กฎระเบียบการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่...
โอกาสการลงทุนของไทยในอินโดนีเซีย
 
            อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีศักยภาพสูง
ในด้านการค้าการลงทุน โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนจากการเป็นตลาดขนาดใหญ่
ด้วยจำนวนประชากรราว 250 ล้านคน มากที่สุดในอาเซียนและมากเป็น
อันดับ 4 ของโลก ขณะที่ประชากรกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางมีแนวโน้ม
เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7 ล้านคน นอกจากนี้เศรษฐกิจอินโดนีเซียยังมีขนาดใหญ่
และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 5.3 ต่อปีในช่วงปี 2559-2563
ขณะที่มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct
Investment : FDI) ของอินโดนีเซียในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวเฉลี่ย
ร้อยละ 13 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลอินโดนีเซียเร่งดำเนิน
นโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอย่างจริงจัง จนทำให้
อินโดนีเซียกลายเป็นแหล่งลงทุนเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติ

          กฎระเบียบการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่
          นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 รัฐบาลอินโดนีเซียออกมาตรการ
ส่งเสริมเศรษฐกิจ (Economic Policy Package) อย่างต่อเนื่องถึง 12 ฉบับ
เพื่อกระตุ้นให้การลงทุนในอินโดนีเซียขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยัง
ผ่อนคลายเงื่อนไขการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ และขยายขอบเขต
ประเภทการลงทุนเพิ่มเติม โดยประกาศใช้กฎระเบียบว่าด้วยเงื่อนไขการ
ลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ (Negative Investment List) ฉบับที่ 44/
2016 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ครอบคลุมการเพิ่มประเภทของธุรกิจที่
  อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของได้ทั้งหมด (ร้อยละ 100) และในรูปแบบร่วมทุน รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของ
นักลงทุนต่างชาติในธุรกิจอีกหลายประเภท โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
 
  หมายเหตุ : *กรณีเป็นนักลงทุนจากประเทศกลุ่มอาเซียนสามารถลงทุนได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 70  
            โอกาสการลงทุนของไทยในอินโดนีเซีย
          เป็นที่น่าสังเกตว่า การปรับปรุงกฎระเบียบการลงทุนฉบับใหม่จะมีส่วนทำให้มูลค่า FDI ของอินโดนีเซียขยายตัวขึ้น สอดคล้องกับที่
Economist Intelligence Unit (EIU) คาดว่ามูลค่า FDI ของอินโดนีเซียจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 12.5 ในช่วงปี 2559-2563 ขณะเดียวกัน
ยังเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนไทย เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียได้มากขึ้น สำหรับธุรกิจที่น่าสนใจและเป็นโอกาสของ
ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพ อาทิ
          ธุรกิจพลังงานและเหมืองแร่ โดยเฉพาะการก่อสร้างและติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงสูง ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียเร่งพัฒนา
เศรษฐกิจตามแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจปี 2554-2568 (Master Plan for Acceleration and Expansion of Indonesia’s
Economic Development 2011-2025 : MP3EI) เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2568 ส่งผลให้การพัฒนาระบบ
สาธารณูปโภคในประเทศเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและครอบคลุม
พื้นที่ทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าเพิ่มอัตราการเข้าถึงไฟฟ้าของประชาชนจากปัจจุบันที่ร้อยละ 85 เป็นร้อยละ 98 ภายในปี 2565 เพื่อรองรับ
ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้กฎระเบียบการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่ รัฐบาลอินโดนีเซียเปิดโอกาสให้
นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในรูปแบบร่วมทุนในธุรกิจก่อสร้างและติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงสูงได้ในสัดส่วนสูงสุดไม่เกินร้อยละ 49 (จากเดิม
ที่สงวนสิทธิ์การลงทุนให้แก่ชาวอินโดนีเซียเท่านั้น) จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการ
ก่อสร้างและติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงสูงในต่างประเทศที่จะเข้าไปร่วมลงทุนในอินโดนีเซีย
          ธุรกิจด้านการค้า ด้วยศักยภาพด้านโครงสร้างประชากร ทำให้อินโดนีเซียเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง ประกอบกับ
พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมสั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น แม้ในปี 2559 อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของอินโดนีเซียอยู่ที่ร้อยละ
20.4 (เทียบกับไทยที่ร้อยละ 42.7) แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ
2 ต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้าตามนโยบายพัฒนาระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตของรัฐบาล นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย
ยังมุ่งเน้นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจ E-Commerce เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับ
นักลงทุนไทย ซึ่งภายใต้กฎระเบียบการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในธุรกิจค้าปลีกทาง
ระบบไปรษณีย์หรือทางอินเทอร์เน็ต
ได้ทั้งหมด (ร้อยละ 100) รวมถึงธุรกิจด้านการค้าอีกหลายประเภท อาทิ ธุรกิจจัดจำหน่ายที่
เกี่ยวข้องกับการผลิต คลังสินค้าประเภทห้องเย็น และการซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคล่วงหน้า
นอกจากนี้ การลงทุนในธุรกิจ
ค้าปลีกสมัยใหม่ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าขนาดพื้นที่ 400-2,000 ตารางเมตร ยังเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยโดยสามารถลงทุน
ในรูปแบบร่วมทุนได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 67 (จากเดิมที่สงวนสิทธิ์การลงทุนให้แก่ชาวอินโดนีเซียเท่านั้น) ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าไป
ขยายธุรกิจดังกล่าวในอินโดนีเซียแล้ว

          สำหรับการลงทุนของไทยในอินโดนีเซียปี 2558 มีมูลค่า 174.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากเป็นอันดับ 11 ของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด
ที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไทยที่ต้องการเข้าไปขยาย
การลงทุนในอินโดนีเซียควรศึกษากฎระเบียบด้านการลงทุนของอินโดนีเซียอย่างถี่ถ้วน พร้อมทั้งเตรียมรับมือกับภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นจาก
คู่แข่งทั้งที่เป็นนักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติที่เล็งเห็นถึงโอกาสในการลงทุนในอินโดนีเซียเช่นเดียวกัน
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด