แหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าในกัมพูชาในปัจจุบันมาจาก 2 ช่องทาง คือ โรงผลิตไฟฟ้าในประเทศ และการนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศไทย สปป.ลาว และเวียดนาม ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 74.83 และ 25.17 ตามลำดับ โดยแหล่งผลิตไฟฟ้าในประเทศ ปี 2563 สามารถแยกตามประเภทการผลิตได้ดังนี้  
  ข้อมูลจาก Electricity Authority of Cambodia (EAC)  
            จากตารางข้อมูลด้านบน รัฐบาลมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในปี 2564 ให้ได้เท่ากับ 3,056 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 140 เมกะวัตต์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.80 จากปี 2563) ซึ่งการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าว เป็นการเพิ่มขึ้นจากแหล่งการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด

          ในปี 2564 นี้ รัฐบาลกัมพูชามีการเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หลายโครงการ ซึ่งหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจ คือ โครงการ National Solar Park ขนาด 100 MW ในจังหวัดกำปงชนัง โดยถือเป็นโครงการแรก ๆ ในกัมพูชาที่มีการเปิดประมูลให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมแข่งขันจากต่างประเทศ โดยโครงการนี้ มี ADB เป็นผู้ให้คำปรึกษา และสนับสนุนวงเงินกู้บางส่วนด้วย โครงการดังกล่าวแบ่งช่วงเวลาการเปิดประมูลออกเป็น 2 เฟส คือ

          - เฟสแรกขนาด 60 เมกะวัตต์ เปิดประมูลตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมประกวดราคาจากต่างประเทศ รวม 26 บริษัท และได้ผู้ชนะการประมูลจากประเทศไทย คือ บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิมคือ บริษัท ไพร์ม โรด อัลเทอร์เนทีฟ จำกัด) โดยเสนอราคาขายไฟฟ้าต่ำสุดที่ 0.03877 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (KWh)
          - เฟสสองขนาด 40 เมกะวัตต์ เปิดประมูลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา และมีกำหนดการให้ผู้ที่สนใจยื่นเอกสารการประมูลภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 น. เสนอราคาไม่เกิน 0.076 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (KWh)

          รัฐบาลกัมพูชาประกาศแผนการพัฒนาที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อีกร้อยละ 20 ภายใน 3 ปี นับจากปี 2562 ซึ่งถือเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยหลายบริษัทที่มีศักยภาพในด้านนี้ เข้าร่วมประมูลโครงการต่าง ๆ หรือทำแผนการพัฒนาโครงการเสนอต่อ Electricite Du Cambodge (EDC) พิจารณา เพื่อขอสัปทานโดยตรง อย่างไรก็ตามทางสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ได้ให้คำแนะนำว่า นักลงทุนควรศึกษารายละเอียดในการเข้ามาลงทุนอย่างละเอียด เพราะการเข้ามาลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้น ทุกโครงการจะต้องได้รับอนุมัติจาก EDC ก่อนเริ่มดำเนินการใด ๆ และไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้น จะต้องขายให้แก่ EDC แต่เพียงผู้เดียวในราคาที่ตกลงกันเท่านั้น ดังนั้นหากไม่ได้เป็นโครงการที่ EDC เปิดเสนอให้ผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนโดยตรงแล้ว ผู้ประกอบการควรจะศึกษารายละเอียด หรือสอบถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการฯ นั้น ๆ อย่างถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจลงทุน

สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับ CLMV เพิ่มเติมได้ที่
สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกรุงพนมเปญ : [email protected]
สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกรุงเวียงจันทน์ : [email protected]
สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกรุงย่างกุ้ง : [email protected]
 
  เขียนและเรียบเรียงข้อมูลโดย
นายชูพล สุขแสนเจริญ
หัวหน้าสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกรุงพนมเปญ
 
  แหล่งข้อมูล
          - รายงาน Salient Features of Power Development in the Kingdom of Cambodia Until December 2020, Electricity Authority of Cambodia.
          - ประกาศ Invitation for Bid, Development of a 40 MW Solar Photovoltaic Power Plant Project in Kampong Chhnang Province, Cambodia on 01 December 2020.
          - สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ
 
  หน้าหลัก  I  Share โลกเศรษฐกิจ  I  เปิดประตูสู่ตลาดใหม่  I  รู้ทันเกมการค้า  I  เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ
เรื่องเล่าจาก CLMV  I  CEO Talk  I แวดวงคู่ค้า  I  แนะนำบริการ  I  สรุปข่าว