ธุรกิจเกษตรและเกษตรแปรรูป...
โอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในกัมพูชา
 
   
 

         กัมพูชามีพื้นที่อุดมสมบูรณ์และมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ
หลากหลายชนิด แต่ยังขาดผู้ประกอบการที่มีทักษะและความพร้อมในการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อส่งออก รัฐบาลกัมพูชาจึงส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจเกษตรและเกษตรแปรรูป เพื่อถ่ายทอดความรู้
ให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรของกัมพูชา ขณะที่ผู้ประกอบการไทยมีความ
ชำนาญในการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นอย่างดี จึงนับเป็นโอกาสในการเข้าไปลงทุนธุรกิจดังกล่าวในกัมพูชา

ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนธุรกิจเกษตรและเกษตรแปรรูปในกัมพูชา
         มีพื้นที่เหมาะแก่การทำการเกษตร กัมพูชามีดินและน้ำอุดมสมบูรณ์และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม จึง
เหมาะแก่การทำการเกษตร สามารถเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจได้หลายชนิด โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ โดยมีพื้นที่เพาะปลูกราวร้อยละ 65 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งประเทศ รวมทั้งพืชเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ข้าวโพด
เลี้ยงสัตว์ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว งา มันสำปะหลัง และยางพารา เป็นต้น
         ขาดแคลนผู้ประกอบการที่มีทักษะและความพร้อมในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ส่งผลให้ผลผลิตทาง
การเกษตรยังไม่ได้มาตรฐานและคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ อีกทั้งเกษตรกรกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ
รายเล็กที่ทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ซึ่งเน้นการเพาะปลูกเพื่อบริโภคเป็นหลัก และยังขาดความรู้และเทคโนโลยีในการ
เพาะปลูกพืชในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งขาดแคลนเงินทุนในการซื้อปัจจัยการผลิต อาทิ เมล็ดพันธุ์ และปุ๋ย เป็นต้น ซึ่ง
ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปเติมเต็มในส่วนเหล่านี้ได้
         รัฐบาลกัมพูชาสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจเกษตรและเกษตรแปรรูป เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานและ
สร้างรายได้แก่เกษตรกร ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของประชากรทั้งประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตทาง
การเกษตร โดยเฉพาะธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ รัฐบาลให้สิทธิพิเศษในการลดหย่อนภาษีสำหรับการนำเข้าเครื่องจักร
ที่ใช้ในการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อส่งออก รวมทั้งอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนในธุรกิจเกษตรและเกษตรแปรรูป
ได้ 100% ในกิจการส่วนใหญ่ ยกเว้นบางสาขา อาทิ การเพาะปลูกพืชพื้นเมือง เช่น สมุนไพร และยา ซึ่งสงวนไว้
สำหรับเกษตรกรชาวกัมพูชา เป็นต้น

โอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ
         ธุรกิจโรงสีข้าว โรงสีข้าวในกัมพูชาส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและมีประสิทธิภาพการผลิตต่ำ เนื่องจาก
ผู้ประกอบการกัมพูชามีข้อจำกัดด้านเงินทุนและยังใช้เครื่องจักรกลที่มีเทคโนโลยีไม่ทันสมัย ทำให้โรงสีข้าวรับซื้อ
ข้าวเปลือกจากชาวนาได้เพียงบางส่วน นอกจากนี้ โรงสีข้าวส่วนใหญ่ยังไม่สามารถควบคุมคุณภาพของข้าวที่สีแล้ว
ได้ ทำให้ข้าวเปลือกที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งต้องส่งออกไปเวียดนามและไทยเพื่อผ่านกระบวนการสีข้าวอีกต่อหนึ่ง ส่งผล
ให้การสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รัฐบาลจึงสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจโรงสีข้าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีนักลงทุนจากไทย เวียดนาม และจีนเข้าไปตั้งโรงสีข้าวในจังหวัดพระตะบอง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่
ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาจนได้รับการขนานนามว่า Rice Bowl of Cambodia และจังหวัดบันเตียเมียนจัย ซึ่งเป็นแหล่ง
ปลูกข้าวสำคัญอีกแห่งหนึ่ง
         ธุรกิจสวนยางและโรงงานแปรรูปยางธรรมชาติขั้นต้น ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเข้าไปปลูกยาง
พาราในกัมพูชาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2554 มูลค่าการลงทุนปลูกยางพาราในกัมพูชาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 255
จากปี 2553 มาอยู่ที่ 675 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากราคายางที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับรัฐบาลสนับสนุน
การลงทุนในธุรกิจดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยางพาราในกัมพูชา 1.33 ล้านไร่ จากพื้นที่ที่เหมาะกับการ
ปลูกยางพาราทั้งหมดราว 1.88 ล้านไร่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากัมพูชายังมีศักยภาพในการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา
ได้อีก ทั้งนี้ ปัจจุบันมีนักลงทุนจากไทย เวียดนาม จีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้เข้าไปลงทุนปลูกยางพาราและตั้ง
โรงงานแปรรูปยางในหลายจังหวัดทางฝั่งตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางพาราสำคัญ อาทิ กัมปงจาม
กำปงธม และมณฑลคีรี เป็นต้น
         ธุรกิจเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและกำลังเป็นที่นิยมในตลาดญี่ปุ่น
ยุโรป และสหรัฐอเมริกา รัฐบาลจึงส่งเสริมการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์เพื่อส่งออก เนื่องจากกัมพูชามีศักยภาพสูงใน
การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์จากความพร้อมของสภาพดินและน้ำที่ยังปลอดจากมลพิษ โดยรัฐบาลมีนโยบายมุ่งสู่
การเป็น “ฟาร์มปลอดสารพิษแห่งเอเชีย (Green Farm of Asia)” ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ
ให้มีการผลิตที่หลากหลายขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและการท่องเที่ยว
เป็นหลัก ทั้งนี้ ธุรกิจเกษตรอินทรีย์ของกัมพูชายังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยสินค้าเกษตรอินทรีย์ส่งออกสำคัญมีเพียงข้าว
และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ขณะที่การปลูกผักและผลไม้อินทรีย์อื่นๆ ยังน้อย จึงนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย
ในการเข้าไปลงทุนและให้ความช่วยเหลือในการถ่ายทอดทักษะความรู้และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์แก่
เกษตรกรท้องถิ่นเพื่อบุกเบิกธุรกิจดังกล่าวในกัมพูชา
         การส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร อาทิ รถไถ รถเก็บเกี่ยว รถตัดหญ้า เครื่องสูบน้ำ เครื่อง
ปั๊มน้ำ เครื่องสีข้าว และเครื่องอบ ทั้งนี้ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรที่เหมาะกับตลาดกัมพูชาควรมีเทคโนโลยี
ไม่ซับซ้อน ใช้งานสะดวก สามารถซ่อมบำรุงได้ง่าย และราคาไม่สูงนัก เนื่องจากเกษตรกรกัมพูชาส่วนใหญ่ยังขาด
ทักษะและมีข้อจำกัดด้านเงินทุน

 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  ภาพประกอบมาจาก www.google.com
การเผยแพร่ภาพนี้เพื่อแนะนำข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ