บทความในฉบับก่อนได้กล่าวถึงทางเลือกของผู้ส่งออกในการจัดการกับสินค้าที่ตกค้างหรือถูกทิ้งอยู่ที่ท่าเรือ ณ ประเทศปลายทาง จากการที่ผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ส่งออกไม่ว่าผู้ซื้อกับผู้ส่งออกจะตกลงค้าขายกัน
ด้วยเงื่อนไขการชำระเงินแบบใด หรือแม้แต่ในกรณีที่ผู้ซื้อชำระเงินมาแล้วบางส่วนก็ตาม ดังนั้นเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนบทความฉบับนี้
จึงขอยกกรณีที่ผู้ส่งออกรายหนึ่งจัดการกับสินค้าของตนเมื่อถูกคู่ค้าปฏิเสธการรับมอบสินค้า

          กรณีนี้เริ่มจากคุณพาณิชย์ (ผู้ส่งออก) ตกลงขายทุเรียนสดแก่คู่ค้า (ผู้ซื้อ) ในฮ่องกง โดยให้ผู้ซื้อโอนเงินมัดจำค่าสินค้ามาให้ก่อน
10% และชำระส่วนที่เหลือเมื่อสินค้าถึงท่าเรือในฮ่องกง แต่เมื่อคุณพาณิชย์ส่งออกทุเรียนสดไปถึงท่าเรือในฮ่องกงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ก็เกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง คือ คู่ค้าไม่ยอมชำระเงิน และไม่มารับสินค้าที่ท่าเรือ คุณพาณิชย์พยายามติดต่อคู่ค้าทั้งทางโทรศัพท์และ
E-mail ก็ไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งได้สืบทราบภายหลังว่าเป็นเพราะคู่ค้าหันไปซื้อทุเรียนสดจากจีนแทน เนื่องจากราคาถูกกว่าที่ตกลงซื้อกับ
คุณพาณิชย์ จากเหตุการณ์ดังกล่าวนอกจากคุณพาณิชย์จะสูญเสียรายได้จากทุเรียนสดที่ส่งออกในล็อตนี้แล้ว คุณพาณิชย์ยังต้องเป็น
ผู้รับผิดชอบจัดการทุเรียนสดล็อตดังกล่าวที่ถูกทิ้งไว้ที่ท่าเรือด้วย และยิ่งทิ้งไว้นานเท่าไหร่ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าดูแลตู้สินค้า
ที่สายเรือจะเรียกเก็บเพิ่มหากไม่มารับสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด คุณพาณิชย์จึงมีระยะเวลาจำกัดในการตัดสินใจ

          อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความโชคร้าย ก็ยังมีความโชคดีอยู่จากการที่คุณพาณิชย์ได้ทำประกันการส่งออกไว้กับ EXIM BANK
ซึ่งนอกจากคุณพาณิชย์จะได้รับชดเชยความเสียหายตามมูลค่าสินค้าที่ไม่ได้รับการชำระค่าสินค้าจากคู่ค้าอันเป็นไปตามข้อกำหนด
ในกรมธรรม์แล้ว หากคุณพาณิชย์จัดการกับสินค้าด้วยแนวทางตามที่ได้ปรึกษาและตัดสินใจร่วมกับ EXIM BANK คุณพาณิชย์ยังได้รับ
ชดเชยค่าใช้จ่ายบางส่วนในการจัดการสินค้าที่ปลายทางเพิ่มเติม ทั้งนี้ ทางเลือกหลักๆ มี 3 แนวทาง คือ ขายต่อให้กับคู่ค้ารายใหม่ หรือ
ส่งสินค้ากลับไทยเพื่อมาขายต่อให้คนอื่น หรือว่าทำลายสินค้าที่ท่าเรือฮ่องกงเลย

          เมื่อพิจารณาทั้ง 3 แนวทาง ในเบื้องต้นคุณพาณิชย์ปรึกษากับทาง EXIM BANK ว่าจะเลือกที่จะขายทุเรียนสดให้กับคู่ค้ารายใหม่
เพื่อลดมูลค่าความเสียหาย อย่างไรก็ดี ทุเรียนสดครั้งนี้ขนส่งโดยตู้คอนเทนเนอร์แบบธรรมดา ทำให้เก็บรักษาได้ไม่นาน ระหว่าง
การพยายามติดต่อหาลูกค้ารายใหม่ ทุเรียนก็ทยอยเน่าเสีย คุณพาณิชย์ประเมินได้ทันทีว่าทุเรียนสดที่ส่งไปน่าจะเน่าเสียก่อนที่จะหา
คู่ค้าใหม่มารับซื้อได้ หรือหากขนกลับมาไทยนอกจากของจะเน่าเสียก่อนที่จะมาถึงไทยแล้วยังมีค่าขนส่งกลับมาด้วย ท้ายที่สุดเมื่อได้
ปรึกษากับ EXIM BANK แล้วคุณพาณิชย์จึงตัดสินใจเลือกจัดการกับทุเรียนสดของตนด้วยวิธีการทำลายสินค้าทั้งหมดที่ท่าเรือในฮ่องกง
ซึ่งแม้จะมีค่าใช้จ่ายในการทำลายสินค้า แต่เมื่อเปรียบเทียบทุกแนวทางรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วแนวทางนี้มีค่าใช้จ่ายรวมเบ็ดเสร็จ
น้อยที่สุด

          ทั้งนี้ ความเสี่ยงจากการที่ผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้าอาจเกิดขึ้นได้กับสินค้าทุกประเภท ไม่เฉพาะสินค้าที่เน่าเสียง่าย เช่น ผัก
และผลไม้สด ซึ่งแต่ละแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสามารถลดความเสี่ยงหรือบรรเทาความเสียหาย
ดังกล่าวลงได้ด้วยการใช้บริการประกันการส่งออก โดยสามารถติดต่อขอใช้บริการได้ที่ฝ่ายส่งเสริมการรับประกันการส่งออกและ
การลงทุน EXIM BANK โทร. 0 2271 3700 ต่อ 3920-3922
 
  หน้าหลัก   I   Share โลกเศรษฐกิจ   I   เรื่องเล่าระหว่างทาง   I   รู้ทันเกมการค้า
เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ   I   แวดวงคู่ค้า   I   แนะนำบริการ   I   สรุปข่าว