เทคโนโลยีรถยนต์ล้ำสมัยแห่งอนาคต  
            Disruptive Technology หรือกระแสการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหรือ
นวัตกรรมการผลิตสินค้า จนเกิดสินค้าและบริการใหม่ที่ส่งผลให้ตลาดของสินค้า
และบริการที่ยังใช้เทคโนโลยีเดิมๆ หดตัวลง จนอาจถึงขั้นต้องหายไปจากตลาด
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน อาทิ เทคโนโลยีกล้องถ่ายรูปดิจิทัลที่เข้ามาแทนที่
กล้องถ่ายรูปแบบเดิมที่ใช้ฟิล์ม ทำให้ Kodak ซึ่งเคยเป็นผู้ผลิตฟิล์มรายใหญ่
ของโลกต้องปิดกิจการ และเทคโนโลยี Smartphone ที่ทันสมัยตอบสนอง
การใช้งานของผู้บริโภคยุคใหม่ได้หลากหลายของ Apple และ Samsung
ส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายโทรศัพท์มือถือของ Nokia ให้ลดลงจนขาดทุน
ในที่สุด แนวโน้มดังกล่าวทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัว หันมาคิดค้น
และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของ
ผู้บริโภคและรักษาไว้ซึ่งขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรม
รถยนต์ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวล้ำและสามารถตอบโจทย์ความต้องการ
ของผู้ขับขี่ได้มากขึ้น จนเป็นที่คาดว่าจะก่อให้เกิด Disruptive Technology ใน
ตลาดรถยนต์ในไม่ช้า สำหรับเทคโนโลยีรถยนต์ล้ำสมัยแห่งอนาคตที่น่าสนใจ
มีดังนี้
 
            รถยนต์ไฟฟ้า พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดการนำกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาใช้เป็นพลังงานในการขับเคลื่อนแทนน้ำมัน แบ่งเป็น
4 ประเภท ดังนี้ รถยนต์ HEV (Hybrid Electric Vehicle) คือ รถยนต์ที่ใช้น้ำมันร่วมกับกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อน จึงช่วย
ประหยัดน้ำมันเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลัก รถยนต์ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) คือ รถยนต์ที่พัฒนา
ต่อยอดมาจากรถยนต์ HEV ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันร่วมกับกระแสไฟฟ้า มีจุดเด่นเหนือรถยนต์ HEV ที่สามารถประจุไฟฟ้า (Charge) จาก
ภายนอกเข้าสู่แบตเตอรี่ในรถยนต์ได้ รถยนต์ BEV (Battery Electric Vehicle) คือ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยกระแสไฟฟ้าเท่านั้นและสามารถ
ประจุไฟฟ้าจากภายนอกได้ และรถยนต์ FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) คือ รถยนต์ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตกระแส
ไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนเครื่องยนต์ ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 4 ประเภทในเชิงพาณิชย์แล้ว
โดยฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลกตั้งอยู่ที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ขณะที่แบรนด์และรุ่นรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยม อาทิ Tesla
Model S, BMW i3 และ Nissan LEAF ทั้งนี้ กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า อาทิ มาตรการจูงใจด้าน
ภาษี ตลอดจนการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานในการประจุไฟฟ้าในหลายประเทศ มีส่วนกระตุ้นให้ผู้ขับขี่รถยนต์หันมาใช้รถยนต์
ไฟฟ้ามากขึ้น ล่าสุด Bloomberg New Energy Finance (บริษัทวิจัยด้านพลังงานชั้นนำของโลก) คาดว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าจะมี
สัดส่วนราว 54% ของยอดจำหน่ายรถยนต์โลกในปี 2583 เทียบกับปี 2558 ที่มีสัดส่วนเพียง 1% โดยรถยนต์ไฟฟ้าประเภทที่คาดว่าจะ
ได้รับความนิยมคือ รถยนต์ PHEV และรถยนต์ BEV
 
  เปรียบเทียบรถยนต์ไฟฟ้า 4 ประเภท  
  ที่มา : รวมรวมโดยฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK  
            รถยนต์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต คือ รถยนต์ที่สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงานของระบบต่างๆ ในรถยนต์ผ่านระบบ
อินเทอร์เน็ต จึงมีส่วนช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมการเดินรถได้ง่ายและปลอดภัยยิ่งขึ้น อาทิ ระบบแผนที่นำทาง (Navigator) ที่เชื่อมต่อ
กับอินเทอร์เน็ต ช่วยให้ผู้ขับขี่ค้นหาเส้นทางและตรวจสอบสภาพการจราจรในขณะนั้นได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยสร้าง
ความบันเทิงและอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้แก่ผู้ขับขี่ได้อีกด้วย อาทิ ระบบ Wi-Fi หรือ Bluetooth ในรถยนต์ที่เชื่อมต่อกับ
Smartphone ที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน (Application) ต่างๆ ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกเพลง สั่งซื้อสินค้า จองโรงแรม หรือจองตั๋วภาพยนตร์
ผ่านคอนโซลหน้ารถยนต์ได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้ BI Intelligence (บริษัทวิจัยธุรกิจที่มีชื่อเสียงของโลก) คาดว่ายอดจำหน่ายรถยนต์เชื่อมต่อ
อินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 35% ต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2559-2564 จนพุ่งแตะระดับ 94 ล้านคัน หรือคิดเป็นสัดส่วน
สูงถึง 82% ของยอดจำหน่ายรถยนต์โลกในปี 2564

          รถยนต์ไร้คนขับ เป็นการรวมเทคโนโลยีรถยนต์เข้ากับเทคโนโลยีการสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ล้ำสมัยสำหรับติดตั้งในรถยนต์ เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยให้ผู้ขับขี่ควบคุมรถยนต์ได้ง่ายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับมีหลายระดับ
ตั้งแต่รถยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยการทำงานอัตโนมัติเฉพาะบางหน้าที่ อาทิ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ ระบบช่วย
ถอยจอดอัตโนมัติ ก่อนจะพัฒนาไปสู่รถยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อช่วยการทำงานอัตโนมัติโดยผสานการทำงานหลายหน้าที่เข้าด้วยกัน อาทิ ระบบควบคุมความเร็วและระบบควบคุมช่องทางการวิ่ง และขั้นสูงสุดคือ รถยนต์ไร้คนขับเต็มรูปแบบที่สามารถตัดสินใจบังคับรถยนต์แทน
ผู้ขับขี่ได้ตลอดเส้นทาง ช่วยแก้ปัญหาผู้ขับขี่ที่มีสมรรถนะไม่พร้อมขับขี่หรือไม่สามารถบังคับรถยนต์เองได้ ปัจจุบันสนามบิน Heathrow
ในสหราชอาณาจักรได้ใช้รถยนต์ไร้คนขับเต็มรูปแบบ Ultra Vehicle ขนส่งผู้โดยสารภายในสนามบินโดยบรรทุกผู้โดยสารได้ราว 4-6 คน พร้อมสัมภาระ ขณะที่หลายบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบรถยนต์ไร้คนขับ อาทิ Waymo อยู่ระหว่างการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับ
บนถนนจริง nuTonomy ทดสอบระบบรถแท็กซี่ไร้คนขับในสิงคโปร์ในช่วงปลายปี 2559 และตั้งเป้าจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในปี
2561 และ Oxbotica ทดสอบระบบรถยนต์สาธารณะไร้คนขับในกรุงลอนดอน เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2562

          รถยนต์บินได้ ในอดีตรถยนต์ที่บินได้อาจเป็นเพียงจินตนาการเท่านั้น แต่เนื่องจากปัจจุบันเมืองใหญ่ของโลกหลายแห่งกำลัง
เผชิญปัญหาการจราจรบนถนนที่ติดขัดคับคั่งจนเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง โดยเฉพาะการติดต่อธุรกิจ จึงกระตุ้นให้เกิดการคิดค้นและ
พัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์บินได้ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ล่าสุด Airbus Group SE ร่วมกับ Italdesign Giugiaro S.p.A. อยู่ระหว่าง
พัฒนารถยนต์บินได้ ชื่อ Pop.Up ซึ่งขับเคลื่อนได้เองโดยอัตโนมัติและสามารถเดินทางบนอากาศเมื่อติดตั้งใบพัดที่ด้านบนของรถยนต์
นอกจากนี้ โตโยต้าอยู่ระหว่างพัฒนารถยนต์สามล้อบินได้ขนาดเล็กที่สุดในโลก คาดว่าจะนำมาใช้ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
ที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพในปี 2563
 
            สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย หลังจากภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อน
เศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (อาทิ รถยนต์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า)
เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะได้รับการสนับสนุน ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวด้านการลงทุนที่สำคัญ ดังนี้
 
  บจก. โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ HEV กำลังการผลิต
ปีละ 7 หมื่นคัน และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าปีละ 7 หมื่นชิ้น คาดว่าจะเริ่มผลิตในปี 2561
  FOMM Corporation (ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น) เตรียมขยายการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย
กำลังการผลิตปีละ 5,000 คัน
            การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีรถยนต์ที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไทย
จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น การติดตามข่าวสาร ตลอดจนการแสวงหาความรู้จากสถาบัน
การศึกษาหรือสถาบันวิจัยด้านยานยนต์เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการวางแผนปรับการผลิตให้สอดคล้องกับการ
เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม คาดว่าจะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการไทยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและรั้งตำแหน่ง
การเป็นฐานผลิตและส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนสำคัญของโลกต่อไป
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด