เกาะติดความคืบหน้าโครงการทวาย  
   
           ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หากกล่าวถึงโครงการลงทุนในพม่า โครงการทวายถือเป็นโครงการลงทุนสำคัญ
ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ อีกทั้งเป็นโครงการที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าให้ความสำคัญ
และมีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤศจิกายน 2555 รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าได้จัดตั้ง
คณะกรรมการร่วมไทย-พม่า เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง
ซึ่ง
มีคณะทำงาน 3 ระดับ ได้แก่ คณะทำงานร่วมระดับสูงไทย-พม่า (Joint High-Level Committee : JHC) คณะ
กรรมการประสานงานไทย-พม่า (Joint Coordination Committee : JCC) และคณะอนุกรรมการ 6 สาขา (Joint
Sub-Committee : JSC) เพื่อทำงานร่วมกันในการพัฒนาโครงการทวายให้แล้วเสร็จ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าสำคัญ
ของโครงการทวาย
         สำหรับความคืบหน้าของโครงการทวายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2556 มีดังนี้
         รูปแบบการลงทุนในโครงการทวาย ที่ประชุม JCC มีมติให้ระดมทุนในโครงการทวายโดยการจัดตั้ง
นิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle : SPV) ซึ่งไทยและพม่าจะถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 เท่ากัน โดย
ในเบื้องต้นตกลงจะร่วมกันลงทุนฝ่ายละ 50 ล้านบาท เพื่อให้เป็นหน่วยงานธุรกิจที่รับสัมปทานการพัฒนาโครงการ
ทวาย รวมทั้งระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับฝ่ายไทยจะให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ
กับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (Neighbouring Countries Economic Development Cooperation
Agency : NEDA) เป็นตัวแทนในการจัดตั้ง SPV ร่วมกับ Foreign Economic Relation Department (FERD)
ของพม่า
         ทั้งนี้ SPV ที่จัดตั้งขึ้นจะประกอบด้วยคณะกรรมการฝ่ายไทย 3 คน ฝ่ายพม่า 3 คน และผู้จัดการ 1 คน ซึ่งจะ
ทำหน้าที่คัดเลือกนักลงทุนที่สนใจและมีศักยภาพเข้ามาลงทุนในโครงการทวาย ประกอบด้วยโครงการขนาดใหญ่
7 ประเภทโครงการ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึก ถนนเชื่อมโยงพื้นที่โครงการทวายกับชายแดนบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี
นิคมอุตสาหกรรม ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบโทรคมนาคม และโครงการที่พักอาศัยและห้างสรรพสินค้า คิดเป็น
มูลค่าลงทุนสูงถึง 213,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
         บทบาทของบริษัท ITD ในโครงการทวาย ที่ประชุม JCC มีมติให้ยกระดับ Framework Agreement
ให้เป็นข้อตกลงสัมปทานระหว่าง SPV กับคณะกรรมการบริหารโครงการทวาย (Dawei SEZ Management
Committee : DSEZMC) จากเดิมที่เป็นการลงนามร่วมกันระหว่าง Myanmar Port Authority (MPA) กับบริษัท
อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (Italian-Thai Development Plc. : ITD) ในช่วงปลายปี 2553 ซึ่ง
ทำให้ ITD เปลี่ยนสถานภาพจากผู้พัฒนาโครงการทวายมาเป็นผู้ลงทุนในบริษัทนิติบุคคลย่อย (Special
Purpose Companies : SPCs)
ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาโครงการทวายใน 7 ประเภทโครงการดังกล่าวข้างต้น
ทั้งนี้ SPV จะว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาอิสระเพื่อตรวจสอบสถานะ (Due Diligence) ของโครงการต่างๆ ที่ ITD ได้
ดำเนินการไปแล้ว และจะชำระคืนเงินลงทุนให้แก่ ITD เพื่อให้สอดคล้องกับสถานภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจอยู่
ในรูปของหุ้นใน SPCs ทั้ง 7 ประเภทดังกล่าว
         ความคืบหน้าของโครงการทวายในส่วนของงานก่อสร้าง ปัจจุบัน ITD ปรับปรุงถนนสำหรับขนส่ง
เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ และพาหนะที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างของ ITD เชื่อมระหว่างโครงการทวายกับบ้านพุน้ำร้อน
จ.กาญจนบุรี ระยะทาง 132 กิโลเมตร ซึ่งเป็นถนนลูกรัง 2 ช่องจราจรเสร็จแล้ว รวมทั้งเริ่มพัฒนาถนนภายในนิคม
อุตสาหกรรม นอกจากนี้ ITD อยู่ระหว่างการพัฒนาท่าเรือขนาดเล็ก มีท่าเทียบเรือยาว 100 เมตร สามารถรองรับ
เรือขนาด 8,000-10,000 DWT และตู้สินค้าขนาด 250-400 TEU ซึ่งคาดว่าท่าเรือดังกล่าวจะเปิดใช้งานได้ภายใน
ปี 2556

         โอกาสของไทยจากการเชื่อมโยงกับโครงการทวาย
         เป็นที่ทราบกันดีว่าโครงการทวายมีส่วนช่วยยกระดับบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของ
ภูมิภาค ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง สอดคล้องกับที่ Economic Research Institute for ASEAN
and East Asia (ERIA) คาดว่าไทยมีโอกาสได้ประโยชน์จากการเป็น Land Link เชื่อมโยงกับโครงการทวาย ซึ่งจะ
มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ 1.9% ทั้งนี้ โครงการทวายยังอยู่ในระยะเริ่มต้น จึงมีงานก่อสร้างจำนวนมากและ
กว่าจะแล้วเสร็จคาดว่าจะใช้เวลาถึง 10 ปี จึงเป็นโอกาสของธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งต้องการผู้รับเหมาก่อสร้างและ
ผู้รับเหมาช่วงในงานก่อสร้างประเภทต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงโอกาสของธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุ
ก่อสร้างเพื่อรองรับโครงการก่อสร้างและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน
นอกจากนี้ โครงการทวาย
ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบริเวณชายแดนไทย-พม่า คึกคักมากยิ่งขึ้นโดยปัจจุบันมีนักลงทุนไทย
และนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนใน จ.กาญจนบุรี มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจบ้านจัดสรรและธุรกิจค้าปลีก
ขนาดใหญ่ ส่งผลให้ราคาที่ดินในบางพื้นที่พุ่งสูงขึ้นมาก
นอกจากนี้ ทางการจังหวัดกาญจนบุรียังมีแผนจะ
พัฒนาพื้นที่ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ อ.หนองปรือ และ อ.บ่อพลอย ให้เป็นเขตเศรษฐกิจใหม่
เพื่อเชื่อมโยงกับโครงการทวาย ซึ่งเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จ จะเป็นโอกาสในการขยายการส่งออกสินค้าอุปโภค
บริโภคผ่านชายแดน รวมทั้งเป็นโอกาสขยายตลาดสินค้าเพื่อรองรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่จะ
หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น

         อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายละเอียดของโครงการทวายยังมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง โดยเฉพาะขนาดของ
พื้นที่โครงการ ซึ่งพม่าต้องการปรับลดลงจาก 204.5 ตารางกิโลเมตรเหลือ 150 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ รัฐบาลไทย
ยังสงวนท่าทีต่อข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดโครงการ นอกจากนี้ การระดมทุนใน
โครงการทวายอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian
Development Bank : ADB) ยืนยันว่าไม่มีแผนสนับสนุนด้านการเงินในโครงการทวาย เนื่องจากเห็นว่าโครงการ
ทวายสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยการระดมทุนจากภาคเอกชนและการสนับสนุนภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล
ไทยกับรัฐบาลพม่า การระดมทุนในโครงการทวายจึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  ภาพประกอบจาก www.google.co.th การเผยแพร่ภาพนี้เพื่อแนะนำข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ