HIGHLIGHTS
         • แม้การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้การท่องเที่ยวไทยสะดุดลง แต่กลุ่มสินค้าของฝากหลายรายการยังได้รับความสนใจและมีชาวต่างชาติหาซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
         • ตัวอย่างสินค้าของฝากที่ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ เช่น กางเกงมวยไทย กางเกงลายช้าง/กางเกงเล ยาดม/ยาหม่อง ผลิตภัณฑ์สปาและที่เกี่ยวเนื่อง ผลไม้แปรรูป/อบแห้ง
         • ผู้ประกอบการสินค้ากลุ่มนี้สามารถยกระดับจากผู้ส่งออกทางอ้อม (ขายในประเทศแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ) ไปสู่ผู้ส่งออกตัวจริง (ส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ) โดยใช้เครื่องมือต่างๆ ที่เอื้อให้การส่งออกง่ายขึ้น เช่น การขายบน E-Marketplace ที่มีบริการครบวงจร

 
 

         ก่อนการระบาดของ COVID-19 การท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทำสถิติสูงสุดแตะระดับเกือบ 40 ล้านคน ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวมีสัดส่วนสูงถึงราว 16% ต่อ GDP ซึ่งไม่เพียงสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว แต่ยังส่งผลดีต่อกลุ่มสินค้าที่มีลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทยในสายตาของนักท่องเที่ยวต่างชาติและถูกมองว่าเป็นของที่ต้องซื้อเมื่อมาเที่ยวเมืองไทย ส่วนใหญ่ขายอยู่ในตลาดค้าปลีกชื่อดัง เช่น ตลาดนัดจตุจักร มาบุญครอง ประตูน้ำ ทั้งนี้ ในปี 2563 เป็นที่ทราบกันดีว่าจากวิกฤต COVID-19 ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศมีข้อจำกัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มสินค้าของฝากด้วย อย่างไรก็ตาม ล่าสุดจากการวิเคราะห์ข้อมูล Google Trend มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า กลุ่มสินค้านี้หลายรายการถูกค้นหาทางช่องทางออนไลน์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2563 ก่อนเกิด COVID-19 สะท้อนว่าสินค้ากลุ่มนี้ได้รับความสนใจและยังเป็นที่ต้องการจากชาวต่างชาติแม้ไม่ได้เดินทางมาซื้อที่ประเทศไทย ดังนั้น หากผู้ประกอบการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยไม่ต้องรอให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติ แต่ใช้โอกาสนี้ในการติดปีกสินค้าของฝากไปสู่ตลาดโลก ขยายช่องทางการขายจากในประเทศไปสู่การส่งออก อาจบรรเทาผลกระทบและช่วยให้ธุรกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้

 
           วิกฤต COVID-19 ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศมีข้อจำกัด ส่งผลต่อเนื่องให้สินค้าของฝากที่เน้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเผชิญภาวะซบเซาตาม แต่ในวิกฤตยังมีโอกาส หากผู้ประกอบการสามารถคว้าโอกาสใหม่ ๆ โดยยกระดับตนเองจากผู้ส่งออกทางอ้อม (ขายในประเทศแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ) ไปสู่ผู้ส่งออกตัวจริง (ส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ) ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือหรือตัวช่วยที่เอื้อให้การส่งออกทำได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีต โดยมีข้อเสนอแนะเบื้องต้น ดังนี้
 
  Product Development & Branding
         • พัฒนาคุณภาพสินค้าให้สูงขึ้น รวมถึงต่อยอดการออกแบบบรรจุภัณฑ์หรือออกแบบแบรนด์โดยใช้จุดแข็งจากความเป็นไทย (Thainess) ซึ่งเป็นแรงดึงดูดที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมซื้อ
         • สร้างแบรนด์เป็นของตนเอง เพื่อสร้างความแตกต่างและเป็นที่จดจำ เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้หลายรายการมีความคล้ายคลึงกันและมีผู้ขายจำนวนมาก
 
  Platform
         จากเดิมขายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวไทย รวมถึงบางส่วนขายในตลาดต่างประเทศผ่านตัวกลางที่มารับซื้อต่อ ทำให้เสียโอกาสเข้าถึงลูกค้าโดยตรง จึงควรขยายช่องทางส่งออกด้วยตนเอง โดยเริ่มจากขายบน E-Marketplace ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศและมีบริการครบวงจรตั้งแต่การชำระเงิน-ขนส่งสินค้า เพื่อสะดวกในการขายและเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น
 
  Packaging
         พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย สวยงาม เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า
(C Space ที่ปรึกษาธุรกิจในสหรัฐฯ ระบุว่าผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้วให้คุณค่ากับ Packaging พอ ๆ กับประโยชน์ใช้สอยของสินค้า)
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  ที่มาของรูปภาพ : www.flaticon.com  
  หน้าหลัก   I   คอลัมน์พิเศษ   I   Share โลกเศรษฐกิจ   I   เปิดประตูสู่ตลาดใหม่   I   ส่องเทรนด์โลก
เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ   I   CEO Talk   I   แวดวงคู่ค้า   I   แนะนำบริการ   I   สรุปข่าว