เขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ…
ช่องทางการลงทุนสำคัญใน สปป.ลาว
 
          ในช่วงที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการที่รัฐบาล
สปป.ลาว มีแผนกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจัง ผ่านการปรับปรุงกฎหมายส่งเสริมการลงทุน
และนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ* (Special Economic
Zone) และเขตเศรษฐกิจเฉพาะ** (Specific Economic Zone) ขึ้นหลายแห่ง โดยผู้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจดังกล่าว
จะได้รับสิทธิประโยชน์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นบริการ One-stop Service จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจด
ทะเบียนการลงทุน และการจัดการด้านแรงงาน การได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์ ยานพาหนะ และวัตถุดิบเพื่อการ
ก่อสร้าง การได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ เช่น ภาษีกำไร (Profit Tax) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax :
VAT) ตามประเภทของการลงทุน รวมทั้งสิทธิ์ในการพำนักใน สปป.ลาว กับครอบครัวในช่วงเวลาที่ระบุไว้ตามสัญญา
ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2555 สปป.ลาว มีเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลแล้ว รวม 10 เขต ดังนี้
 
  เขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะใน สปป.ลาว  
  ที่มา : - Lao National Committee for Special Economic Zone
- กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ (ไทย)
 
  รายละเอียดเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะของ สปป.ลาว
         Boten Beautiful Land Specific Economic Zone (1,640 เฮกตาร์***)
            - ปัจจัยเอื้อต่อการลงทุน พื้นที่อยู่ใกล้กับเส้นทาง A3 ซึ่งเชื่อมระหว่างจีนตอนใต้และเอเชียตะวันออก
เฉียงใต้
            - ธุรกิจที่มีศักยภาพ อาทิ คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า โรงแรม รีสอร์ต สถาบันการเงิน โทรคมนาคม
สนามกอล์ฟ และศูนย์สุขภาพ

         Golden Triangle Special Economic Zone (3,000 เฮกตาร์)
            - ปัจจัยเอื้อต่อการลงทุน พื้นที่อยู่ระหว่างเขตแดน สปป.ลาว ไทย และพม่า ส่งผลให้นักลงทุนสามารถ
นำเข้าวัตถุดิบหรือวัสดุก่อสร้างจากไทยและพม่าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
            - ธุรกิจที่มีศักยภาพ อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคพื้นฐาน เกษตรกรรม ปศุสัตว์ โรงแรม ที่อยู่
อาศัย สนามกอล์ฟ สถาบันการศึกษา ศูนย์สุขภาพ ร้านค้า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร และคลังสินค้า

         Thatluang Lake Specific Economic Zone (365 เฮกตาร์)
            - ปัจจัยเอื้อต่อการลงทุน พื้นที่อยู่ใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ จึงเอื้อต่อการติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ
สามารถหาแรงงานที่มีทักษะค่อนข้างง่าย และสาธารณูปโภคพื้นฐานมีความพร้อม เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2555 ได้
มีการทำพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มต้นการก่อสร้างอย่างเป็นทางการ
            - ธุรกิจที่มีศักยภาพ แบ่งเป็น เขตวัฒนธรรม (อาทิ สถานทูต โรงแรม 5 ดาว และห้างสรรพสินค้า) เขต
การเงินและธุรกิจ (สถาบันการเงิน) เขต Intensive Residential Area (อาทิ โรงพยาบาล และโรงเรียน) เขต
Low-rise Residential Area (ที่อยู่อาศัยในรูปแบบต่างๆ) เขตการท่องเที่ยวและสันทนาการ (อาทิ ศูนย์การค้า
โรงแรมและรีสอร์ต) สนามกอล์ฟ

         Saysetha Development Zone (1,000 เฮกตาร์)
            - ปัจจัยเอื้อต่อการลงทุน พื้นที่อยู่ใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ จึงเอื้อต่อการติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ
และสามารถหาแรงงานที่มีทักษะค่อนข้างง่าย นอกจากนี้ สาธารณูปโภคพื้นฐานยังมีความพร้อมต่อการพัฒนาเป็น
เขตอุตสาหกรรมเบา และอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อส่งออก
            - ธุรกิจที่มีศักยภาพ อาทิ ธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ไม้ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร

          Longthanh-Vientiane Specific Economic Zone (557.75 เฮกตาร์)
            - ปัจจัยเอื้อต่อการลงทุน พื้นที่อยู่ห่างจากใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ 16 กิโลเมตร และอยู่ห่างจาก
สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 1 (จังหวัดหนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์) 400 เมตร มีสาธารณูปโภค
พื้นฐานพร้อม
            - ธุรกิจที่มีศักยภาพ อาทิ สนามกอล์ฟ 36 หลุม โรงแรม 5 ดาว รีสอร์ต หอประชุม ศูนย์กีฬา โรงเรียน
และซูเปอร์มาร์เก็ต

          Dongphosy Specific Economic Zone (53.94 เฮกตาร์)
            - ปัจจัยเอื้อต่อการลงทุน พื้นที่อยู่ห่างจากใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ 16 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนถนน 450
ปี ซึ่งเป็นถนนเพื่อร่วมฉลองครบรอบ 450 ปีแห่งการก่อตั้งนครหลวงเวียงจันทน์ในปี 2553 ถนนดังกล่าวจึงมีสภาพดี
เหมาะแก่การเดินทางหรือขนส่งสินค้า
            - ธุรกิจที่มีศักยภาพ อาทิ สถาบันการเงิน ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม คลังสินค้า โรงพยาบาล
และศูนย์ฝึกอบรม โดยมีเป้าหมายเพื่อรองรับการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งเสริมการค้าบริเวณ
ชายแดน

          Vientiane Industrial and Trade Area (110 เฮกตาร์)
            - ปัจจัยเอื้อต่อการลงทุน พื้นที่อยู่ห่างจากใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์เพียง 22 กิโลเมตร จึงเอื้อต่อการ
ติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ และสามารถหาแรงงานที่มีทักษะได้ค่อนข้างง่าย นอกจากนี้ นักลงทุนยังได้รับสิทธิพิเศษ
ทางภาษีต่างๆ อาทิ หากเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไปของสินค้าทั้งหมดที่ผลิตได้ จะ
ได้รับยกเว้นภาษีกำไร 5-10 ปี (นับตั้งแต่ปีแรกที่ธุรกิจมีกำไร)
            - ธุรกิจที่มีศักยภาพ แบ่งเป็น ภาคบริการ (อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล และโรงแรม) ภาคการค้า (อาทิ
ร้านค้าปลีก และศูนย์การค้า) ภาคอุตสาหกรรม (อาทิ สิ่งทอ รองเท้า จักรยาน และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์)

         Thakhek Specific Economic Zone (1,035 เฮกตาร์)
            - ปัจจัยเอื้อต่อการลงทุน พื้นที่อยู่ใกล้สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 3 (จังหวัดนครพนม-แขวง
คำม่วน) และถนนหมายเลข 12 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักเชื่อมต่อกับท่าเรือน้ำลึก Voung Anh ของเวียดนาม นอกจากนี้
นักลงทุนยังได้รับลดหย่อนภาษีนำเข้าสินค้าประเภทพลังงานและพาหนะสำหรับการผลิตอีกด้วย
            - ธุรกิจที่มีศักยภาพ แบ่งเป็นเขตต่างๆ อาทิ เขตการค้าและบริการ (อาทิ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และ
สถาบันการเงิน) เขตโรงแรม (อาทิ โรงแรม 3-5 ดาว) เขตขนส่งและกระจายสินค้า (อาทิ คลังสินค้า และธุรกิจ
บริการกระจายสินค้า) เขตการศึกษาและสาธารณสุข (โรงเรียน โรงพยาบาล และศูนย์สุขภาพ)

          Phoukhyo Specific Economic Zone (4,850 เฮกตาร์)
            - ปัจจัยเอื้อต่อการลงทุน พื้นที่อยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 3 (จังหวัดนครพนม-แขวง
คำม่วน) เพียง 14 กิโลเมตร และอยู่ใกล้กับถนนหมายเลข 12 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักเชื่อมต่อกับท่าเรือน้ำลึก Voung
Anh ของเวียดนาม และ สปป.ลาว มีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเพื่อเป็นเขตเมืองใหม่นอกจากนี้ นักลงทุนยังได้รับ
สิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ อาทิ ภาคอุตสาหกรรมจะได้รับยกเว้นภาษีกำไรในช่วง 3-10 ปีแรกของการดำเนินธุรกิจ
หลังจากนั้นจึงเสียภาษีกำไรในอัตราร้อยละ 7-8
            - ธุรกิจที่มีศักยภาพ อาทิ โรงแรม 3-5 ดาว โรงเรียน ศูนย์วัฒนธรรม โรงพยาบาล และโรงงานอุตสาหกรรม
ผลิตสินค้าและประกอบชิ้นส่วนอะไหล่

          Savan-Seno Special Economic Zone (954 เฮกตาร์)
            - ปัจจัยเอื้อต่อการลงทุน พื้นที่อยู่ใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 2 (จังหวัดมุกดาหาร-แขวง
สะหวันนะเขต) ซึ่งเชื่อมต่อไปยังเส้นทางหมายเลข 9 และเส้นทางเศรษฐกิจตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West
Economic Corridor : EWEC) ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างพม่า ไทย สปป.ลาว และเวียดนาม ส่งผลให้นักลงทุนได้รับความ
สะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ นักลงทุนยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ อาทิ ภาคบริการ
ได้รับยกเว้นภาษีกำไรในช่วง 2-10 ปีแรกของการดำเนินธุรกิจ หลังจากนั้นจึงเสียภาษีกำไรในอัตราร้อยละ 8 หรือ
ร้อยละ 10 ขึ้นอยู่กับเงินลงทุน ภาคการค้าได้รับยกเว้นภาษีกำไรในช่วง 2-5 ปีแรก หลังจากนั้นจึงเสียภาษีกำไรใน
อัตราร้อยละ 10 ส่วนภาคอุตสาหกรรมได้รับยกเว้นภาษีกำไรในช่วง 5-10 ปีแรก หลังจากนั้นจึงเสียภาษีกำไรในอัตรา
ร้อยละ 8
            - ธุรกิจที่มีศักยภาพ แบ่งเป็น ภาคบริการ (อาทิ สถาบันการเงิน โรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์กีฬา โรงเรียน และ
โรงพยาบาล) ภาคการค้า (อาทิ ธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และร้านจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี)
ภาคอุตสาหกรรม (ธุรกิจแปรรูปอาหาร และประกอบชิ้นส่วนยานยนต์)

            เป็นที่น่าสังเกตว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะของ สปป.ลาว ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ใน
นครหลวงเวียงจันทน์ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของประเทศ ประกอบกับมีระบบ
สาธารณูปโภคครบครัน นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะส่วนใหญ่ยังอยู่ใกล้กับประเทศไทย
สะท้อนให้เห็นว่า สปป.ลาว ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุนระหว่างสองประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
อย่างต่อเนื่อง

            จากปัจจัยดึงดูดการลงทุนต่างๆ ประกอบกับการที่ สปป.ลาว มีเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ
หลายแห่ง ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 25 แห่งภายในปี 2563 ส่งผลให้ สปป.ลาว มีศักยภาพสูงในการรองรับ
กิจกรรมทางการค้าและการลงทุนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต อีกทั้งยังเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว
เฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี สอดคล้องกับเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ เพื่อนำพา สปป.ลาว ให้หลุดพ้นจากการเป็นหนึ่งในกลุ่ม
ประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries : LDCs) ภายในปี 2563 ทั้งนี้ นักลงทุนที่สนใจ
ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ สามารถกรอกใบสมัครแจ้งความประสงค์การลงทุน พร้อมแนบ
เอกสารหลักฐานประกอบการลงทุนที่เกี่ยวข้องส่งไปยัง One-Unit Service Office ของเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขต
เศรษฐกิจเฉพาะนั้นๆ เพื่อดำเนินการต่อไป

 
  หมายเหตุ *
**

***
เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเขตที่รัฐบาลกำหนดไว้เพื่อพัฒนาเป็นตัวเมืองใหม่
เขตเศรษฐกิจเฉพาะประกอบด้วยธุรกิจประเภทที่รัฐบาลให้การส่งเสริม อาทิ เขตอุตสาหกรรม
เขตวัฒนธรรม และเขตการค้าและบริการ เป็นต้น
1 เฮกตาร์ = 10,000 ตารางเมตร
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด