ส่องสินค้าและธุรกิจที่น่าสนใจในฟิลิปปินส์  
   
           แม้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังให้ความสนใจฟิลิปปินส์ไม่มากนัก แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไปแล้ว
ฟิลิปปินส์นับเป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งมีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทศอื่นในอาเซียนด้วยปัจจัยสนับสนุน
หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปีในช่วงปี 2551-2555
ตลาดขนาดใหญ่ด้วยประชากรราว 104 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย (248 ล้านคน)
แรงงานที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี และประชากรจำนวนมากสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้
ประชากรกลุ่มดังกล่าวมีโอกาสเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ และสร้างรายได้กลับเข้าประเทศกว่า 7 พันล้าน
ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ทำให้กำลังซื้อของประชากรในประเทศเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ฟิลิปปินส์ยังมีทรัพยากรธรรมชาติ
อุดมสมบูรณ์ จึงเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องอาศัยทรัพยากรดังกล่าวเป็นวัตถุดิบ จากปัจจัยทั้งหมด
ข้างต้นผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรมองข้ามฟิลิปปินส์ซึ่งโอกาสทางธุรกิจยังเปิดกว้างทั้งในด้านการส่งออกสินค้า
และการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ

สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกไปฟิลิปปินส์
         อะไหล่และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ ในปี 2555 ไทยส่งออกสินค้าประเภทรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
ไปฟิลิปปินส์รวมมูลค่า 997 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.5 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย
ไปฟิลิปปินส์ โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนจากการที่ระบบขนส่งมวลชนยังกระจายไม่ทั่วถึง ส่งผลให้ชาวฟิลิปปินส์มีความ
ต้องการใช้รถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ถนนในฟิลิปปินส์มีสภาพไม่ดีนัก รถยนต์จึงต้องได้รับการซ่อมแซมอยู่เสมอ
นอกจากนี้ อะไหล่รถยนต์ของไทยยังมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในตลาดฟิลิปปินส์ จึงนับเป็นโอกาสสำหรับ
ผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าว
         ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และส่วนประกอบ การขยายตัวของอาคารที่พักอาศัย ร้านค้าปลีกประเภทต่างๆ รวมทั้ง
ร้านอาหาร ส่งผลให้ความต้องการสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำความเย็นสำหรับเก็บรักษาอาหารและเครื่องดื่ม
เพิ่มขึ้น ขณะที่สภาพอากาศที่ร้อนชื้นของฟิลิปปินส์เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้ตู้เย็นเป็นเครื่องใช้ที่จำเป็น
สำหรับทุกครัวเรือน แม้ว่าปัจจุบันชาวฟิลิปปินส์วัยหนุ่มสาวนิยมออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น แต่ก็ยัง
ต้องการตู้เย็นสำหรับแช่อาหารพร้อมรับประทาน เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ค่อนข้างเร่งรีบ และ
ต้องการความสะดวกสบายควบคู่กันไป ทั้งนี้ ในปี 2555 ไทยส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวไปฟิลิปปินส์มูลค่า 61.2
ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.3 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยไปฟิลิปปินส์ ซึ่งยังน้อยเมื่อเทียบ
กับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรแสวงหาลู่ทางขยายการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้เพื่อเจาะ
ตลาดฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น
         เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ประชากรส่วนใหญ่ของฟิลิปปินส์มีรายได้ระดับปานกลาง จึง
ค่อนข้างให้ความสำคัญกับระดับราคาและคุณภาพของสินค้า โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องสำอาง สบู่ และ
ผลิตภัณฑ์รักษาผิว ทั้งนี้ ในปี 2555 ไทยส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวไปฟิลิปปินส์มูลค่า 161 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.3 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยไปฟิลิปปินส์ ซึ่งนับว่ายังค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม
ปัจจุบันกระแสความนิยมเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสมุนไพรและน้ำหอมระเหยรวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผิวขาว
เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ฟิลิปปินส์มีข้อจำกัดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้มีความหลากหลาย จึงเป็น
โอกาสดีของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายการส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวไปฟิลิปปินส์ โดยควรให้ความสำคัญกับ
การบรรจุหีบห่อ และติดฉลากภาษาอังกฤษบนผลิตภัณฑ์
         สินค้าอาหาร ฟิลิปปินส์มีประชากรจำนวนมาก จึงมีความต้องการสินค้าอาหารอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม
ฟิลิปปินส์มีเทคโนโลยีการเกษตรที่ไม่ทันสมัยนัก ทำให้ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอกับความต้องการ จึงต้อง
พึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศเป็นหลัก สินค้าอาหารสำคัญที่ฟิลิปปินส์นำเข้า อาทิ ข้าว ผลิตภัณฑ์นม
อาหารปรุงแต่งสำเร็จรูป และผลไม้อบแห้ง นอกจากนี้ แม้ว่าฟิลิปปินส์ได้รับวัฒนธรรมด้านอาหารจากสเปน เนื่องจาก
เคยอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนมานานกว่า 200 ปี แต่วัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหารและเครื่องปรุงรสอาหาร
ของฟิลิปปินส์คล้ายกับของไทย อาทิ ข้าว หมูกรอบ กะปิ น้ำปลา และมะขามเปียก จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ
ไทยในการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปฟิลิปปินส์

ธุรกิจที่มีศักยภาพในการลงทุนในฟิลิปปินส์
          ธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เช่น ทองแดง โครเมียม และ
ถ่านหิน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ขณะที่ฟิลิปปินส์ยังขาดแคลนเงินทุนและสาธารณูปโภค
พื้นฐานที่จำเป็น รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ แต่ต้อง
ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ เนื่องจากฟิลิปปินส์ตั้งอยู่ใน
เขตภูเขาไฟ จึงมีสินแร่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทองคำ เงิน หยก และพลอย ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างและรับเหมา
ก่อสร้าง
เนื่องจากฟิลิปปินส์ยังขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น อาทิ ถนน ท่าเรือ สะพาน และระบบ
ชลประทาน ซึ่งยังต้องก่อสร้างอีกมาก ขณะที่ผู้ประกอบการสามารถใช้วัสดุก่อสร้างซึ่งเป็นวัตถุดิบจากทรัพยากร
ธรรมชาติในฟิลิปปินส์ได้ ไม่ว่าจะเป็น ทราย หินปูน และหินอ่อน ในการรับเหมาก่อสร้าง
          ธุรกิจแปรรูปอาหาร มีปัจจัยเกื้อหนุนจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของประชากรชาวฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ U.S.
Department of Commerce คาดว่าประชากรฟิลิปปินส์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 113 ล้านคนในปี 2563 ส่งผลให้ความ
ต้องการสินค้าอาหารแปรรูปมีแนวโน้มขยายตัวเช่นกัน นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีพืชผลทางการเกษตรและสัตว์น้ำ
ที่อุดมสมบูรณ์ แต่กระบวนการผลิตยังมีประสิทธิภาพไม่มากนัก ส่งผลให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าว
จึงเป็นช่องทางที่น่าสนใจของนักลงทุนไทยในการเข้าไปเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภค

         ธุรกิจสปา กระแสรักสุขภาพและความงามที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ปัจจุบันกิจการสปาในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นมาก
ไม่ว่าจะเป็น Day Spa (สปาที่ให้บริการระยะสั้น ตั้งอยู่ในทำเลที่สะดวกต่อการเดินทางสำหรับลูกค้าที่มาใช้บริการ)
Destination Spa (สปาที่มีกิจกรรมเพื่อสุขภาพครบวงจร อาทิ บริการอาหารเพื่อสุขภาพและฟิตเนส) Hotel/Resort
Spa (สปาที่ตั้งอยู่ภายในหรือบริเวณเดียวกับโรงแรมและรีสอร์ต) Club Spa (สปาที่ให้บริการเฉพาะสมาชิก) และ
Medical Spa (สปาที่จัดตั้งโดย พ.ร.บ. สถานพยาบาล โดยมีแพทย์และพยาบาลคอยกำกับดูแล) สอดคล้องกับการ
ที่ฟิลิปปินส์กำลังพัฒนาเพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้แก่ฟิลิปปินส์
หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในระยะเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ขณะที่ธุรกิจสปาเป็นธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพจาก
ประสบการณ์และความชำนาญที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้ธุรกิจสปาไทยมีชื่อเสียงและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ
ในระดับสากล ดังนั้น ธุรกิจสปาจึงนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในฟิลิปปินส์

         อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผู้ประกอบการไทยจะส่งออกสินค้าหรือเข้าไปลงทุนในฟิลิปปินส์ ควรศึกษาข้อมูลด้าน
ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดและรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบด้านการค้าการลงทุน ธรรมเนียมในการติดต่อ
ธุรกิจ รวมทั้งควรเดินทางไปสำรวจตลาดเพื่อให้เข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของชาวฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ ปัจจุบัน
สินค้าไทยได้รับการยอมรับในหมู่ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ การส่งออกสินค้าไทยไปฟิลิปปินส์
จึงควรเน้นที่สินค้าคุณภาพดีในราคาไม่สูงนัก เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของประชากรส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในระดับ
ปานกลาง (รายได้ต่อคนต่อปีอยู่ที่ราว 3,500 ดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ ในส่วนของการลงทุน ผู้ประกอบการควร
เลือกลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ค่อนข้างพร้อมรองรับการ
ลงทุน และให้สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ พร้อมทั้งควรขอรับคำปรึกษาจากหน่วยงานไทยที่เชี่ยวชาญด้านการลงทุน
เพื่อให้การลงทุนในฟิลิปปินส์เป็นไปอย่างราบรื่น

 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด