|
การเกิดขึ้นของ Fintech ในจีน เอื้อให้การค้าออนไลน์สะดวกยิ่งขึ้น
WeChat เป็นแอพพลิเคชั่นสำคัญบนโทรศัพท์มือถือของจีน ที่ทำงานได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแชทคุยกัน การตรวจสอบ
สภาพอากาศ การเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ หรือแม้กระทั่งการแจ้งข้อร้องเรียนต่อตำรวจ และที่สำคัญที่สุด คือ การโอนเงินและตัดเงินจาก
บัญชีธนาคารเพื่อชำระค่าสินค้าหรือโอนเงินระหว่างบุคคล โดยการผูกบัญชี WeChat ไว้กับบัญชีธนาคาร และเมื่อมีการโอนเงินหรือชำระ
ค่าสินค้าผ่านทาง WeChat ระบบจะตัดเงินจากบัญชีธนาคารที่ผูกไว้ บริการดังกล่าวตอบโจทย์ชาวจีนจำนวนมากที่ไม่ได้มีสถานะการรับรอง
ทางอาชีพหรือทางการเงินเพียงพอที่จะเปิดบัญชีบัตรเครดิต ชาวจีนส่วนใหญ่จึงนิยมใช้แอพพลิเคชั่นนี้ เพียงแค่พกโทรศัพท์มือถือก็สามารถ
จ่ายค่าสินค้าและบริการจากร้านค้าปกติที่มีเครื่องแสกน QR Code อีกทั้งยังสามารถสั่งซื้อสินค้าและบริการออนไลน์โดยจ่ายเงินผ่าน
WeChat ได้เช่นกัน นอกจาก WeChat แล้ว Alipay ของ Alibaba เป็นอีกหนึ่ง Fintech ที่มีบทบาทมากต่อการค้า โดยเฉพาะแบบ Cross-
Border E-Commerce โดย Alipay เป็นเสมือนตัวกลางระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายทำงานคล้ายกับระบบ Paypal ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี แต่เป็น
ระบบที่พัฒนาโดย Alibaba ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าความสะดวกสบายดังกล่าวทำให้จีนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด และมีบทบาทอย่างมาก
ในการผลักดันการค้าแบบ E-Commerce ของจีน ให้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
รัฐบาลจีนมีนโยบายสนับสนุน Cross-Border E-Commerce อย่างจริงจัง
ตั้งแต่ปี 2558 รัฐบาลจีนได้เริ่มกำหนดเมืองนำร่องเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการค้าแบบ Cross-Border E-Commerce จนถึง
ปัจจุบันมีเมืองนำร่องทั้งหมด 13 เมือง ได้แก่ Hangzhou, Tianjin, Shanghai, Chongqing, Hefei, Zhengzhou, Guangzhou, Chengdu,
Dalian, Ningbo, Qingdao, Shenzhen และ Suzhou สิทธิประโยชน์สำคัญที่ได้จากการค้าแบบ Cross-Border E-Commerce ในเมือง
นำร่องดังกล่าว อาทิ การเรียกเก็บภาษีนำเข้าบางรายการในอัตราต่ำกว่าการนำเข้าแบบปกติ ทำให้สินค้าที่ซื้อผ่าน E-Commerce มีราคา
ถูกกว่าสินค้านำเข้าที่วางจำหน่ายในร้านค้าปลีกทั่วไป จึงทำให้การซื้อของนำเข้าผ่าน E-Commerce ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก
ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้ามาเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) ที่ตั้งอยู่ในเมืองนำร่องดังกล่าว ไม่ต้อง
ดำเนินพิธีการทางศุลกากรจนกว่าจะได้รับคำสั่งซื้อและส่งสินค้าออกจากคลังสินค้า ช่วยให้การบริการระบบโลจิสติกส์ทำได้อย่างรวดเร็ว
และมีประสิทธิภาพ
ผู้บริโภคชาวจีนเชื่อถือคุณภาพสินค้านำเข้าที่ซื้อผ่านช่องทาง E-Commerce
ปัจจุบันสินค้าลอกเลียนแบบและสินค้าไม่ได้มาตรฐานยังคงเป็นปัญหาหลักที่ผู้บริโภคชาวจีนเผชิญอยู่เสมอในการซื้อสินค้าจาก
ช่องทางค้าปลีกทั่วไปภายในประเทศ การเลือกซื้อสินค้านำเข้าผ่านช่องทาง E-Commerce จึงเป็นที่นิยม เนื่องจากเป็นการนำเข้าโดยตรง
จากต่างประเทศ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องสินค้าลอกเลียนแบบ อีกทั้งยังเป็นสินค้าที่ผ่านมาตรฐานการผลิตของต่างประเทศ นอกจากนี้ กระแส
ความนิยมท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การนำเข้าสินค้าผ่านช่องทาง E-Commerce ขยายตัว เนื่องจาก
นักท่องเที่ยวชาวจีนติดใจสินค้าของประเทศที่ตนไปท่องเที่ยว เมื่อกลับมาก็จะใช้ E-Commerce เป็นช่องทางสั่งซื้อสินค้ามาใช้ซ้ำอีก
โอกาสของผู้ประกอบการไทย
จะเห็นได้ว่ากระแส E-Commerce สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยรุกเข้าเจาะตลาดชาวจีน โดยปัจจุบันมีสินค้าของไทย
หลายแบรนด์ที่จำหน่ายในช่องทางดังกล่าวแล้ว อาทิ Snail White, Mistine, ข้าวตราฉัตร และดอกบัวคู่ จากความสำเร็จของแบรนด์ไทย
ดังกล่าว มีข้อสังเกตที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มโอกาสในการรุกตลาดจีน ดังนี้
• แบรนด์สินค้าต้องเป็นที่รู้จักอยู่แล้วจึงจะง่ายต่อการบุกตลาดจีน ตลาดจีนเป็นที่หมายตาของผู้ผลิตสินค้าทั่วโลก การแข่งขัน
ในสินค้าแต่ละแบรนด์จึงมีค่อนข้างสูง หากแบรนด์สินค้าของเราเป็นที่รู้จักอยู่แล้วในหมู่ชาวจีน อาจจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยว
ประเทศไทย สินค้าของเราก็ถือว่าได้เปรียบในการรุกเข้าไปในช่องทาง E-Commerce สำคัญของจีน อาทิ Tmall เนื่องจากจะมีโอกาส
ประสบความสำเร็จจากความต้องการใช้สินค้าซ้ำ
• หากแบรนด์สินค้ายังไม่เป็นที่รู้จัก ต้องเริ่มทำการตลาดให้เป็นที่รู้จักเสียก่อน โดยปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)
ถือเป็น Touch Point สำคัญในการทำการตลาดของผู้บริโภคชาวจีน โดยชาวจีนส่วนใหญ่จะหาข้อมูลประสบการณ์การใช้สินค้าจาก
อินเทอร์เน็ตก่อนเลือกซื้อสินค้า ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยอาจต้องหาชาวจีนที่มีชื่อเสียงในการทดลองใช้สินค้ามาใช้สินค้าและแบ่งปัน
ประสบการณ์บนโลกออนไลน์ เพื่อให้สินค้าของเราเป็นที่รู้จักก่อนที่จะเริ่มบุกตลาด Cross-Border E-Commerce ของจีน ทั้งนี้
อีกทางเลือกหนึ่งของการทำตลาด คือ การทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเที่ยวประเทศไทย โดยอาจนำสินค้า
ไปวางตามจุดให้บริการนักท่องเที่ยวเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า |
|