ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มมีทิศทางแข็งค่าขึ้นจากกระแสเงินทุนบางส่วนที่เริ่มไหลกลับเข้าสู่สหรัฐฯ โดยมี
ปัจจัยสนับสนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นในทุกมิติ รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ที่
ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐดังกล่าว ทำให้เงินสกุลอื่นๆ เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
อ่อนค่าลงถ้วนหน้า รวมถึงเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ราว 31.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน หรืออ่อนค่าราว 1.8% ในเวลากว่า
1 เดือนเมื่อเทียบกับช่วงปลายเดือนมีนาคม 2561
          หากพิจารณาในภาพรวม การอ่อนค่าของเงินบาทดังกล่าวน่าจะส่งผลในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคส่งออกที่
ถึงแม้เงินบาทจะอ่อนค่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับที่เคยแข็งค่าขึ้นมาในช่วงก่อนหน้า โดยเงินบาทเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2560 ยังคงแข็งค่า
อยู่ราว 3% แต่อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่ผู้ส่งออกต้องเผชิญมากว่า 1 ปีได้ในระดับหนึ่ง
          อย่างไรก็ตาม กระแสเงินทุนที่ไหลกลับสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ที่มีต่อประเทศเศรษฐกิจใหม่หลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการเงินที่เปราะบาง ได้แก่ อาร์เจนตินา
ตุรกี และบราซิล ซึ่งมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่คล้ายกัน คือ มีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับต่ำเมื่อเทียบกับภาระหนี้ต่างประเทศ และ
ประสบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง ซึ่งถือเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ ในช่วงเวลา
4 เดือนนับตั้งแต่สิ้นปี 2560 สกุลเงินของประเทศต่างๆ เหล่านี้อ่อนค่าลงแล้วมากกว่า 5% ขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายประเทศที่อยู่
ในข่ายต้องจับตามอง เนื่องจากมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เปราะบางและสกุลเงินเริ่มมีสัญญาณอ่อนค่าจากกระแสเงินทุนไหลออกแล้ว
เช่นกัน อาทิ ปากีสถาน อินเดีย แอฟริกาใต้ รวมถึงประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เป็นต้น
 
  ที่มา : รวบรวมโดยฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK  
            สำหรับประเทศไทย ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ภาระหนี้
ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระแสเงินทุนไหลออกและการอ่อนค่า
ของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้กระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเท่าใดนัก แต่ในระยะถัดไปจำเป็นต้องจับตามอง
ผลกระทบที่อาจส่งผ่านมายังภาคส่งออก จากการที่หลายประเทศคู่ค้าของไทยกำลังเผชิญปัญหาเงินทุนไหลออกจนเริ่มกระทบต่อ
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและทำให้ค่าเงินอ่อนลงจนอาจกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเหล่านั้น ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกของไทย
ไปยังตุรกีและปากีสถานล่าสุดในเดือนมีนาคม 2561 เริ่มหดตัว ขณะที่มูลค่าส่งออกไปยังอาร์เจนตินา บราซิล ฟิลิปปินส์ และแอฟริกาใต้
แม้จะยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่ก็เริ่มชะลอลงมากเช่นกัน และหากกระแสเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศดังกล่าวยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะ
อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และแอฟริกาใต้ ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกใหม่ที่สำคัญของไทยที่มีสัดส่วนรวมกันราว 10% ของมูลค่า
ส่งออกรวมของไทย ก็อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในภาพรวมได้
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  หน้าหลัก   I   Share โลกเศรษฐกิจ   I   เรื่องเล่าระหว่างทาง   I   รู้ทันเกมการค้า
เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ   I   แวดวงคู่ค้า   I   แนะนำบริการ   I   สรุปข่าว