โอกาสของตลาดค้าปลีกออนไลน์ในจีน

 
   
     การค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์
(E-tailing)
เป็นส่วนหนึ่งของ
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-
commerce) ซึ่งการซื้อขายแบบ
E-tailing อาจเกิดขึ้นระหว่าง
ธุรกิจกับผู้บริโภค (Business-to-
Consumer : B2C) หรือระหว่าง
ธุรกิจขนาดเล็กหรือบุคคลกับ
ผู้บริโภค (Consumer-to-
Consumer : C2C) ก็ได้ โดย
การซื้อขายนั้นจะต้องเกิดขึ้น
กับผู้บริโภคโดยตรง ทั้งนี้ คำ
จำกัดความของ E-tailing ในที่นี้
จะไม่รวมถึงบริการหางานและ
บริการทางการเงิน
 
  มูลค่าตลาดค้าปลีกออนไลน์ของประเทศต่างๆ ระหว่างปี 2546-2554*  
   
  หมายเหตุ : *ไม่รวมการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์
  ที่มา : Euromonitor, Forrester; US Census Bureau; Japanese
Ministry of Economy, Trade, and Industry; iResearch;
McKinsey Global Institute Analysis
 
           การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนส่งผลให้เศรษฐกิจทุกภาคส่วน รวมถึงภาคค้าปลีกขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกันบทบาทของอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดรูปแบบการค้าปลีกผ่านอินเทอร์เน็ตหรือตลาดค้าปลีก
ออนไลน์ (E-tailing Market) โดยในปี 2555 ตลาดค้าปลีกออนไลน์ของจีนมีมูลค่ามากกว่า 190 พันล้านดอลลาร์
สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 5-6 ของมูลค่าภาคค้าปลีกทั้งหมดของจีน ซึ่งแม้ยังต่ำกว่ามูลค่าตลาดค้าปลีกออนไลน์ของ
สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดออนไลน์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกที่ 220-230 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ด้วยอัตราการขยายตัว
ของตลาดค้าปลีกออนไลน์ของจีนที่โดดเด่นถึงร้อยละ 120 ระหว่างปี 2546-2554 เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่ขยายตัว
เพียงร้อยละ 17 ทำให้จีนมีโอกาสจะขึ้นครองตำแหน่งตลาดค้าปลีกออนไลน์ใหญ่ที่สุดในโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
โดยในปี 2563 คาดว่ามูลค่าตลาดค้าปลีกออนไลน์ของจีนอาจเพิ่มขึ้นเป็น 420-650 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้
ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตของตลาดค้าปลีกออนไลน์ในจีน มีดังนี้
         การขยายตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (Internet Users) จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของจีนเพิ่มขึ้นอย่าง
ต่อเนื่อง จาก 111 ล้านคน หรือร้อยละ 8.5 ของประชากรทั้งประเทศในปี 2548 เป็นราว 564 ล้านคน หรือร้อยละ
42 ในปี 2555 จากประชากรจีนทั้งหมดกว่า 1,300 ล้านคน และยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการ
จึงมีโอกาสในการกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคผ่านทาง E-tailing มากขึ้น
         การขยายตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือใน
ประเทศจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2555 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือสูงถึง 420 ล้าน
คน คิดเป็นร้อยละ 74.5 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดในจีน โดยในแต่ละวันชาวจีนแต่ละคนใช้อินเทอร์เน็ตผ่าน
โทรศัพท์มือถือเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100 นาที แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีโอกาสเลือกซื้อสินค้าได้ โดยปราศจากข้อจำกัด
ทั้งด้านสถานที่และเวลา ทั้งนี้ ตลาดค้าปลีกออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือของจีนในปี 2555 มีมูลค่า 55.5 ล้าน
ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 136.5 จากปี 2554
         ความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้ากึ่งจำเป็นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ
ครัวเรือนที่มีรายได้ค่อนข้างสูง (ครัวเรือนที่มีรายได้ต่อครัวเรือนมากกว่า 16,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี) โดยคาดว่า
ค่าใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือยจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33 ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือนทั้งหมดในปี 2553 เป็น
ร้อยละ 43 ในปี 2563 ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมการเติบโตของการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เนื่องจากสินค้าฟุ่มเฟือย
และสินค้ากึ่งจำเป็นนี้เป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมในการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ เห็นได้จากรายงานของ McKinsey Global Institute ที่ระบุว่า สินค้ากลุ่มที่มีการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์เป็นสัดส่วนสูงที่สุดในปี 2554 คือ
เครื่องแต่งกาย มีสัดส่วนร้อยละ 35 รองลงมาคือ สินค้าสำหรับนันทนาการและการศึกษา (Recreation and
Education) อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซีดี หนังสือ ร้อยละ 20 และเครื่องใช้ในครัวเรือน (Household
Products)
อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องครัว ร้อยละ 15 ซึ่งสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้ากึ่งจำเป็นทั้ง 3 กลุ่มนี้ มีสัดส่วน
รวมกันถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าการซื้อสินค้าออนไลน์ทั้งหมด
 
  จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและสัดส่วนต่อประชากรทั้งหมดของจีน  
  ที่มา : CNNIC Statistical Survey on Internet Development in
China, January 2013
 
  จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ
และสัดส่วนต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดของจีน

 
  ที่มา : CNNIC Statistical Survey on Internet Development in
China, January 2013
  สัดส่วนของสินค้าที่ผู้บริโภคซื้อผ่านช่องทางออนไลน์  
  ที่มา : McKinsey Global Institute Analysis  
           ข้อเสนอที่ดีกว่าและความหลากหลายของสินค้าในตลาดออนไลน์ โดยเฉลี่ยราคาสินค้าออนไลน์
จะต่ำกว่าราคาหน้าร้านราวร้อยละ 6-16 เนื่องจากมีต้นทุนการทำตลาดที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ ร้านค้าออนไลน์ยังมี
การนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลาย และมักออกโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมา
ซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น
         อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ความนิยมในการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นช่วยเพิ่มโอกาสการทำตลาดค้าปลีกออนไลน์
แต่ก็มีส่วนทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้นด้วย เนื่องจากผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าได้รอบด้านทั้งลักษณะ คุณภาพ และราคา ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าไทยจึงควรคำนึงถึงความแตกต่างของสินค้า เพื่อสร้างจุดขายที่ชัดเจน
จากสินค้าที่วางขายในตลาด ทั้งในด้านคุณภาพและการออกแบบที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอย่าง
แท้จริง เพราะชาวจีนมีแนวโน้มที่จะคำนึงถึงคุณสมบัติและความน่าสนใจของสินค้ามากขึ้น นอกเหนือจากปัจจัย
ด้านราคา

         พฤติกรรมการซื้อสินค้าของชาวจีน และกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพ
         สินค้าที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย จากปัญหาด้านความปลอดภัยทางอาหาร สินค้าไม่มีคุณภาพ
และสินค้าลอกเลียนแบบในจีน ทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความปลอดภัยในการซื้อสินค้ามากยิ่งขึ้น โดยยินดีซื้อ
สินค้าที่มั่นใจว่ามีคุณภาพดีในราคาที่สูงกว่า โดยเฉพาะอาหาร ล่าสุดเว็บไซต์ www.yihaodian.com ซูเปอร์มาร์เก็ต
ออนไลน์แห่งแรกของจีนระบุว่า ในปี 2555 ยอดขายปลีกของเว็บไซต์เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีลูกค้าราว 30 ล้าน
คนโดยสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ อาหารนำเข้าจากต่างประเทศ
         สินค้าสำหรับผู้สูงอายุ ปัจจุบันประชากรจีนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนราวร้อยละ 13.3 ของ
ประชากรทั้งหมด และมีประชากรอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปราว 1.3 ล้านคนที่ซื้อสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะเสื้อผ้าผู้หญิง
ที่สูงถึง 8.59 ล้านชิ้นในปี 2555 และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้สูงอายุชาวจีนในปัจจุบัน
ยังมีแผนในการใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อความสุขในช่วงชีวิตหลังเกษียณ เช่น มักจะหาประสบการณ์ให้กับชีวิตโดย
การท่องเที่ยว หรือมองหาผลิตภัณฑ์ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของตนเอง อาทิ ร่มไม้เท้า กรรไกรตัดเล็บที่มาพร้อมกับ
เลนส์ขยาย
 
     วันที่ 11 พฤศจิกายน (11/11)
ถือเป็นวันเทศกาลคนโสด
(Singles’ Day) ของจีน ที่
หนุ่มโสด-สาวโสดจะมีงานเลี้ยง
สังสรรค์ และเป็นเทศกาลที่
ร้านค้าต่างๆ จะจัดโปรโมชั่น
ในการชอปปิงเพื่อดึงดูดลูกค้า
โดยล่าสุดในปี 2555 เว็บไซต์
T-Mall และ Taobao ซึ่งเป็น
เว็บไซต์ E-tailing ชั้นนำของ
จีน มียอดขายในวันเทศกาล
คนโสดรวมกันถึง 19.1
พันล้านหยวน (ราว 3 พันล้าน
ดอลลาร์สหรัฐ) หรือราว 3
เท่าตัวของยอดขายสินค้า
ออนไลน์ในวัน Black Friday
ของสหรัฐฯ
 
         สินค้าสำหรับคนโสด จำนวนชายโสดและหญิงโสดในจีนมีแนวโน้ม
เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคนโสดเหล่านี้มักมีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยสินค้า
ที่ตนต้องการในทันที เนื่องจากไม่ต้องคำนึงถึงภาระครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ จึง
มีแนวโน้มที่จะมองหาสินค้าและบริการที่เหมาะสำหรับ 1 คน อาทิ หม้อหุงข้าว
ขนาดเล็กสำหรับ 1 คน เครื่องชงกาแฟสำหรับ 1 คน แพ็กเกจทัวร์สำหรับ 1 คน
นอกจากนี้ ยังมีความนิยมในการหาเพื่อนผ่านทาง Social Network ต่างๆ อาทิ
WeChat และ Momo อีกด้วย
         สินค้าและบริการสำหรับเด็ก ผู้ปกครองจีนมีการใช้จ่ายสำหรับบุตร
เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านการศึกษาทั้งในและนอกห้องเรียน จากผล
สำรวจของ CCTV 2011-2012 Survey of Economic Life ระบุว่า การใช้จ่าย
สำหรับการศึกษาของเด็กมีสัดส่วนเกือบครึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครัวเรือน
โดยมีสัดส่วนร้อยละ 46 ในปี 2554 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้า ตลอดจนสินค้าและบริการนันทนาการสำหรับ
เด็กก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน
         การบริโภคตามกระแสนิยม ชาวจีนบางส่วนมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อ
สินค้าโดยคำนึงถึงแบรนด์สินค้า หรือภาพลักษณ์ของตนเองเมื่อใช้สินค้าหรือ
บริการชนิดนั้นๆ มากกว่าความจำเป็นและความคุ้มค่า อาทิ พฤติกรรมในการ
  ถ่ายรูปอาหารเพื่อแชร์ลง Social Network แทนการรับประทานทันทีเมื่ออาหารมาเสิร์ฟ การใช้กล้อง Single-Lens
Reflex (SLR) เพื่อบ่งบอกถึงความมีรสนิยมของตน
         ชาวจีนซื้อเสื้อผ้าตามฤดูกาลและซื้อเพื่อทดแทนตัวเก่าเป็นหลัก เครื่องแต่งกายเป็นสินค้าที่มีการซื้อ
ออนไลน์มากที่สุดถึงร้อยละ 35 ของการซื้อสินค้าออนไลน์ทั้งหมดในจีน ทั้งนี้ ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่จะซื้อ
เสื้อผ้าใหม่เมื่อฤดูเปลี่ยนหรือซื้อเพื่อทดแทนตัวเก่า ถัดมาจึงพิจารณาถึงโปรโมชั่นและการลดราคา และซื้อตาม
เทรนด์แฟชั่น ตามลำดับ
         ตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ตลาดออนไลน์เป็นช่องทางที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคสินค้า
เฉพาะกลุ่ม รวมถึงสินค้าหายาก เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้บริโภคสินค้ากลุ่มนี้มักเลือกซื้อสินค้าโดยใช้อารมณ์เป็นปัจจัย
หลักในการตัดสินใจซื้อ มากกว่าการคำนึงถึงปัจจัยด้านราคา ทำให้สินค้ากลุ่มนี้มีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไปที่มี
คุณสมบัติเช่นเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในกลุ่มเมืองที่มีระดับรายได้และการพัฒนาทาง
เศรษฐกิจในระดับรองเป็นกลุ่มที่มีความต้องการซื้อสินค้าจำพวก Niche Market เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น

         จากแนวโน้มและพฤติกรรมการซื้อสินค้าของชาวจีนดังที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่า นับวันผู้บริโภคชาวจีนยิ่ง
มีความต้องการสินค้าในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้นและมองหาสินค้าที่เหมาะสมสำหรับตนเองอยู่เสมอ
ตลาดค้าปลีกออนไลน์จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะสินค้า
ที่มีคุณสมบัติเฉพาะ ดังนั้น ตลาดค้าปลีกออนไลน์ในจีนจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจมากสำหรับผู้ประกอบการไทย
ในการขยายตลาดสินค้าในจีน
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด