้าง 135,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,360 ล้านบาท หรือ 11% เมื่อเทียบกับปี 2562 แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 36,093 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 99,135 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) รวม 168,035 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs 60,689 ล้านบาท (สัดส่วน 36%)
          • มีวงเงินสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวม 93,622 ล้านบาท เป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 56,384 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,930 ล้านบาท หรือ 19% เมื่อเทียบกับปีก่อน
          • มีสินเชื่อคงค้างเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ส่งออกและลงทุนใน New Frontiers จำนวน 39,754 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,487 ล้านบาท หรือ 13% เมื่อเทียบกับปีก่อน
          • เดือนธันวาคม 2563 EXIM BANK ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานผู้แทนในนครโฮจิมินห์ เวียดนาม จากธนาคารกลางเวียดนาม ทำให้ EXIM BANK มีสำนักงานผู้แทนครบ 4 แห่งใน CLMV เพื่อทำหน้าที่ให้บริการด้านคำปรึกษาแนะนำและบริการทางการเงินแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยที่สนใจขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

          ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ EXIM BANK สนับสนุนการลงทุนในประเทศเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S-curve) และพื้นที่เป้าหมาย อาทิ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดคงค้างสินเชื่อในประเทศขยายตัว 61% จาก 26,489 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 42,751 ล้านบาทในปี 2563 (เฉลี่ย 10% ต่อปี) และเมื่อเทียบกับปี 2562 เพิ่มขึ้น 7,237 ล้านบาท หรือ 20%

          ยุทธศาสตร์ที่ 3 ป้องกันความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุนไทยในต่างประเทศ EXIM BANK ขยายบริการประกันการส่งออกและการลงทุน รวมทั้งบริการวิเคราะห์ความเสี่ยงผู้ซื้อและธนาคารผู้ซื้อเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้นำเข้าในต่างประเทศอาจชำระเงินล่าช้าหรือประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าและบริการ โดยปริมาณธุรกิจสะสมบริการประกันเพิ่มขึ้น 105% จาก 66,018 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 135,071 ล้านบาทในปี 2563 (เฉลี่ย 15% ต่อปี) และเมื่อเทียบกับปี 2562 เพิ่มขึ้น 13,699 ล้านบาท หรือ 11%

          ยุทธศาสตร์ที่ 4 เป็นกลไกสำคัญในระบบนิเวศ สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ EXIM BANK ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXIM Excellence Academy: EXAC) เมื่อปี 2561 เพื่อให้บริการและสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแบบครบวงจร (One Stop Service) โดยมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้ส่งออกได้หรือส่งออกได้มากขึ้น ผ่านการอบรม บ่มเพาะ ให้คำปรึกษา จับคู่ธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนการค้าออนไลน์ (E-trading) โดยการบูรณาการข้อมูลและความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ โครงการส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ระหว่าง EXIM BANK กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ทำให้ผู้ประกอบการภาคเกษตรกรรมของไทยมีสินค้านวัตกรรมและเจรจาค้าขายกับประเทศคู่ค้าได้ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกราว 600 ล้านบาท

          นอกจากนี้ EXIM BANK ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าและผู้ประกอบการทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน จากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 โดยเฉพาะ SMEs โดยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดนาน 6 เดือนตั้งแต่ต้นปี  2563 และได้ออกมาตรการฟื้นฟูกิจการลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากผลกระทบของ COVID-19 ตามความต้องการของกิจการ รวมทั้งเปิดคลินิกให้คำปรึกษา อบรมสัมมนาและจับคู่ธุรกิจทางออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการจำนวน 6,400 ราย วงเงินรวมประมาณ 55,000 ล้านบาท

          ยุทธศาสตร์ที่ 5 ก้าวเข้าสู่ธนาคารดิจิทัล EXIM BANK ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในกระบวนการทำงานและการให้บริการลูกค้า อาทิ การพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าสินเชื่อและประกันการส่งออก การพัฒนาแพลตฟอร์ม Thailand Export Readiness Assessment & Knowledge Management (TERAK) ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อใช้ประเมินความพร้อมด้านการส่งออกของผู้ประกอบการและจัดกิจกรรมให้ความรู้และจับคู่ธุรกิจ เหล่านี้ ทำให้ EXIM BANK สามารถปรับตัวและบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดี

          ยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนาธนาคารเพื่อความยั่งยืน EXIM BANK ปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้าและการบริหารจัดการองค์กร รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลตลอดเส้นทางการทำงานที่ EXIM BANK และการมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดย EXIM BANK สามารถบริหารจัดการการเงินและธุรกิจ ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และการยึดมั่นในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อความยั่งยืน จนทำให้องค์กรยังมีฐานะการเงินในระดับที่แข็งแกร่ง มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 3.81% จากจำนวนสินเชื่อด้อยคุณภาพ 5,153 ล้านบาท นอกจากนี้ ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (TFRS 9) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 EXIM BANK มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) 11,977 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) 232.44% ส่งผลให้ในปี 2563 EXIM BANK มีกำไรก่อนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และสำรองอื่น ๆ เท่ากับ 2,250 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจภายนอกที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ EXIM BANK มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 1,340 ล้านบาท

          ปี 2564 EXIM BANK ยังคงเดินหน้าสนับสนุนผู้ส่งออกและนักลงทุนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงมุ่งเน้นสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเริ่มต้นและขยายธุรกิจได้ สำหรับการเยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 EXIM BANK ยังคงช่วยเหลือลูกค้าฟื้นฟูกิจการตามสภาพคล่องของธุรกิจ และออกมาตรการพักชำระหนี้ “เงินต้น-ดอกเบี้ย” ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง รวมทั้งขยายระยะเวลาอนุมัติมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาว

          การพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องทำให้ EXIM BANK มีผลการดำเนินงานและการพัฒนาองค์กร ทั้งด้านธุรกิจและการบริหารจัดการองค์กร จนได้รับการชื่นชมและสนับสนุนจากลูกค้าและพันธมิตรต่าง ๆ จากภาครัฐ และภาคเอกชน นำมาซึ่งรางวัลเกียรติยศต่าง ๆ ตลอดปี 2563 ประกอบด้วย 
          1. รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2563 จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK รางวัลความสามารถในการจัดการวิกฤต COVID-19 ดีเด่น และรางวัลความร่วมมือเพื่อการพัฒนาดีเด่น ด้านความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ประเภทดีเด่น
          2. รางวัล TQM - Best Practices 2020 ด้านการเอาใจใส่บุคลากร
          3. รางวัลการเตรียมความพร้อมดีเด่นในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 
ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2564 
          4. โล่ประกาศเกียรติคุณ “อาคารราชการต้นแบบด้านการจัดการน้ำเสีย” ระดับทอง
 จากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
           นอกจากนี้ EXIM BANK ยังก้าวกระโดดเป็นรัฐวิสาหกิจคุณธรรมและโปร่งใสจากผลประเมิน Integrity and Transparency Assessment (ITA) ปี 2563 ด้วยคะแนนที่เพิ่มขึ้นระดับสูงสุด จากอันดับที่ 21 เป็นอันดับที่ 4 ของรัฐวิสาหกิจไทย 53 แห่งในปี 2563

           “วันนี้ EXIM BANK ยังทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกไทย เสมือนการดูแลต้นไม้ใหญ่ของประเทศ ให้แตกกิ่งก้านสาขา พยุงภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโต ยั่งยืนไปด้วยกัน ท่ามกลางความท้าทายของปัจจัยแวดล้อมและลมพายุ เรายังทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนสร้างนวัตกรรมดูแลผลผลิตของต้นไม้นี้ให้เติบโต งอกงาม มีรากแก้วและรากฝอยที่แข็งแรงไปด้วยกัน ขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรและระบบการทำงานที่ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของสังคมต่อ ECA แห่งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า ทุกภาคส่วนจะยังคงดำเนินภารกิจหน้าที่ ตลอดจนกิจการต่าง ๆ ของตนเองต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง สร้างงาน สร้างรายได้ และคุณภาพชีวิตของประชากรไทยและภูมิภาคต่าง ๆ ไปด้วยกัน นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาคมโลก” นายพิศิษฐ์กล่าว
 
  EXIM BANK ขยายระยะเวลา “มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต”
 
            นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา EXIM BANK ได้ออกมาตรการสินเชื่อ
เพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
 โดยให้การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยอัตราพิเศษแก่ผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ระยะเวลาการขออนุมัติสินเชื่อสิ้นสุดลงเมื่อเดือนธันวาคม 2563 วงเงินอนุมัติแล้วมีจำนวนรวมกว่า 3,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม EXIM BANK จึงขานรับนโยบายจากภาครัฐ ขยายระยะเวลาขออนุมัติ “มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ตลอดจนการป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นี้

          มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นวงเงินกู้ระยะยาว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก รวมถึงผู้นำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อพัฒนาประเทศให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ หรือต่อเติมปรับปรุงโรงงาน ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 เท่ากับ 2% ระยะเวลาชำระคืนสูงสุด 7 ปี รวมระยะเวลา Grace Period 1 ปี สามารถใช้หนังสือค้ำประกัน บสย. เป็นหลักประกันร่วมกับบุคคลค้ำประกันได้ ฟรี! ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน บสย. 4 ปี ฟรี! ค่าธรรมเนียม Front-end Fee แถมวงเงิน Forward Contract 1.5 เท่าของวงเงินสินเชื่อ โดยขยายระยะเวลาให้บริการตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 มิถุนายน 2564

          “การขยายระยะเวลาให้บริการมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจมาตรการของ  EXIM BANK เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกจากผลกระทบของการแพร่ระบาด CVID-19 เพิ่มเติมจากมาตรการพักชำระหนี้ เงินต้น-ดอกเบี้ย ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง และมาตรการฟื้นฟูกิจการลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากผลกระทบของ COVID-19 เพื่อช่วยให้ลูกค้าและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถดำเนินกิจการและเติบโตต่อไปได้ ขณะที่ธนาคารจะพิจารณาผ่อนผันและประคับประคองให้ลูกค้าที่มีปัญหาสภาพคล่องสามารถยืดระยะเวลาคืนหนี้หรือได้รับการปรับปรุง
โครงสร้างหนี้ ชะลอการเกิดหนี้ NPLs ในระบบธนาคาร และขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทยยังสามารถขยายตัวได้ พร้อมรับโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป” นายพิศิษฐ์กล่าว
 
  EXIM BANK ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง
พร้อมเจาะกลุ่มฟื้นฟูกิจการลูกค้าให้มีสภาพคล่องและเติบโตต่อไปได้
 
            นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ในการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ต่อภาคการส่งออกของไทย EXIM BANK ได้ออก “มาตรการพักชำระหนี้ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง” เพื่อเข้าไปดูแล ช่วยเหลือ สนับสนุนลูกค้า ทั้งที่เป็นผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออกและผู้ส่งออก ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือพื้นที่สีแดง (Red zone) สีส้ม (Orange zone) และสีเหลือง (Yellow zone) ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้

          • พักชำระหนี้เงินต้น ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน
          • พิเศษ! พักชำระดอกเบี้ย เป็นระยะเวลาสูงสุด 3 เดือน สำหรับผู้ประกอบการอาหารแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง และผักผลไม้
          ลูกค้า EXIM BANK สามารถแจ้งความประสงค์ขอพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้ทางเว็บไซต์ของธนาคาร www.exim.go.th 
หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ดูแลลูกค้า ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 มีนาคม 2564 โดยธนาคารจะติดต่อกลับภายใน 3 วันทำการ

          ขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังมีมาตรการฟื้นฟูกิจการลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากผลกระทบของ COVID-19 โดยจำแนกลูกค้าเป็น 4 กลุ่มตามความต้องการของกิจการ ก่อนจะเข้าไปดูแลในรูปแบบการ “ส่งเสริม-ผ่อนปรน-ขยายระยะเวลา-ประคับประคอง” ดังนี้
          1. ลูกค้าที่มีแนวโน้มเติบโตได้ EXIM BANK จะ “ส่งเสริม” ให้มีสภาพคล่องเพียงพอและมีความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง
          2. ลูกค้ามีรายได้ลดลง แต่สามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง EXIM BANK จะ “ผ่อนปรน” เงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการชำระเงินต้นได้หมด รวมทั้งสามารถขอสินเชื่อเพิ่มได้
          3. ลูกค้าที่ต้องการการ “ขยายระยะเวลา” การชำระคืนหนี้ เพื่อรอให้กิจการผ่านพ้นวิกฤต หรือต้องการการปรับปรุงโครงสร้างการผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยบางส่วน EXIM BANK จะพิจารณาผ่อนผันให้
          4. ลูกค้าที่ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ EXIM BANK จะเข้าไปช่วยเหลือ “ประคับประคอง” ให้ลูกค้าสามารถเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงการชำระหนี้ ช่วยชะลอการเกิดหนี้ NPLs
          ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถขอขยายระยะเวลา เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระเงินกู้ให้สอดคล้องกับธุรกิจ และขอรับวงเงินสินเชื่อเพิ่มได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2564

          EXIM BANK ติดตามสถานการณ์ผลกระทบของ COVID-19 อย่างใกล้ชิด และออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยช่วยเหลือลูกค้าด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดนาน 6 เดือนไปแล้วกว่า 1,400 ราย เป็นจำนวนเงิน 36,853 ล้านบาท และหลังจากนั้น มีลูกค้าติดต่อขอรับมาตรการฟื้นฟูกิจการ เป็นจำนวนเงิน 4,050 ล้านบาท ล่าสุด EXIM BANK จึงได้เพิ่มมาตรการที่จะเข้าไปดูแล ช่วยเหลือ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แม้จะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ อาทิ ขาดแคลนวัตถุดิบ ขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนการขนส่งเพิ่มสูงขึ้น หรือผู้ซื้อปฏิเสธสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอาหาร อาหารทะเลแช่แข็ง และผักผลไม้ของไทย เพื่อช่วยให้ภาคเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยสามารถเติบโตต่อไปได้ รอจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ของผู้บริโภคต่อสินค้าส่งออกของไทยในระยะถัดไป

 
  EXIM BANK ออกมาตรการ “พักชำระหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย”
ช่วยเหลือลูกค้าในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง
 
           นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ในการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ต่อภาคการส่งออกของไทย EXIM BANK ได้ออก “มาตรการพักชำระหนี้ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง” เพื่อเข้าไปดูแล ช่วยเหลือ สนับสนุนลูกค้า ทั้งที่เป็นผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออกและผู้ส่งออก ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือพื้นที่สีแดง (Red zone) สีส้ม (Orange zone) และสีเหลือง (Yellow zone) ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้

         พักชำระหนี้เงินต้น ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน
         พิเศษ! พักชำระดอกเบี้ย เป็นระยะเวลาสูงสุด 3 เดือน สำหรับผู้ประกอบการอาหารแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง และผักผลไม้
         ภายใต้ “มาตรการพักชำระหนี้ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง” ลูกค้า EXIM BANK สามารถขอพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย โดยแจ้งความประสงค์ผ่านเว็บไซต์ของธนาคาร www.exim.go.th หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ดูแลลูกค้า ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 มีนาคม 2564 โดยธนาคารจะติดต่อกลับภายใน 3 วันทำการ

         EXIM BANK ได้ติดตามสถานการณ์ผลกระทบของ COVID-19 อย่างใกล้ชิด และได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2563 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือลูกค้าโดยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดนาน 6 เดือนไปแล้วกว่า 1,400 ราย เป็นจำนวนเงิน 36,853 ล้านบาท และหลังจากนั้น มีผู้ประกอบการติดต่อขอรับมาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบการหลังสถานการณ์ COVID-19 เป็นจำนวนเงิน 4,050 ล้านบาท ในครั้งนี้ EXIM BANK พร้อมเข้าไปดูแล ช่วยเหลือ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

          “มาตรการช่วยเหลือของ EXIM BANK ในครั้งนี้เพื่อเยียวยาและบรรเทาผลกระทบให้แก่ลูกค้าที่อาจประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบหรือขาดแคลนแรงงานสำหรับผลิตสินค้า เนื่องจากการกักตัวหรือติดเชื้อ เป็นไปตามมาตรการภาครัฐเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการขนส่งและส่งออกสินค้า ตลอดจนปัญหาผู้ซื้อปฏิเสธสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอาหาร อาหารทะเลแช่แข็ง และผักผลไม้ของไทย เป็นผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ เพื่อรอโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสินค้าส่งออกของไทย ภายหลังการพัฒนาวัคซีนมีความคืบหน้าไปมาก” นายพิศิษฐ์กล่าว
 
  EXIM BANK จับมือ FedEx สนับสนุนผู้ส่งออกไทย เข้าถึงบริการทางการเงิน
และโอกาสทางธุรกิจระหว่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล
 
           EXIM BANK จับมือ FedEx ผู้ให้บริการขนส่งระดับโลกและหนึ่งในบริษัทขนส่งด่วนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลค้าขายระหว่างประเทศมากขึ้น โดยมี EXIM BANK สนับสนุนด้านสินเชื่อและประกันการส่งออก

         นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า EXIM BANK ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท เฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (FedEx) เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทยผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยทั้งสองหน่วยงานจะเชื่อมโยงข้อมูลและจัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเชิงลึกด้านการค้าระหว่างประเทศ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs เข้าถึงโอกาสทางธุรกิจระหว่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยมี EXIM BANK เป็นแหล่งเงินทุนและที่ปรึกษาด้านการเงิน รวมถึงการบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกค้าขายระหว่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ทั้งนี้ FedEx จะสนับสนุนลูกค้าของ EXIM BANK ด้วยบริการขนส่งที่รวดเร็วและไว้วางใจได้ สามารถเข้าถึงตลาดทั้งในประเทศและเครือข่ายต่างประเทศกว่า 220 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก 

         “คาดว่าความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK กับ FedEx จะช่วยให้การค้าระหว่างประเทศของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้ทั้งสองหน่วยงานสามารถตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคในโลกยุคปัจจุบันที่ต้องการสินค้าและบริการ ผ่านระบบที่มีความปลอดภัยและสะดวกรวดเร็ว สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ EXIM BANK ในด้านการเชื่อมไทย เชื่อมโลก ด้วยการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทย” นายพิศิษฐ์กล่าว
 
  สวัสดีปีใหม่ 2563  
  EXIM BANK สวัสดีปีใหม่ 2564 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย  
        นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK พร้อมด้วยผู้บริหาร EXIM BANK เข้าสวัสดีปีใหม่
และขอพรปีใหม่ 2564 จากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งหารือแนวทางการสร้างความร่วมมือในการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจค้าระหว่างประเทศเพื่อ
บรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ณ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเร็ว ๆ นี้
 
  EXIM BANK สวัสดีปีใหม่ 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  
        นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร EXIM BANK เข้า
สวัสดีปีใหม่และขอพรปีใหม่ 2564 จากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
พร้อมทั้งขอรับนโยบายในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศโดย
สอดคล้องกับรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ตลอดจนแนวทางการสนับสนุนธุรกิจส่งออกและการลงทุน
ไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ณ กระทรวงการคลัง เมื่อเร็ว ๆ นี้
 
  EXIM BANK สวัสดีปีใหม่ 2564 ปลัดกระทรวงการคลัง  
        นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร EXIM BANK เข้าสวัสดีปีใหม่และขอพรปีใหม่ 2564 จากนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งหารือแนวทางการดำเนินงานในการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจส่งออกและนักลงทุนไทย โดยสอดคล้องกับรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ภายใต้บทบาทของ EXIM BANK ณ กระทรวงการคลัง เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  หน้าหลัก  I  Share โลกเศรษฐกิจ  I  เปิดประตูสู่ตลาดใหม่  I  รู้ทันเกมการค้า I  เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ
เรื่องเล่าจาก CLMV  I  CEO Talk  I แวดวงคู่ค้า  I  แนะนำบริการ  I  สรุปข่าว