 |
 |
 |
|
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสำคัญในตลาดกาแฟโลก |
|
|
 |
 |
|
 |
|
นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่างไม่เสื่อมคลาย และมี
แนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอนาคต กาแฟจึงเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีความสำคัญต่อการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ
มายาวนาน โดยประเทศกำลังพัฒนา อาทิ บราซิล และเวียดนาม เป็นผู้ผลิตกาแฟรายสำคัญของโลก ขณะที่ประเทศ
พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น เป็นผู้บริโภคหลัก นอกจากกาแฟจะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา
หลายประเทศซึ่งมีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรของประเทศนั้นๆ แล้ว ยังก่อให้เกิดธุรกิจอีกมากที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ
ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า โรงคั่วกาแฟ และร้านกาแฟในอีกหลายๆ ประเทศ ปัจจุบันอุตสาหกรรมกาแฟและรสนิยมของผู้บริโภค
กาแฟมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานของกาแฟอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ มีดังนี้
โครงสร้างอุตสาหกรรมกาแฟ
ก่อนจะสำรวจแนวโน้มตลาดกาแฟและพฤติกรรมผู้บริโภคกาแฟ ควรทำความเข้าใจโครงสร้างอุตสาหกรรมกาแฟ
ในเบื้องต้น โดยเฉพาะตลาดการค้าระหว่างประเทศ ดังนี้
• ประเภทของเมล็ดกาแฟ เมล็ดกาแฟที่ทำการค้ากันระหว่างประเทศเป็นเมล็ดกาแฟดิบ (Green Coffee Bean)
หรืออาจเรียกว่า “สารกาแฟ” เมล็ดกาแฟดิบดังกล่าวถูกแปรรูปขั้นต้น (นำเปลือกชั้นนอกออกและทำให้แห้ง) จากแหล่ง
เพาะปลูก และมีการคัดเกรดกันตามขนาดและความสมบูรณ์ของเมล็ด โดยสายพันธุ์หลักของเมล็ดกาแฟ ได้แก่ อาราบิก้า
และโรบัสต้า ซึ่งความแตกต่างทั่วไประหว่างทั้งสองสายพันธุ์ คือ อาราบิก้าเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกบนที่สูง มีความทนทานต่อโรค
และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้น้อย เมล็ดกาแฟมีกลิ่นหอม เหมาะกับการทำกาแฟร้อน ขณะที่โรบัสต้าเป็น
สายพันธุ์ที่ปลูกได้ในที่ราบ มีความทนทานต่อโรคและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ค่อนข้างมาก แต่เมล็ดกาแฟ
มีรสเปรี้ยวและมีกลิ่นหอมน้อยกว่าพันธุ์อาราบิก้า เหมาะกับการทำเป็นกาแฟผงสำเร็จรูปและผสมกับกาแฟพันธุ์อาราบิก้าเพื่อ
ทำเป็นกาแฟเย็น
• ประเทศผู้ผลิตกาแฟรายสำคัญ หากพิจารณาด้านปริมาณผลผลิตกาแฟ พบว่าบราซิลเป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟ
อันดับ 1 ของโลก ด้วยปริมาณผลผลิตกาแฟราว 45 ล้านกระสอบต่อปี โดยราวร้อยละ 70 ของผลผลิตเป็นกาแฟอาราบิก้า
ตามมาด้วยเวียดนาม ซึ่งร้อยละ 95 ของผลผลิตเป็นกาแฟโรบัสต้า อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาที่ความมีชื่อเสียงของกาแฟ
พบว่าหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย เอธิโอเปีย เยเมน และเคนยา แม้มีปริมาณผลผลิตน้อยกว่าประเทศผู้ผลิตหลัก
อย่างบราซิล แต่ก็ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกกาแฟที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
|
|
|
 |
 |
|
ประเทศผู้ผลิตกาแฟ 5 อันดับแรกของโลก |
|
|
 |
|
ที่มา : International Coffee Organization |
|
|
 |
 |
 |
|
• ประเทศผู้บริโภคกาแฟรายสำคัญ กลุ่มประเทศผู้บริโภคกาแฟรายสำคัญของโลกในแง่ปริมาณการบริโภครวม
ได้แก่ EU สหรัฐฯ และบราซิล ตามลำดับ แต่หากพิจารณาที่ปริมาณการบริโภคกาแฟต่อจำนวนประชากรพบว่า
ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีการบริโภคกาแฟสูงสุดในโลกด้วยปริมาณปีละ 9.6 กิโลกรัมต่อคน หรือราว 2.6 แก้วต่อวัน
ตามมาด้วยนอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สโลเวเนีย และออสเตรีย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาที่ราคาขายปลีกกาแฟ
ต่อแก้วพบว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีราคาจำหน่ายกาแฟต่อแก้วสูงที่สุด ตามมาด้วยอิตาลี และโปรตุเกส ส่วนหนึ่งสะท้อน
ให้เห็นว่าผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้ยินดีที่จะจ่ายค่ากาแฟสูงกว่าประเทศอื่น
แนวโน้มอุตสาหกรรมกาแฟโลก
• การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนากระตุ้นความต้องการบริโภคกาแฟโรบัสต้า สภาพการ
ทำงานที่เร่งรีบและเคร่งเครียดมากขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ทำให้กาแฟกลายเป็นเสมือน
เครื่องดื่มที่คนทำงานนิยมดื่มเพื่อช่วยกระตุ้นร่างกายให้กระปรี้กระเปร่าและมีความพร้อมต่อการทำงานประจำวัน โดยผู้บริโภค
ในประเทศกำลังพัฒนาที่ส่วนใหญ่มีรายได้น้อยถึงปานกลางนิยมบริโภคกาแฟสำเร็จรูปที่มีราคาถูกและใช้เวลาชงได้รวดเร็ว
ซึ่งกาแฟสำเร็จรูปส่วนใหญ่ผลิตจากกาแฟโรบัสต้า ทำให้ความต้องการกาแฟโรบัสต้าถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยจากประเทศกำลัง
พัฒนาเป็นหลัก
• ความสำเร็จของตลาดเครื่องชงกาแฟประเภท Capsule ช่วยกระตุ้นความต้องการกาแฟอาราบิก้า
ในประเทศพัฒนาแล้ว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดกาแฟประเภท Capsule ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยบริษัท
Nestle ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจำหน่ายเครื่องชงกาแฟและกาแฟประเภท Capsule ภายใต้แบรนด์ Nespresso มียอด
จำหน่ายในกลุ่มประเทศแถบยุโรปตะวันตก เพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ปริมาณการบริโภคกาแฟโดยรวมของ
ประเทศดังกล่าวค่อนข้างทรงตัว แสดงให้เห็นว่ายอดจำหน่ายกาแฟประเภท Capsule มีส่วนช่วยพยุงความต้องการบริโภค
กาแฟของประเทศแถบยุโรปตะวันตก ทั้งนี้ เครื่องชงกาแฟประเภท Capsule ถือเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ
ในเชิงพาณิชย์อย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการทำให้ผู้บริโภคสามารถชงกาแฟที่มีรสชาติใกล้เคียงกับเครื่อง
ชงกาแฟขนาดใหญ่ตามร้านกาแฟได้ง่ายภายในบ้าน โดย Capsule กาแฟทำจากพลาสติกหรืออะลูมิเนียม บรรจุกาแฟ
ปริมาณพอดีสำหรับ 1 ช็อตกาแฟ โดยกาแฟที่ใช้เป็นกาแฟอาราบิก้าชั้นดีจากประเทศต่างๆ ขณะที่เครื่องชงกาแฟประเภท
Capsule ก็มีราคาถูกกว่าเครื่องชงกาแฟแบบปกติ ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยินดีที่จะซื้อมาใช้
• แนวโน้มราคากาแฟโลก ภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ และเงินเรียลของบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตกาแฟอันดับ 1
ของโลกอ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคากาแฟอาราบิก้าและโรบัสต้าเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 อยู่ที่ 169 และ 99 เซนต์
ต่อปอนด์ ลดลงร้อยละ 12 และร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามลำดับ ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาที่ลดลงดังกล่าว
สวนทางกับภาวะอุปสงค์และอุปทาน ซึ่ง The Economist Intelligence Unit (EIU) คาดว่า ความต้องการบริโภคกาแฟในปี
การผลิต 2557/58 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ขณะที่อุปทานกาแฟมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 3.8
พฤติกรรมการบริโภคกาแฟที่น่าสนใจในปัจจุบัน
ปัจจุบันแนวโน้มผู้บริโภคกาแฟสมัยใหม่มีความพิถีพิถันมากขึ้นในการบริโภคกาแฟ ทั้งนี้ กระแสการเปลี่ยนแปลงที่
น่าสนใจในตลาดกาแฟโลกในปัจจุบัน มีดังนี้
• กาแฟที่ใช้ผลิตภัณฑ์อื่นเป็นส่วนผสมแทนนมวัว ผู้บริโภคกาแฟที่แพ้นมวัว รวมถึงกลุ่มที่ไม่รับประทาน
ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวต้องการเมนูกาแฟ
ที่ใช้ผลิตภัณฑ์อื่นเป็นส่วนผสมแทนนมวัว ซึ่งที่ผ่านมามักใช้นมถั่วเหลืองเป็นส่วนผสมแทน แต่ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จาก
พืชอื่นที่สามารถใช้ทดแทนได้ อาทิ นมมะพร้าว (Coconut Milk) และนมอัลมอนด์ (Almond Milk) ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้
ผู้ชงกาแฟและร้านกาแฟสามารถคิดค้นเมนูใหม่เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคได้มากขึ้น
• ร้านกาแฟแบบ Drive-Thru ร้านกาแฟระดับโลกอย่าง Starbucks เน้นเปิดสาขาร้านกาแฟแบบ Drive-Thru
มากขึ้นในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศในเอเชียอย่างมาเลเซียและไทย เนื่องจากพบว่า
รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคส่วนหนึ่งเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวและต้องการความสะดวกรวดเร็วในการซื้อกาแฟ
ทำให้สาขาร้านกาแฟแบบ Drive-Thru มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
• กาแฟคุณภาพ (Specialty Coffee) จากแหล่งเพาะปลูกต่างๆ ทั่วโลก ผู้บริโภคยุคใหม่มีความรู้เกี่ยวกับกาแฟ
เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้มีความพิถีพิถันในการเลือกกาแฟทั้งประเภทและแหล่งเพาะปลูก รวมถึงแสวงหากาแฟรสชาติใหม่ๆ
มากขึ้น ร้านกาแฟสมัยใหม่จึงสรรหากาแฟจากแหล่งเพาะปลูกที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่ม
ดังกล่าว ทั้งนี้ กาแฟจากแหล่งเพาะปลูกที่มีชื่อเสียงจะมีราคาสูงกว่ากาแฟโดยทั่วไป เพราะนอกจากรสชาติของกาแฟจะ
ขึ้นกับสายพันธุ์ที่เพาะปลูกแล้ว ยังขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของดินและภูมิอากาศของแหล่งเพาะปลูกด้วย ทำให้กาแฟ
พันธุ์เดียวกัน แต่เพาะปลูกในพื้นที่ต่างกัน ให้รสชาติที่ต่างกัน นอกจากนี้ วิธีการเก็บเกี่ยวและขั้นตอนการแปรรูปเบื้องต้น
แต่ละแบบก็ให้กาแฟรสชาติแตกต่างกัน ดังนั้น หากสังเกตสลากบรรจุภัณฑ์กาแฟสมัยใหม่ จะระบุทั้งชื่อพันธุ์กาแฟ ประเทศ
เพาะปลูก แหล่งเพาะปลูก และวิธีการแปรรูปขั้นต้น รวมไปถึงรสชาติที่ได้จากกาแฟดังกล่าว
สำหรับโอกาสของการส่งออกกาแฟของไทย อาจกล่าวได้ว่ายากต่อการแข่งขันในเชิงปริมาณ เนื่องจากไทยมี
ปริมาณผลผลิตเพียงราวร้อยละ 0.6 ของปริมาณผลผลิตกาแฟรวมของโลก อย่างไรก็ตาม ในเชิงคุณภาพ เกษตรกรผู้ปลูก
กาแฟของไทย และผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจกาแฟของไทย อาทิ โรงคั่ว และนักชงกาแฟ ต่างมีความรู้เพิ่มขึ้นมาก
ในปัจจุบัน ทำให้เกิดการพัฒนากาแฟคุณภาพจากแหล่งเพาะปลูกในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งกาแฟจากหลายแหล่งเพาะปลูกของ
ไทยก็เคยได้รางวัลประกวดระดับนานาชาติมาแล้ว สอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภคกาแฟยุคใหม่ของโลกที่ต้องการทดลอง
กาแฟคุณภาพจากหลากหลายแหล่งเพาะปลูกทั่วโลก จึงถือเป็นโอกาสส่งออกกาแฟของไทยที่ไม่ได้เน้นปริมาณ แต่เน้นที่
คุณภาพเป็นหลัก
|
|
|
|
 |
 |
 |
|
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์
ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ
ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด |
|
|
 |
 |
 |
 |
|