เครือข่ายสังคมออนไลน์…
โอกาสขยายตลาดอาเซียนในยุคดิจิตอล
 
           ในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา วิถีการดำเนินชีวิตของประชากรแทบทุกส่วนของโลกไม่เว้นแม้แต่
ประเทศในอาเซียน ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลจากการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความ
ก้าวล้ำทันสมัยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือแล็ปท็อป ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันให้การเข้าถึง
ข้อมูล อาทิ ข่าวสาร ความรู้แขนงต่างๆ หรือรายละเอียดของสินค้าและบริการเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว สามารถ
ตอบสนองความต้องการของผู้ที่ต้องการมีชีวิตที่ “ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส” ได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้น อุปกรณ์
ดังกล่าวยังเป็นสื่อกลางสำหรับเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งทำให้การติดต่อสื่อสารกลายเป็นสิ่งที่เปิดกว้าง และ
สามารถเข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้ง่าย แม้ว่าจะอยู่กันคนละซีกโลกก็ตาม
         ทั้งนี้ การทำธุรกิจในยุคดิจิตอลให้ประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการต้องอาศัยความสามารถในการใช้
เทคโนโลยีหลากหลายประเภทเพื่อทำการตลาดและสื่อสารกับลูกค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบกับต้องบริหาร
จัดการต้นทุน และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาวะที่การ
แข่งขันทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะภายหลังการเปิดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic
Community : AEC) ในปี 2558
 
          ภาพรวมพฤติกรรมการเข้าถึงข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ของอาเซียน
         ชาวอาเซียนส่วนใหญ่เข้าถึงข้อมูลผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตสูงกว่าสื่ออื่นๆ โดยสิงคโปร์เป็นประเทศที่มี
สัดส่วนประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในอาเซียน คิดเป็นร้อยละ 67 ของจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปี
ทั้งหมดของสิงคโปร์ (เทียบกับไทยที่ร้อยละ 31) ขณะที่ในปี 2553 สัดส่วนของธุรกิจสิงคโปร์ที่ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่
ร้อยละ 77 ของธุรกิจทั้งหมดในสิงคโปร์ โดยมีธุรกิจราวร้อยละ 60 ที่ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งขึ้นไป
นอกจากนี้ หลายบริษัทในสิงคโปร์ยังใช้อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของระบบการทำงานภายในองค์กร อาทิ การใช้งาน
ระบบซอฟต์แวร์ร่วมกันของแต่ละฝ่ายงาน และการประชุม Video Conference เป็นต้น
 
  ระยะเวลาโดยเฉลี่ยที่ชาวอาเซียนใช้สื่อประเภทต่างๆ  
  ที่มา : The Digital Media Habits and Attitudes of Southeast Asian Consumers, Nielsen, October 2011  
           การใช้อุปกรณ์ประเภทต่างๆ ในการท่องอินเทอร์เน็ตมีความหลากหลายในแต่ละประเทศ โดยสิงคโปร์
มีสัดส่วนผู้ที่ครอบครองโทรศัพท์มือถือที่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้สูงที่สุดในอาเซียน ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์
ตั้งเป้าสู่การเป็น “โลกาภิวัตน์อัจฉริยะนคร (An Intelligent Nation, A Global City)” ภายในปี 2558 โดยมี
มาตรการต่างๆ อาทิ การให้บริการ Wi-Fi ทั่วประเทศ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นต้น
 
  สัดส่วนการใช้อุปกรณ์ประเภทต่างๆ ในการท่องอินเทอร์เน็ตของชาวอาเซียน  
  ที่มา : The Digital Media Habits and Attitudes of Southeast Asian Consumers, Nielsen, October 2011  
           ผู้บริโภคจำนวนมากในอาเซียนใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ในการเลือกซื้อ
สินค้า
โดย Facebook ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ขณะที่
สังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในเวียดนาม คือ Zing Me ซึ่งเป็นสังคมออนไลน์ท้องถิ่นที่ผลิตโดย
บริษัท VNG Corporation ของเวียดนาม เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามยังมีการควบคุมสื่อหลากหลายประเภทรวมทั้ง
Facebook อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายมองว่าการปกครองระบอบสังคมนิยมของเวียดนามอาจเป็นปัจจัยเอื้อ
ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ของเวียดนามให้แข็งแกร่ง ซึ่งจะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ
ได้มากขึ้น ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าชาวอาเซียนส่วนใหญ่ที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลสินค้ามักใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์
เพื่อเข้าไปอ่านข้อความเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้สินค้าและบริการ ดังนั้น สื่อดังกล่าวจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่มี
ประสิทธิภาพในการทำการตลาด ซึ่งผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม เนื่องจากสามารถเผยแพร่ข้อมูลสินค้าออกไปได้
อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมผู้บริโภคจำนวนมาก และมีต้นทุนต่ำกว่าการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และ
หนังสือพิมพ์
 
  สัดส่วนประชากรที่ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการเข้าถึงข้อมูลสินค้า  
  ที่มา : The Digital Media Habits and Attitudes of Southeast Asian Consumers, Nielsen, October 2011  
           ข้อแนะนำการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการทำตลาดอาเซียน
         ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยต่างๆ เช่น ประเภทสินค้าที่เป็นที่นิยมในแต่ละประเทศ อาทิ ชาวสิงคโปร์มีกำลังซื้อสูงและอ่อนไหวต่อกระแสนิยมในตลาดโลก จึงเหมาะสำหรับเป็นตลาดสินค้าประเภท
แฟชั่น ขณะที่ชาวฟิลิปปินส์ใส่ใจกับการดูแลรักษาสุขภาพ ความสวยงามและผิวพรรณ จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจ
ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม อย่างไรก็ตาม ชาวฟิลิปปินส์ไม่ค่อยนิยมเปลี่ยนตราสินค้าที่ใช้ ดังนั้น การเจาะ
ตลาดดังกล่าวอาจต้องอาศัยเวลามากกว่าตลาดอื่น ทั้งนี้ นอกจากผู้ประกอบการต้องใช้เทคโนโลยีที่มีคุณภาพในการ
ผลิตสินค้าแล้ว ยังควรออกแบบผลิตภัณฑ์หรือแม้กระทั่งร้านค้าออนไลน์ให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยและน่าเชื่อถือด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องคำนึงถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เพื่อหาช่องทาง
การเข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด อาทิ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ มีสัดส่วนการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์
ในการเข้าถึงข้อมูลสินค้าค่อนข้างสูง โดยอยู่ที่ร้อยละ 65 ร้อยละ 60 และร้อยละ 56 ของจำนวนประชากรที่มีอายุ
มากกว่า 15 ปีทั้งหมดของแต่ละประเทศ ตามลำดับ จึงเป็นโอกาสในการเจาะตลาดเหล่านี้ผ่านเครือข่ายสังคม
ออนไลน์ ขณะที่เวียดนามยังมีสัดส่วนดังกล่าวค่อนข้างต่ำ โดยอยู่ที่ร้อยละ 8 ดังนั้น เครือข่ายสังคมออนไลน์จึง
อาจยังไม่เหมาะที่จะใช้เจาะตลาดเวียดนาม อีกทั้งผู้ประกอบการยังต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาแนวทางการดำเนิน
ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบริการชำระเงินออนไลน์ที่มีความปลอดภัยและสะดวกรวดเร็วสำหรับ
ลูกค้าที่อยู่ในต่างประเทศ การสร้างพันธมิตรท้องถิ่นในประเทศเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคใน
ประเทศนั้นๆ รวมทั้งการฝึกอบรมด้านสารสนเทศและการสื่อสารให้แก่พนักงาน เพื่อเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นอันจะ
ช่วยนำพาให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
         เครือข่ายสังคมออนไลน์จึงนับเป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการให้
สินค้าของตนเป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคชาวอาเซียน เนื่องจากสอดคล้องกับพฤติกรรมของชาวอาเซียนที่นิยม
บริโภคข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ขณะที่เครือข่ายสังคมออนไลน์มีต้นทุนต่ำและสามารถเข้าถึง
ผู้บริโภคจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ไม่ยากนัก
ผ่านทางการโพสต์ข้อความโฆษณา หรือ
คลิป VDO สาธิตวิธีใช้ลงบนเว็บเพจ ก่อนอาศัยการบอกต่อในเครือข่ายนั้นๆ ต่อไป นอกจากนี้ เครือข่ายสังคม
ออนไลน์เป็นการสื่อสารแบบสองทาง (Two-way Communication)
ซึ่งนอกจากผู้บริโภคจะได้รับข้อมูล
สินค้าจากผู้จำหน่ายแล้ว ยังสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อสินค้าระหว่างกันได้ด้วย อีกทั้งเครือข่ายสังคม
ออนไลน์มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประชาสัมพันธ์
ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้
วิธีประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในยุค
ดิจิตอลดังเช่นปัจจุบัน ซึ่งการแข่งขันด้านเวลาถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจ
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด