กฎหมายลงทุนต่างชาติฉบับใหม่ของพม่า...
พัฒนาการครั้งสำคัญของการปฏิรูปประเทศ
 
   
           เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2555 รัฐสภาพม่าได้ผ่านร่างกฎหมายลงทุนต่างชาติ (Foreign Investment Law) ฉบับใหม่เพื่อใช้แทนกฎหมายลงทุนต่างชาติฉบับเดิมซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2531 อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี
เต็ง เส่ง ของพม่าได้ส่งคืนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวให้รัฐสภาพม่า พร้อมเสนอให้มีการแก้ไขข้อกฎหมายเพิ่มเติม
เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555
ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้ลงนามรับรองกฎหมายลงทุนต่างชาติฉบับใหม่แล้ว นับเป็นความก้าวหน้าครั้ง
สำคัญในการปฏิรูปประเทศของพม่าซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อผนวกกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของ
พม่าที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง ค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำ และทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ก็ยิ่งทำให้นักลงทุน
จากทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจพม่าในฐานะเป็นแหล่งลงทุนแห่งใหม่ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนกระตุ้นมูลค่า
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ของพม่าให้เพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ World
Investment Report 2012 ประมาณการมูลค่า FDI ของพม่าปี 2554 อยู่ที่ราว 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น
กว่าเท่าตัวจากปี 2549
         สำหรับรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับกฎหมายลงทุนต่างชาติฉบับใหม่ของพม่า มีดังนี้
          การกำหนดอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนของ Myanmar Investment Commission (MIC) ซึ่งเป็น
หน่วยงานของรัฐบาลพม่าทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมทั้งขยายขอบเขตการดำเนินงานของ
MIC เพิ่มเติม อาทิ การให้อำนาจในการยอมรับหรือปฏิเสธธนาคารพาณิชย์ที่นักลงทุนต่างชาติใช้ทำธุรกรรมทาง
การเงิน รวมถึงการให้อำนาจในการลงโทษนักลงทุนต่างชาติที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ ซึ่ง
บทลงโทษจะครอบคลุมตั้งแต่การตักเตือน การระงับสิทธิประโยชน์การลงทุนชั่วคราว ไปจนถึงการขึ้นบัญชีดำ
นักลงทุนรายนั้น
            นอกจากนี้ กฎหมายลงทุนต่างชาติฉบับใหม่ยังกำหนดกรอบเวลาของ MIC ที่จะยอมรับหรือปฏิเสธ
การพิจารณาข้อเสนอโครงการลงทุนเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ภายใต้กฎหมายลงทุนต่างชาติภายใน 15 วันนับจากวันที่นักลงทุนต่างชาติยื่นข้อเสนอโครงการลงทุน และหาก MIC ยอมรับที่จะพิจารณาข้อเสนอ
โครงการลงทุนดังกล่าว ก็ต้องดำเนินการพิจารณาเพื่อรับรองหรือปฏิเสธโครงการลงทุนดังกล่าวให้
แล้วเสร็จภายใน 90 วัน (รวมทั้งหมด 105 วันนับจากวันที่นักลงทุนต่างชาติยื่นข้อเสนอโครงการลงทุน)
ทั้งนี้ การกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาโครงการลงทุนของ MIC ทำให้ขั้นตอนในการดำเนินงานมีความชัดเจน
และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อนักลงทุนต่างชาติที่ยื่นข้อเสนอขอรับการส่งเสริมโครงการลงทุนดังกล่าว           การกำหนดรูปแบบการลงทุนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น กฎหมายลงทุนต่างชาติฉบับใหม่อนุญาตให้
นักลงทุนต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ทั้งหมด (Wholly Foreign-Owned Enterprises) หรือร่วมลงทุน
(Joint Ventures) กับนักลงทุนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐบาลพม่า โดยยกเลิกข้อจำกัดมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำ
รวมทั้งยกเลิกการกำหนดสัดส่วนการลงทุนขั้นต่ำของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ที่ร้อยละ
35 ของ
มูลค่าการลงทุนทั้งหมด นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนท้องถิ่นสามารถกำหนด
สัดส่วนการลงทุนในโครงการได้เอง
ขณะที่ MIC สามารถพิจารณากำหนดสัดส่วนการลงทุนขั้นต่ำเป็นรายกรณีได้
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อสภาพ
แวดล้อมหรือสุขอนามัยของชาวพม่า รวมถึงอุตสาหกรรมบางประเภทที่สงวนไว้สำหรับชาวพม่าเท่านั้น อย่างไรก็ตาม
กฎหมายลงทุนต่างชาติฉบับใหม่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใดบ้างที่สงวนไว้สำหรับชาวพม่าหรือห้าม
นักลงทุนต่างชาติลงทุน โดยให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ MIC
          การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่นักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติม โดยขยายระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้
นิติบุคคลจากในช่วง 3 ปีแรกของการดำเนินโครงการ เป็น 5 ปีแรกของการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ ยังยกเว้นภาษี
เงินได้จากการนำผลกำไรกลับไปลงทุนใหม่ภายใน 1 ปี ภาษีนำเข้าเครื่องจักร อะไหล่ และวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการ
ก่อสร้างโครงการหรือเพื่อขยายโครงการลงทุนที่มีอยู่แล้ว ภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเมื่อเริ่มโครงการแล้ว
เป็นเวลา 3 ปี และ MIC อาจพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับโครงการลงทุนในพื้นที่ห่างไกลและยังไม่
พัฒนา เป็นต้น
          การผ่อนคลายข้อกำหนดการเช่าที่ดิน นักลงทุนต่างชาติสามารถเช่าที่ดินทั้งจากหน่วยงานของรัฐบาล
พม่าและภาคเอกชน จากเดิมที่กำหนดให้เช่าที่ดินจากหน่วยงานของรัฐบาลพม่าเท่านั้น โดยขยายระยะเวลาการ
เช่าที่ดินเพิ่มขึ้นเป็น
50 ปี และสามารถต่อสัญญาเช่าได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี จากเดิมที่กำหนดระยะเวลา
เช่าที่ดินเพียง 30 ปี และต่อสัญญาเช่าได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 15 ปี นอกจากนี้ MIC อาจพิจารณาขยายระยะเวลาเช่าที่ดิน
ให้แก่โครงการลงทุนในพื้นที่ที่ขาดแคลนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติยังไม่ได้รับ
อนุญาตให้เป็นเจ้าของที่ดินในพม่า
         แม้ว่ากฎหมายลงทุนต่างชาติฉบับใหม่ของพม่าจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพม่าได้
มากขึ้น แต่กฎหมายลงทุนดังกล่าวยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม โดยเฉพาะการกำหนดเงื่อนไขการ
จ้างแรงงาน
ซึ่งมีความเข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ กฎหมายลงทุนต่างชาติฉบับใหม่กำหนดให้การจ้างแรงงานไร้ฝีมือ
(Unskilled Labor) ต้องเป็นชาวพม่าเท่านั้น สำหรับแรงงานมีฝีมือกำหนดให้มีการจ้างแรงงานชาวพม่าเป็นสัดส่วน
อย่างน้อยร้อยละ 25 ของการจ้างแรงงานทั้งหมดในช่วง 2 ปีแรกของการดำเนินโครงการ และเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย
ร้อยละ 50 และร้อยละ 75 ในปีที่ 4 และปีที่ 6 ตามลำดับ รวมทั้งต้องมีการฝึกอบรมให้แรงงานชาวพม่ามีทักษะที่
จำเป็นต่อการทำงานเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ กฎหมายลงทุนดังกล่าวยังขาดความชัดเจนในบางประเด็น อาทิ ประเภท
ของธุรกิจหรือกิจการที่สงวนไว้สำหรับชาวพม่าหรือห้ามนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุน เป็นต้น รวมทั้งการพิจารณา
โครงการลงทุนต่างๆ ยังขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ MIC ซึ่งยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน จึงเป็นประเด็นที่นักลงทุนต้อง
ติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ นักลงทุนไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนในพม่าควรหาพันธมิตรที่เป็นคนท้องถิ่นที่ไว้ใจได้ เพื่อ
ช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ และให้ข้อมูลการลงทุนเชิงลึกยิ่งขึ้น นอกจากนี้
การทำประกันความเสี่ยงการลงทุนเพื่อป้องกันความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถ
เข้าไปลงทุนในพม่าได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด