ไมโครไฟแนนซ์ (Microfinance) เป็นกลไกสำคัญของภาคการเงินกัมพูชาในการสนับสนุนสินเชื่อแก่ชาวกัมพูชา โดยเฉพาะ
ในพื้นที่ชนบท ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกโดยกลุ่ม NGOs และผู้บริจาคต่างชาติเมื่อปี 2536 หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อ
ฟื้นฟูสังคมและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย หลังจากนั้นธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ได้เติบโตในเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่องภายใต้การส่งเสริม
ของรัฐบาลกัมพูชาที่ต้องการขยายสินเชื่อแก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และได้ประโยชน์จากการที่บริการทางการเงินของธนาคาร
พาณิชย์ยังเข้าไม่ทั่วถึงประชาชนในพื้นที่ชนบท ทั้งนี้ ในปี 2560 ยอดการปล่อยสินเชื่อของไมโครไฟแนนซ์อยู่ที่ราว 4 พันล้านดอลลาร์
สหรัฐ คิดเป็น 1 ใน 4 ของยอดปล่อยสินเชื่อโดยธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวเฉลี่ยกว่า 20% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันกัมพูชา
มีจำนวนไมโครไฟแนนซ์ทั้งสิ้น 68 ราย แบ่งเป็นไมโครไฟแนนซ์ที่มีใบอนุญาตรับเงินฝาก 8 ราย ส่วนที่เหลืออีก 60 ราย ให้บริการ
สินเชื่อได้เพียงอย่างเดียว และไมโครไฟแนนซ์รายใหญ่ที่สุด 5 ราย ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 80% โดยการปล่อยสินเชื่อไมโคร
ไฟแนนซ์ในภาคครัวเรือนมีสัดส่วนมากที่สุด คือ 33% ของการปล่อยสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม
30% และภาคการค้าปลีก 19% ขณะที่ข้อมูลของธนาคารกลางกัมพูชาระบุว่าชาวกัมพูชากว่า 1.7 ล้านคน หรือราว 1 ใน 10 ของ
ประชากรทั้งประเทศ ใช้บริการสินเชื่อจากไมโครไฟแนนซ์ สะท้อนให้เห็นว่าไมโครไฟแนนซ์เป็นกลไกสำคัญของภาคการเงินกัมพูชา
ที่ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ชนบทเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น สอดคล้องกับอันดับด้านการได้รับสินเชื่อ (Getting Credit)
ในรายงาน Ease of Doing Business 2019 ของธนาคารโลก ซึ่งกัมพูชาอยู่อันดับ 22 จากการจัดอันดับทั้งหมด 190 ประเทศ ทิ้งห่าง
ประเทศอาเซียนใหม่ทั้งเวียดนาม (ลำดับที่ 32) สปป.ลาว (ลำดับที่ 73) และเมียนมา (ลำดับที่ 178)
  อันดับ Ease of Doing Business ปี 2562
ของกัมพูชา จากทั้งหมด 190 ประเทศ
 
  ที่มา : World Bank  
  แรงกดดันจากการเพิ่มทุน…เปิดทางการลงทุนต่างชาติในธุรกิจไมโครไฟแนนซ์กัมพูชา
          เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เกิดกระแสการลงทุนจากสถาบันการเงินต่างชาติในธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ของกัมพูชา
อย่างต่อเนื่อง หลังจากธนาคารกลางกัมพูชาประกาศใช้ Prakas On Minimum Registered Capital Of Banking And Financial Institutions เมื่อเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งมีการปรับเพิ่มทุนจดทะเบียนขั้นต่ำในธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ของกัมพูชา ดังนี้ 1) ไมโครไฟแนนซ์
ที่มีใบอนุญาตรับเงินฝากต้องมีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจาก 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 2) ไมโครไฟแนนซ์
ที่ไม่มีใบอนุญาตรับเงินฝากต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจาก 62,500 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยต้องเพิ่มทุน
ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับจากวันที่ประกาศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านเงินทุนของธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ อันเป็นส่วนหนึ่งของ
แผนพัฒนาภาคการเงินระยะ 10 ปี (Financial Sector Development Strategy 2016-2025) ซึ่งการกำหนดให้ไมโครไฟแนนซ์ต้อง
เพิ่มทุนจำนวนมากนับเป็นแรงกดดันสำคัญที่ทำให้ไมโครไฟแนนซ์ต้องเร่งหาพันธมิตรทางธุรกิจ โดยเฉพาะสถาบันการเงินจากต่างชาติ
เพื่อเป็นแหล่งเงินทุน
  สถาบันการเงินต่างชาติหลายรายซื้อหุ้นไมโครไฟแนนซ์ของกัมพูชาในช่วงปี 2559-2561  
  ที่มา : Phnomphenpost  
  กระแสการลงทุนต่างชาติในไมโครไฟแนนซ์…ส่งผลดีในหลายมิติ
          กระแสการลงทุนจากสถาบันการเงินต่างชาติในธุรกิจไมโครไฟแนนซ์เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในภาค
การเงินการธนาคารของกัมพูชาและมีแนวโน้มก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ดังนี้

          มิติการให้บริการ การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทำให้ไมโครไฟแนนซ์ต้องเสนอการให้บริการที่หลากหลายมากขึ้นจากเดิมที่ให้
บริการเฉพาะด้านสินเชื่อเป็นหลัก อาทิ บริการอบรมบ่มเพาะและพัฒนาธุรกิจ (Incubator) แก่ผู้ประกอบการรายย่อย ตลอดจนการนำ
นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการด้านการเงินผ่านแอพพลิเคชั่นและแพลตฟอร์มทางการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะระบบ
e-payment ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยลดต้นทุน
การดำเนินธุรกิจจากการให้ลูกค้าหันมาใช้ช่องทางบริการออนไลน์มากขึ้น

          มิติภาคการเงินการธนาคาร การแข่งขันที่สูงขึ้นผลักดันให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ของภาคการเงินการธนาคารในกัมพูชา ขณะที่การลงทุนของสถาบันการเงินต่างชาติ ซึ่งมีความแข็งแกร่งด้านเงินทุนและประสบการณ์
จะยิ่งช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชา

          มิติเศรษฐกิจ การที่ไมโครไฟแนนซ์มีความสามารถในการให้บริการที่ดีขึ้นและขยายการให้สินเชื่อได้เพิ่มขึ้นนั้น นอกจาก
ส่งผลดีต่อภาคการเงินการธนาคารแล้ว ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของภาคครัวเรือนชาวกัมพูชาอีกด้วย (สัดส่วน
ราว 80% ของ GDP) ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจกัมพูชาให้เติบโตในระดับสูงกว่า 6% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า

          การเปลี่ยนแปลงในธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ส่งผลดีในหลายมิติดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในกัมพูชา
ควรใช้จังหวะในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดรับกับโอกาสทางธุรกิจ อาทิ การพัฒนาระบบ e-payment ที่จะมีส่วนช่วยทำให้
โลกออนไลน์ของชาวกัมพูชาขยายตัวและกลายเป็นช่องทางการตลาดที่น่าสนใจเพราะสามารถเชื่อมต่อผู้ขายเข้ากับผู้ซื้อในทุกพื้นที่
ทั้งในเมืองและพื้นที่ห่างไกล เมื่อประกอบกับการเติบโตของสินเชื่อ โดยเฉพาะในภาคชนบท ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายสินค้าให้เติบโตตาม
โดยเฉพาะสินค้าประเภทรถจักรยานยนต์ ซึ่งชาวกัมพูชาในชนบทนิยมใช้สัญจรไปมา ตลอดจนสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตรและ
อุปกรณ์การเกษตร อาทิ รถไถนาเดินตาม รถเกี่ยวข้าว และเครื่องสีข้าว เป็นต้น ก็ถือเป็นโอกาสในการขยายตลาดสินค้าดังกล่าว
ของไทยในกัมพูชา
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  หน้าหลัก   I   คอลัมน์พิเศษ   I   บทความพิเศษ   I   Share โลกเศรษฐกิจ   I   เปิดประตูสู่ตลาดใหม่
ส่องเทรนด์โลก   I   เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ   I   แวดวงคู่ค้า   I   แนะนำบริการ   I   สรุปข่าว