ASEAN Tourism Standards คืออะไร
ธุรกิจท่องเที่ยวไทยควรปรับตัวอย่างไรให้สอดคล้อง?
 
  ถาม : ASEAN Tourism Standards คืออะไร และธุรกิจท่องเที่ยวไทยควรปรับตัวอย่างไรให้สอดคล้อง?
ตอบ : ภาคการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียน สะท้อนได้จากรายงานของ World
Economic Forum เรื่อง The ASEAN Travel and Tourism Competitiveness Report 2012 ซึ่งประมาณการว่า
ภาคการท่องเที่ยวทำรายได้ให้แก่อาเซียนเป็นสัดส่วนถึง
4.6% ของ GDP อาเซียน และก่อให้เกิดการ
จ้างงานถึง 9.3 ล้านตำแหน่ง หรือคิดเป็น 3.2% ของการจ้างงานทั้งหมดในอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ภาค
การท่องเที่ยวของแต่ละประเทศในอาเซียนยังมีความแตกต่างกันมาก ดังเห็นได้จากดัชนี Travel and Tourism
Competitiveness Index (TTCI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ โดยในปี 2554
มีประเทศสมาชิกอาเซียนเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ที่มีดัชนีดังกล่าวอยู่ใน 50
อันดับแรกจากการจัดอันดับทั้งหมด 139 ประเทศ
ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการเชื่อมโยงแหล่ง
ท่องเที่ยวในอาเซียนให้เป็น Single Destination อาเซียนจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียนปี
2554-2558 (ASEAN Tourism Strategic Plan 2011-2015)
เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว
ในอาเซียน โดยมียุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่ง คือ การจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN
Tourism Standards)
เพื่อยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศในอาเซียนให้มีความใกล้เคียงกัน
และมีความเป็นสากลมากขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของไทยจึงควรเร่งพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพธุรกิจ
ของตนให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยวอาเซียนดังกล่าวซึ่งแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
         1. มาตรฐานโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) อาทิ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับ
สิ่งแวดล้อม การใช้ระบบบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ การใช้อุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดพลังงาน การแยกพื้นที่
สำหรับผู้สูบบุหรี่ เป็นต้น
         2. มาตรฐานด้านอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverages Services) อาทิ การออกแบบพื้นที่
และการใช้วัสดุที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย การแยกการจัดเก็บอาหารสด (Raw Food) ออกจากอาหารพร้อม
รับประทาน การจัดหาอุปกรณ์ทำความสะอาด อาทิ สบู่ ผ้าเช็ดมือ ให้แก่ผู้ประกอบอาหาร เป็นต้น
         3. มาตรฐานด้านห้องน้ำสาธารณะ (Public Restroom) อาทิ การใช้ระบบจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ
การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการและผู้สูงอายุ การรักษาพื้นห้องน้ำให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ เป็นต้น
         4. มาตรฐานที่พักแบบ Home Stay อาทิ การออกแบบและตกแต่งห้องพักโดยใช้วัสดุท้องถิ่น การจัดหา
กุญแจให้แก่นักท่องเที่ยวสำหรับปิดห้องพักหรือหน้าต่างเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมแบบ
ท้องถิ่นให้นักท่องเที่ยวเข้าร่วม อาทิ การประดิษฐ์งานฝีมือแบบท้องถิ่น การร้องรำทำเพลงแบบท้องถิ่น เป็นต้น
         5. มาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) อาทิ การทำป้ายบอกเส้นทางท่องเที่ยวที่ชัดเจน
การจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับพื้นที่และระบบนิเวศ อันก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เป็นต้น
         6. มาตรฐานสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ (Tourism Heritage) อาทิ การจำกัด
จำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับสถานที่ การจัดทำสื่อหรือกิจกรรมเพื่อให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว การติดตามและ
ประเมินผลกระทบจากการท่องเที่ยวต่อสถานที่ท่องเที่ยวดังกล่าว เป็นต้น
         แม้ว่าปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยวไทยโดยรวมมีมาตรฐานค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ
และถือเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเชื่อมั่นและประทับใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจึง
กลับมาท่องเที่ยวอีกหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามแนวทางของ ASEAN Tourism Standards และรักษา
ระดับมาตรฐานดังกล่าว ย่อมส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจท่องเที่ยวไทยรวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยว
ในอาเซียน โดยเฉพาะเมื่อประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เช่น ประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และ
เวียดนาม) ยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวให้เป็นสากลมากขึ้น ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้การเชื่อมโยง
แหล่งท่องเที่ยวในอาเซียนเป็น Single Destination ประสบผลสำเร็จ ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างกัน
ในภูมิภาค รวมทั้งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในอาเซียนรวมทั้งไทยมากขึ้น
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด