“อาหารไทย” เป็นหนึ่งใน “ซอฟต์พาวเวอร์” หรือพลังทางวัฒนธรรมที่สะท้อนเอกลักษณ์ของความเป็นไทย สร้างความประทับใจให้กับนานาชาติ ทั้งในด้านรสชาติ ความจัดจ้าน และเสน่ห์เฉพาะตัว ซึ่งได้รับความนิยมทั่วโลก สะท้อนได้จากสถาบันอาหารในระดับสากลจัดอันดับให้อาหารไทยติดอันดับ 100 เมนูที่ดีที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง อาทิ แกงมัสมั่น ต้มข่าไก่ แกงพะแนง ข้าวซอย
ผัดไทย ฯลฯ ความนิยมนี้ทำให้จำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
แต่การปรุงอาหารไทยในต่างประเทศ แม้จะทำเป็นธุรกิจร้านอาหาร หรือปรุงบริโภคเองในครัวเรือน ก็ยังมีปัญหาด้านวัตถุดิบที่ไม่สามารถหาได้ง่ายและครบตามสูตรต้นตำรับ ทำให้หลายร้านจำเป็นต้องประยุกต์ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นแทน ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อรสชาติ หากยังเพิ่มต้นทุนและเสี่ยงต่อการไม่ผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะในตลาดยุโรปที่มีข้อกำหนดเข้มงวด ปัญหานี้ทำให้คุณกนกวรรณ สีหราช ผู้จัดการฝ่ายขายและส่งออก บริษัท ว็อก ฟู้ดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด สาวไทยผู้ใช้ชีวิตอยู่ในอิตาลีมากกว่า 30 ปี และมีประสบการณ์ในแวดวงอาหารมาอย่างยาวนาน เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจจากความต้องการวัตถุดิบไทยแท้ในการปรุงอาหารให้เหมือนรสชาติต้นตำหรับมากที่สุด จึงเป็นที่มาของว็อก ฟู้ดส์ ผู้ดำเนินธุรกิจส่งออกอาหารพร้อมปรุงและเครื่องปรุงรส
เปิดร้านจำหน่ายวัตถุดิบไทยอาหารไทยในอิตาลี
จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจมาจากการที่คุณกนกวรรณ ย้ายตามครอบครัวไปใช้ชีวิตในประเทศอิตาลี และได้เข้าเรียนบริหารธุรกิจ
ที่ ALMA School สถาบันชั้นนำระดับโลกด้านการอาหาร ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในการทำอาหารอย่างโชกโชน จึงมองเห็นโอกาส
ทางธุรกิจจากความต้องการวัตถุดิบไทยแท้ของร้านอาหารไทยและการปรุงรับประทานเองในครอบครัวจึงเริ่มเปิดร้านจำหน่ายสินค้าไทย
ขนาดเล็กในอิตาลีเมื่อราว 15 ปีก่อน ก่อนจะขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มร้านอาหาร โรงแรม และ
ห้างค้าปลีกที่เพิ่มขึ้น จนพัฒนาเป็นคลังสินค้าเพื่อจัดเก็บและกระจายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีจุดแข็งคือ ความเข้าใจ
ในระบบกฎหมาย มาตรฐานอาหาร และกระบวนการนำเข้า-ส่งออกของสหภาพยุโรป
“ในอดีตการจัดหาสินค้าไทย เช่น น้ำปลา หรือเครื่องปรุงรสในอิตาลีเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะต้องนำเข้าผ่านประเทศที่สามอย่างฝรั่งเศสหรือเนเธอร์แลนด์ เราจึงเริ่มนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยโดยตรง และได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า” คุณกนกวรรณ กล่าว
ในขณะที่กิจการกำลังไปได้ดีก็ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่คือ ภาวะเศรษฐกิจยุโรปเริ่มชะลอตัว ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงจึงหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ราคาสินค้าสามารถแข่งขันได้ จึงเป็นที่มาของความคิดที่จะผลิตสินค้าเพื่อส่งออกเองตัดพ่อค้าคนกลางออกราคาสินค้าก็จะถูกลง
คุณกนกวรรณ กล่าวว่า อาหารพร้อมปรุงและเครื่องปรุงรสถือเป็นสินค้าที่มีความต้องการต่อเนื่อง แม้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย สามารถเก็บรักษาได้ยาวนาน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและคุณค่าทางโภชนาการ
ปั้นแบรนด์ไทย ส่งตรงถึงยุโรป
คุณกนกวรรณ กล่าวว่า การที่เป็นเชฟมาก่อนและเรียนด้านการอาหาร ทำให้อยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ซึ่งมีข้อดีคือ
จะสามารถควบคุมต้นทุนและคุณภาพสินค้าได้อย่างใกล้ชิด จึงเป็นที่มาของบริษัท ว็อก ฟู้ดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผลิตวัตถุดิบสำเร็จรูปสำหรับอาหารไทยและอาหารเอเชียพร้อมปรุงและเครื่องปรุงรสหลากหลายประเภท ทั้งภายใต้แบรนด์ของตนเองคือ WokFoods และ Asiatica และแบรนด์ของลูกค้าที่รับจ้างผลิต (OEM)
“หนึ่งในสินค้าหลักที่บริษัทเลือกเริ่มผลิตในประเทศไทยคือ เส้นบุก ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ผู้บริโภคยุโรปในฐานะอาหารเพื่อสุขภาพ จึงเข้าไปควบคุมกระบวนการผลิตทั้งหมด และวางตำแหน่งให้เป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจร (One Stop Service) ที่เข้าใจข้อกำหนด ฉลากผลิตภัณฑ์ และมาตรฐานด้านความปลอดภัยของแต่ละประเทศอย่างถ่องแท้ นอกจากนี้ยังรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับลูกค้าโดยมีผลิตภัณฑ์หลัก อาทิ เส้นหมี่ แป้ง วุ้นเส้น และเครื่องปรุงรสต่าง ๆ” คุณกนกวรรณ กล่าว
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดย ว็อก ฟู้ดส์ (ไทยแลนด์) ส่งออกทั้งหมด 100% ไปจำหน่ายที่สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
มาตรฐานระดับโลก ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่
คุณกนกวรรณ กล่าวว่า การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกคุณภาพสินค้าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จุดเด่นในการทำธุรกิจคือบริษัทซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศโดยตรงและว่าจ้าง Sub-contract ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพภายใต้แบรนด์สินค้าของตัวเองและแบรนด์ของผู้ซื้อที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าในระดับสากล ซึ่งบริษัทได้รับเครื่องหมายมาตรฐานสินค้าที่สำคัญ เช่น EU Standard, USDA Organic (U.S. Department of Agriculture เป็นตรารับรองอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกของสหรัฐฯ) และ HALAL
แม้จะประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ แต่การดำเนินธุรกิจในตลาดส่งออกยังคงเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะจากผู้ส่งออกคู่แข่งอย่างเวียดนาม ซึ่งได้เปรียบในด้านข้อตกลงการค้าเสรีกับยุโรป (FTA) คุณกนกวรรณจึงเลือกวางตำแหน่งสินค้าในระดับพรีเมียม เพื่อสร้างความแตกต่าง เน้นจุดเด่นด้านคุณภาพและภาพลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นไทยอย่างแท้จริง นอกจากนี้ เธอยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการกระแสเงินสดอย่างรอบคอบ เนื่องจากลูกค้าต่างประเทศมักขอเครดิตและมีระยะเวลาการชำระเงินที่ยาวนาน ขณะที่ซัพพลายเออร์ในประเทศมักต้องการเงินล่วงหน้า อีกทั้ง ต้นทุนด้านค่าระวางเรือที่สูงขึ้นและระยะเวลาขนส่งที่ยาวนานกว่าเดิม ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องบริหารจัดการให้เหมาะสม
การสนับสนุนจาก EXIM BANK
คุณกนกวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ในการเข้าถึงสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยเริ่มรู้จัก EXIM BANK ว่าเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่พร้อมช่วยคนตัวเล็ก ไม่ต้องใช้หลักประกันมากเหมือนสถาบันการเงินทั่วไป เนื่องจากมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกัน ทำให้รู้สึกประทับใจ และตัดสินใจใช้บริการ EXIM BANK ในการดำเนินธุรกิจส่งออกเพียงรายเดียว |