การปรับปรุงกฎระเบียบการลงทุนจากต่างประเทศของอินโดนีเซีย
กับโอกาสการลงทุนของไทย
 
   
           อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในแหล่งการค้าการลงทุนที่มีศักยภาพของอาเซียน สะท้อนได้จากการเป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วย
จำนวนประชากรราว 250 ล้านคน มากที่สุดในอาเซียน อีกทั้งเศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวดีต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 5.8 ต่อปี
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.3 ต่อปีในช่วงปี 2558-2563 ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบาย
เร่งส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของการเกื้อหนุนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
รวมทั้งช่วยพัฒนาศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานตลอดจนสร้างโอกาสในการจ้างงานให้กับประชากรในประเทศ ทั้งนี้ มูลค่า
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ของอินโดนีเซียในช่วงปี 2553-2557 ขยายตัว
เฉลี่ยร้อยละ 15.6 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าอินโดนีเซียเป็นแหล่งลงทุนเป้าหมายที่มีศักยภาพสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

         กฎระเบียบการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่
         ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลอินโดนีเซียปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียม
รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) อย่างสมบูรณ์ในปี 2558 ล่าสุดรัฐบาล
อินโดนีเซียได้ปรับปรุงกฎระเบียบว่าด้วยเงื่อนไขการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ (Negative Investment List) ฉบับที่ 39/2014 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2557 ครอบคลุมการเพิ่มประเภทของธุรกิจที่เปิดให้นักลงทุนต่างชาติสามารถ
ลงทุนในรูปแบบร่วมทุนได้ รวมทั้งการเพิ่มและลดสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจหลายประเภท โดยมี
รายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
 
  ธุรกิจใหม่ที่เปิดให้นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในรูปแบบร่วมทุน  
  ที่มา : Indonesia Investment Coordinating Board (BKPM)  
  ธุรกิจที่มีการเพิ่มสัดส่วนการร่วมทุนของนักลงทุนต่างชาติ  
  ที่มา : Indonesia Investment Coordinating Board (BKPM)  
  ธุรกิจที่มีการลดสัดส่วนการร่วมทุนของนักลงทุนต่างชาติ  
  ที่มา : Indonesia Investment Coordinating Board (BKPM)  
  ธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติลงทุน  
  ที่มา : Indonesia Investment Coordinating Board (BKPM)  
            โอกาสการลงทุนของไทยในอินโดนีเซีย
          การปรับปรุงกฎระเบียบการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติฉบับใหม่มีส่วนทำให้โอกาสการลงทุนในอินโดนีเซีย
เปิดกว้างมากขึ้น เมื่อประกอบกับจุดแข็งของอินโดนีเซียในด้านการมีทรัพยากรในประเทศอุดมสมบูรณ์ มีแรงงานวัยหนุ่มสาว
จำนวนมาก และค่าจ้างแรงงานถูก จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนไทยที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ
ในการขยายการลงทุนในอินโดนีเซีย สำหรับธุรกิจของไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงกฎระเบียบใหม่และ
นักลงทุนไทยมีศักยภาพในการขยายการลงทุนในอินโดนีเซีย อาทิ
          • ธุรกิจพลังงานและเหมืองแร่ โดยเฉพาะธุรกิจโรงไฟฟ้า ที่ยังต้องการการพัฒนาอีกมาก สะท้อนได้จากการที่
อินโดนีเซียยังมีกระแสไฟฟ้าใช้ไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบันอัตราการเข้าถึงกระแสไฟฟ้าของอินโดนีเซียอยู่ที่
ร้อยละ 70-75 ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าให้ประชาชนมีกระแสไฟฟ้าใช้ทั่วประเทศภายในปี 2563 ทั้งนี้ ภายใต้
กฎระเบียบการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่ รัฐบาลอินโดนีเซียเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าไปลงทุนใน
โครงการโรงไฟฟ้าในรูปแบบร่วมทุนได้ โดยสามารถลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ในสัดส่วนสูงสุด
ไม่เกินร้อยละ 49 และธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดมากกว่า 10 เมกะวัตต์ ในสัดส่วนสูงสุดไม่เกินร้อยละ 95 แต่สำหรับการลงทุน
ตามโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership : PPP) นักลงทุนต่างชาติสามารถ
ลงทุนได้ทั้งหมด 100%
          • ธุรกิจท่องเที่ยว ภาคการท่องเที่ยวมีความสำคัญค่อนข้างมากต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซีย โดยในปี 2557 มี
นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาอินโดนีเซีย 9.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 จากปีก่อน ขณะที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจำนวน
นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8.4 ต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัย
เกื้อหนุนสำคัญจากการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างจริงจังของภาครัฐ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่าง
ต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ
ท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ธุรกิจโรงแรม และร้านอาหาร ที่จะเข้าไปขยายตลาดในอินโดนีเซีย ซึ่งแม้ว่าปัจจุบัน
มีอยู่มากแล้วก็ตาม แต่การเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ทุกปี ทำให้ความต้องการโรงแรมและที่พัก รวมถึงร้านอาหารในอินโดนีเซียยังอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ภายใต้กฎระเบียบการ
ลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวในรูปแบบการร่วมทุนได้
หลายประเภท อาทิ ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในสัดส่วนสูงสุดไม่เกินร้อยละ 49 หรือ
ไม่เกินร้อยละ 51 ในกรณีที่ร่วมทุนกับผู้ประกอบการ SMEs ท้องถิ่น ธุรกิจโรงแรมที่ยังไม่มีการจัดระดับมาตรฐาน ลงทุน
ในสัดส่วนสูงสุดไม่เกินร้อยละ 51 ธุรกิจโรงแรมแบบโมเต็ล กรณีที่เป็นนักลงทุนจากประเทศในกลุ่มอาเซียนลงทุนในสัดส่วน
สูงสุดไม่เกินร้อยละ 70 เฉพาะเกาะ Java และเกาะ Bali เท่านั้น สำหรับธุรกิจสนามกอล์ฟ กรณีที่เป็นนักลงทุนจากประเทศ
ในกลุ่มอาเซียนลงทุนในสัดส่วนสูงสุดไม่เกินร้อยละ 70 ยกเว้นเกาะ Java และเกาะ Bali

          สำหรับการลงทุนของไทยในอินโดนีเซียในปี 2557 มีโครงการการลงทุนทั้งสิ้น 55 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 317.7 ล้าน
ดอลลาร์สหรัฐ มากเป็นอันดับ 13 ของนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียทั้งหมด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปรับปรุง
กฎระเบียบฉบับใหม่ได้เพิ่มโอกาสให้กับนักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย แต่ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้
นักลงทุนชาติอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น นักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียควรเตรียมพร้อมที่จะเผชิญและรับมือกับ
ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น พร้อมกันนี้ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและทำความเข้าใจกฎระเบียบด้านการลงทุนอย่างละเอียด
ก่อนเข้าไปลงทุน
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์
ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ
ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด