วิถีการค้าออนไลน์ใน สปป.ลาว...จุดเล็กๆ ที่แตกต่าง  
            เป็นที่ทราบกันดีว่า กระแสดิจิทัลเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่พลิกโฉม
โลกการค้าในยุคปัจจุบันให้เข้าสู่รูปแบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งการ
เปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้การค้าของไทย โดยเฉพาะการค้า
ระหว่างประเทศและการค้าชายแดนเข้าสู่รูปแบบออนไลน์เช่นกัน เรื่องเล่า
ระหว่างทางฉบับนี้จึงขอหยิบยกประสบการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการค้า
ระหว่างไทย-สปป.ลาว (มูลค่าการค้าชายแดนอยู่ที่ราว 98% สูงสุดใน
บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของไทย) ในยุคดิจิทัลมาถ่ายทอดให้แก่ท่าน
ผู้อ่านทุกท่านได้ทราบกัน

          เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวเลขจากรายงานของ We are Social บริษัทด้าน
สื่อโฆษณาชั้นนำของโลกระบุว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใน สปป.ลาว ณ เดือน
มกราคม 2560 มีจำนวนราว 1.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 83% เมื่อเทียบกับ
ช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนผู้ใช้ Social Media เพิ่มขึ้นราว 84%
โดยแอพพลิเคชันอย่าง Facebook มีผู้ใช้มากถึง 1.8 ล้านคน คิดเป็น
จำนวนเทียบเท่ากับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใน สปป.ลาว เลยทีเดียว สอดคล้อง
กับผลการสำรวจของ Alexa บริษัทสำรวจและจัดอันดับเว็บไซต์ของโลก
ที่ระบุว่า Facebook เป็นเว็บไซต์ยอดนิยมที่ชาวลาวเข้าชมมากเป็นอันดับ
ต้นๆ รองจากเว็บไซต์ Youtube และ Google ทั้งนี้ ความนิยมใช้
Facebook ในหมู่ผู้บริโภคชาวลาวส่งผลให้การค้าออนไลน์ของ สปป.ลาว
แพร่หลายเป็นวงกว้างผ่านช่องทาง Facebook เช่นเดียวกับในไทย โดย
จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการชาวลาวพบว่า ประเภทสินค้าที่เหล่าพ่อค้า
แม่ค้าชาวลาวนิยมจำหน่ายผ่าน Facebook ค่อนข้างคล้ายคลึงกับสินค้า
ที่นิยมจำหน่ายผ่าน Facebook ในไทย อาทิ เครื่องสำอาง และสินค้า
แฟชั่นทั่วไป นอกจากนี้ กลุ่มแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์อื่นๆ ก็ได้
 
  รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวลาวเช่นกัน อาทิ www.bylada.com ซึ่งรองรับการค้าขายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เสริม www.yula.la ที่เป็น
แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้ามือสอง และ www.souvanny.com ซึ่งเป็น Online Store ของ Souvanny Home Center จำหน่ายอุปกรณ์
ก่อสร้างและเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน

          สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในโลกการค้าออนไลน์ของ สปป.ลาว ที่อยากหยิบยกมาบอกเล่า คือช่องทางการชำระค่าสินค้าและวิธีการ
จัดส่งสินค้า โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้านำเข้าซึ่งมีวิธีการและช่องทางค่อนข้างแตกต่างจากรูปแบบที่คุ้นเคยกัน โดยทั่วไปแล้วหากเราทำการ
สั่งซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้า ผู้ขายสินค้ามักกำหนดให้ผู้ซื้อชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิต หรือ
E-Wallet ประเภทต่างๆ หลังจากนั้นผู้ขายจะจัดส่งสินค้าผ่านบริษัทจัดส่งสินค้า หรือระบบไปรษณีย์ ขณะที่การสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ
ของผู้บริโภคชาวลาว โดยเฉพาะการสั่งซื้อจากประเทศไทยมักนิยมชำระเงินผ่านตัวแทนรับโอนเงินระหว่างไทย-ลาว มากกว่าชำระค่าสินค้า
ผ่านบัตรเครดิต หรือ E-Wallet ซึ่งความนิยมดังกล่าวสอดคล้องกับกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ของธนาคารใน
สปป.ลาว ที่เริ่มให้ความสนใจพัฒนาบริการดังกล่าวมากขึ้น โดยปัจจุบัน สปป.ลาว มี FinTech ที่เกี่ยวข้องกับการโอนเงินออนไลน์แล้ว อาทิ
BCEL One แอพพลิเคชัน Mobile Banking ของธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL) รวมทั้งการโอนเงินผ่านเครือข่ายโทรคมนาคมของ
สปป.ลาว อย่าง UniTel ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาระบบร่วมกับ BCEL

          สำหรับวิธีการจัดส่งสินค้านั้น ระบบไปรษณีย์ของ สปป.ลาว มักให้ผู้รับพัสดุ/จดหมายเดินทางมารับด้วยตนเอง ณ ที่ทำการไปรษณีย์
ประจำแขวง ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อระบบการค้าออนไลน์ของ สปป.ลาว ส่งผลให้การส่งสินค้าจากประเทศไทยไปให้ลูกค้าชาวลาว
นิยมใช้ตัวแทนรับส่งสินค้าระหว่างไทย-ลาว โดยผู้ขายชาวไทยจะส่งสินค้าไปยังตัวแทนขนส่งสินค้าซึ่งมักอยู่บริเวณชายแดนไทย-ลาว
หลังจากนั้นตัวแทนรับส่งสินค้าจะขนส่งสินค้าดังกล่าวข้ามไปยังจุดรับสินค้าที่ลูกค้าชาวลาวระบุไว้ ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการจัดส่งสินค้าของ
ตัวแทนรับส่งสินค้าอยู่ที่ราว 3-7 วันทำการขึ้นอยู่กับระยะทางที่ต้องขนส่ง

          จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าแม้การค้าออนไลน์ใน สปป.ลาว ได้รับความนิยมมากขึ้นผ่านช่องทาง Social Media และแพลตฟอร์ม
ซื้อขายสินค้าออนไลน์ต่างๆ แต่วิธีการชำระเงินส่วนใหญ่ยังไม่ได้อยู่ในรูปแบบออนไลน์อย่างแท้จริงเสียทีเดียว ขณะที่การจัดส่งสินค้าไปถึง
มือลูกค้าโดยตรงยังมีข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทยที่จะรุกธุรกิจออนไลน์
โดยประเภทสินค้าและช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ของ สปป.ลาว ที่คล้ายคลึงกับไทยจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเข้าใจและเข้าถึงกลุ่ม
ลูกค้าชาวลาวได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันข้อจำกัดของระบบการจัดส่งสินค้าใน สปป.ลาว อาจเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปขยายธุรกิจ
โลจิสติกส์ใน สปป.ลาว อย่างไรก็ตาม ช่องทางการชำระค่าสินค้าของลูกค้าชาวลาวถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยควรศึกษา
รายละเอียดให้ถี่ถ้วนก่อนรุกตลาดออนไลน์ใน สปป.ลาว เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด