ท่ามกลางความผันผวนและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เศรษฐกิจอินเดียแสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่ร้อนแรงมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจอินเดียขยายตัว 6.5% สูงที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ขณะที่ในไตรมาสแรกปี 2568 เศรษฐกิจอินเดียยังขยายตัวได้ถึง 7.4% และหากอ้างอิงตามการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะพบว่า GDP ของอินเดียในปี 2568 จะมีมูลค่าราว 4.187 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แซงญี่ปุ่นขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกได้สำเร็จ ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งก็คาดว่าอินเดียจะผงาดขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกภายในปี 2573 เป็นรองเพียงสหรัฐฯ และจีน

           การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงของอินเดียในช่วงที่ผ่านมานั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากแต่ได้แรงหนุนจากหลายปัจจัยสำคัญที่ผสานรวมกันอย่างลงตัว โดยเฉพาะการที่รัฐบาลอินเดียประกาศมุ่งสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2590 ภายใต้วิสัยทัศน์ Viksit Bharat 2047 ซึ่งนำทางให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม แม้ IMF คาดว่า เศรษฐกิจอินเดียจะชะลอการขยายตัวเหลือ 6.2% ในปี 2568 ต่ำสุดในรอบ 4 ปีจากความเสี่ยงของสงครามการค้า แต่อินเดียยังคงเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เติบโตเร็วที่สุด โดยมี Driving Factors หลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินเดียในระยะข้างหน้า ดังนี้

           การใช้จ่ายภาครัฐ แม้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 การลงทุนของภาคเอกชนจะชะลอตัวจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก แต่เศรษฐกิจอินเดียที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งได้แรงหนุนหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ในปี 2569 จากการที่รัฐบาลอินเดียยังมีช่องว่างทางการคลังอีกมาก ทำให้ยังสามารถเพิ่มเป้าการใช้จ่ายด้านการลงทุนได้อีกอย่างน้อย 8 แสนล้านรูปี จากเดิมที่ตั้งงบประมาณไว้ 11.2 ล้านล้านรูปี

           การบริโภคในเขตชนบท ปัจจุบันการเติบโตของการบริโภคในเขตชนบทของอินเดียกำลังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลด
ช่องว่างและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของอินเดีย โดยแนวโน้มสภาพอากาศที่ดีในปี 2568 ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรปรับขึ้นและเพิ่มรายได้เกษตรกร ประกอบกับปัญหาเงินเฟ้อบรรเทาลง ช่วยกระตุ้นการบริโภคในเขตชนบท สะท้อนจากข้อมูลล่าสุดที่ชี้ว่ายอดขายรถแทรกเตอร์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของภาคชนบท เพิ่มขึ้นในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคก็ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

           อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) เน้นย้ำว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นนโยบายเร่งด่วน ล่าสุดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5% เหลือ 5.5% ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งที่ 3 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 พร้อมทั้งปรับลดอัตราเงินสดสำรองเพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดสินเชื่อ นับเป็นการส่งสัญญาณว่าการต่อสู้กับเงินเฟ้อได้สิ้นสุดลงและ RBI พร้อมลดดอกเบี้ยอีกในระยะข้างหน้า

           ความต้องการบริโภคฟื้นตัว แม้การบริโภคในเขตเมืองของอินเดียยังอ่อนแอ เพราะค่าครองชีพที่สูงและการเติบโตของค่าจ้างที่ซบเซา แต่สถานการณ์ดังกล่าวกำลังเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะจากมาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งรวมถึงการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับผู้มีรายได้ต่ำ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภค

           FDI ยังคงหลั่งไหลเข้าอินเดีย อินเดียกำลังก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางของการลงทุนระดับโลก โดยในปีที่ผ่านมามูลค่า FDI ของอินเดียขยายตัว 14% สูงสุดในรอบ 3 ปี ซึ่ง FDI ส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่ภาคบริการ รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมไฮเทค และภาคการค้า โดยอินเดียมีข้อได้เปรียบสำคัญจากการมีแหล่งพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากและราคาถูก ซึ่งช่วยเสริมแหล่งพลังงานหลักของประเทศ นับเป็นแรงจูงใจสำคัญสำหรับธุรกิจที่ต้องการลดต้นทุนการผลิต

           ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจข้างต้นแล้ว ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจอินเดียยังได้แรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐานหลัก ได้แก่ (1) การมีประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก สะท้อนจาก Median Age ที่อยู่ในระดับต่ำเพียง 28.8 ปี จากที่ปัจจุบันอินเดียมีประชากรมากที่สุดในโลกถึงราว 1.4 พันล้านคน (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ แต่ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และ (3) การพยายามรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รัฐบาลอินเดียสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้อยู่ในระดับสูงเกินไปตั้งแต่ช่วง COVID-19 และลดได้อย่างต่อเนื่อง จนแตะระดับ 4.6% ในปี 2567 ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2562 ขณะเดียวกัน ยังมุ่งมั่นที่จะลดยอดขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยตั้งเป้าลดเหลือ 4.4% ในปี 2568 หลังพุ่งแตะระดับราว 10% ในช่วง COVID-19 นอกจากนี้ อินเดียยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก สะท้อนเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ซึ่งช่วยเป็นเกราะป้องกันเศรษฐกิจจากความผันผวนภายนอกประเทศได้เป็นอย่างดี

           สถานการณ์สงครามการค้ายุคทรัมป์ 2.0 ที่ยังมีความไม่แน่นอน กำลังผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องกระจายความเสี่ยงด้วยการหาตลาดใหม่ โดยอินเดียถือเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการขยายธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การรุกตลาดต่างประเทศยังคงมีความเสี่ยงและความท้าทายรออยู่ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษาตลาดและวางแผนธุรกิจอย่างรอบคอบ เพื่อคว้าโอกาสจากตลาดศักยภาพแห่งนี้
 
Disclaimer: ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจ
เท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด