ความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกจากนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักในปัจจุบันมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากโดยเฉพาะ
ประเด็นเกี่ยวกับ “ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย” หรือ “Global Recession” โดยหลายสำนัก อาทิ องค์การสหประชาชาติ (UN) และ
Goldman Sachs มองว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะอันใกล้ ขณะที่บางสำนัก อาทิ กองทุนการเงิน
ระหว่างประเทศ (IMF) และ Robert Shiller นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล กลับมองว่าภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมมีความเสี่ยงที่จะ
เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ ความคิดเห็นต่อภาวะ Global Recession ที่แตกต่างกันดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ
ปัจจุบันยังไม่มีนิยามหรือคำจำกัดความของ Global Recession ที่ชัดเจน ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ทำให้มุมมองต่อ Global Recession
ของนักเศรษฐศาสตร์แต่ละสำนักแตกต่างกัน โดยหากพิจารณานิยามของ Global Recession ที่มีการพูดถึงกันในปัจจุบัน พบว่ามีอยู่
3 แนวคิดหลัก ได้แก่

         เศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-O-Q) หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ถูกคิดขึ้นโดย Julius Shiskin
นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ในปี 2517 ซึ่งปัจจุบันถือเป็นเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่นิยมใช้แพร่หลายที่สุด และมักเรียกภาวะ
เศรษฐกิจถดถอยตามรูปแบบดังกล่าวว่าเป็นการถดถอยทางเทคนิค หรือ “Technical Recession” ซึ่งแม้แนวคิดดังกล่าวจะไม่สามารถ
ชี้ให้เห็นถึงภาวะ Global Recession ได้โดยตรง เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานใดจัดทำตัวเลข GDP โลกรายไตรมาสอย่างเป็นทางการ แต่ก็นิยมประเมิน Global Recession ในเบื้องต้นจาก GDP รายไตรมาสของ 3 ประเทศเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น
ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันกว่า 50% ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของทั้ง 3 ประเทศพบว่า ยังไม่มี GDP ของ
ประเทศใดหดตัวในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2562 แต่เริ่มมีทิศทางชะลอลงบ้าง สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะ
ชะลอตัว แต่ยังไม่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อพิจารณาตามแนวคิดดังกล่าว

         ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญในมิติต่างๆ หดตัวต่อเนื่องพร้อมกัน ถูกคิดขึ้นโดย National Bureau of Economic Research
ของสหรัฐฯ โดยดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่จะนำมาใช้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจถดถอย ได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ความเชื่อมั่น
ผู้บริโภค ยอดค้าปลีก และอัตราว่างงาน เป็นต้น ซึ่งหากดัชนีชี้วัดต่างๆ ดังกล่าวหดตัวพร้อมกันเป็นระยะเวลา 2-3 เดือนติดต่อกัน จะถือว่า
เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ หากพิจารณาดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจดังกล่าวของสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น พบว่า ทั้งสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น
เริ่มมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย สะท้อนถึงความเสี่ยงที่จะเกิด Global Recession เพิ่มขึ้นเช่นกัน

  ดัชนีชี้วัดเศรฐกิจถดถอยตามนิยามของ National Bureau of Economic Research  
           ผลผลิตต่อหัวของประชากรโลกหดตัว (World Per Capita Output) ถูกคิดและนำไปใช้เป็นเครื่องชี้ภาวะ Global
Recession โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ World Per Capita Output ในปี 2562 และ 2563 ว่าจะ
ขยายตัว 2.1% และ 2.4% ตามลำดับ สะท้อนว่า เศรษฐกิจโลกยังไม่มีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม นิยาม
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของ IMF ดังกล่าวยังไม่เป็นที่นิยมอ้างอิงแพร่หลายนัก เนื่องจากการคำนวณ World Per Capita Output
มีความซับซ้อนและยุ่งยาก

         แม้ปัจจุบันยังไม่มีแนวคิดใดที่สามารถชี้ชัดถึงการเกิด Global Recession ได้ แต่ก็นับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ
โดยเฉพาะผู้ส่งออกในการนำมาใช้ติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้วางแผนและปรับกลยุทธ์
ทางธุรกิจและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  หน้าหลัก   I   บทความพิเศษ   I   Share โลกเศรษฐกิจ   I   เปิดประตูสู่ตลาดใหม่   I   ส่องเทรนด์โลก
เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ   I   CEO Talk   I   แวดวงคู่ค้า   I   แนะนำบริการ   I   สรุปข่าว