เปิดประตูส่งออกสินค้าไทยที่มีศักยภาพสู่ สปป.ลาว  
   
           การค้าระหว่างประเทศของ สปป.ลาว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกมาก เนื่องจาก
สปป.ลาว ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าประเภทต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าทุนและวัตถุดิบที่ใช้ในหลายอุตสาหกรรม
ประกอบกับเศรษฐกิจ สปป.ลาว ที่ขยายตัวในระดับสูงเฉลี่ยราวร้อยละ 8 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความ
ต้องการสินค้าและบริการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สปป.ลาว จึงจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าเพื่อเร่งตอบ
สนองความต้องการใช้ภายในประเทศ รวมทั้งเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่การเข้าเป็นสมาชิก
องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 เป็นปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญที่
ทำให้ประตูส่งออกสินค้าไปยัง สปป.ลาว เปิดกว้างมากขึ้น
 
  แหล่งนำเข้าสำคัญของ สปป.ลาว ปี 2554  
  ที่มา : EIU, March 2013  
  สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไป สปป.ลาว ปี 2555  
  ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ (ไทย)  
           สปป.ลาว นับเป็นตลาดการค้าที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทย ปัจจุบันสินค้าไทยได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เนื่องจากมีคุณภาพดีและราคาไม่สูงเกินไป ประกอบกับชาวลาวสามารถเข้าใจและสื่อสารภาษาไทยได้เป็นอย่างดี
จึงช่วยให้สินค้าไทยสามารถเจาะตลาด สปป.ลาว ได้ไม่ยากนัก นอกจากนี้ การที่ไทยและ สปป.ลาว มีอาณาเขต
ติดต่อกันยังเอื้อต่อการขนส่งสินค้าผ่านทางเส้นทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางหลักอย่างสะพานมิตรภาพไทย-สปป.
ลาว แห่งที่ 1 (เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดหนองคายของไทยและนครหลวงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว) และสะพาน
มิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 2 (เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดมุกดาหารของไทยและแขวงสะหวันนะเขตของ สปป.ลาว)
อีกทั้งยังมีการเปิดใช้เส้นทางใหม่ๆ หลายเส้นทาง อาทิ สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 3 (เชื่อมต่อระหว่าง
จังหวัดนครพนมของไทยและแขวงคำม่วนของ สปป.ลาว) สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 (เชื่อมต่อ
ระหว่างจังหวัดเชียงรายของไทยและแขวงบ่อแก้วของ สปป.ลาว) ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้ในปี 2556 และสะพาน
มิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 (เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดบึงกาฬของไทยและแขวงบอลิคำไซของ สปป.ลาว)
คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2559 ซึ่งหากแล้วเสร็จทุกแห่ง จะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-
สปป.ลาว และเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันมากขึ้น ทั้งนี้ สินค้าไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกไป สปป.ลาว มีดังนี้

         สินค้าทุนและสินค้าเกี่ยวกับการก่อสร้าง
         สินค้าทุนและสินค้าเกี่ยวกับการก่อสร้าง ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ไป
สปป.ลาว ดังนี้
         รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ในปี 2555 ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวไป สปป.ลาว มูลค่า 408 ล้าน
ดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 58) อันเป็นผลจากชาวลาวมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงมีความต้องการยานพาหนะ เพื่อความ
สะดวกสบายในการเดินทางเพิ่มขึ้น อีกทั้งการที่รัฐบาล สปป.ลาว ห้ามนำเข้ารถยนต์มือสองเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่
ส่งผลให้ความต้องการรถยนต์นำเข้าจากไทยเพิ่มสูงขึ้น
         เครื่องจักรกล และส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ในปี 2555 ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวไป สปป.ลาว
มูลค่า 234 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 37) เนื่องจากธุรกิจเกษตรและเกษตรแปรรูปของ สปป.ลาว ขยายตัว
เพิ่มขึ้นมาก ทำให้ สปป.ลาว มีความต้องการเครื่องมือทางการเกษตรมากขึ้น อาทิ เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เครื่อง
ใส่ปุ๋ย เครื่องสูบน้ำ และเครื่องพ่นยาฆ่าแมลง ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนทำเหมืองแร่ใน สปป.ลาว
มากขึ้น ทำให้มีการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรทดแทนแรงงานคนเพิ่มขึ้นตาม
         สินค้าเกี่ยวกับการก่อสร้าง อาทิ เหล็ก และปูนซีเมนต์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาล สปป.
ลาว มีโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานหลายด้าน อาทิ ถนน ระบบไฟฟ้าและระบบชลประทาน เพื่อดึงดูดการ
ลงทุนจากต่างประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวลาวให้ดีขึ้น
         คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ในปี 2555 ไทยส่งออกสินค้าประเภทคอมพิวเตอร์และ
อุปกรณ์คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยไป สปป.ลาว อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออก
สินค้าประเภทดังกล่าวกลับขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วงปี 2553-2555 ขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 137 ต่อปี
เนื่องจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของ สปป.ลาว เร่งปรับปรุงระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพด้วย
การนำคอมพิวเตอร์มาใช้มากขึ้น

         สินค้าอุปโภคบริโภค
         สินค้าอุปโภคบริโภคเป็นสินค้าที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทย เนื่องจากปัจจุบัน สปป.ลาว ผลิตสินค้า
อุปโภคบริโภคได้ไม่มากนัก เพราะยังขาดแคลนเทคโนโลยีที่จำเป็นและเงินลงทุนในการผลิตสินค้า
อุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ
อาทิ น้ำมันพืช น้ำตาล อาหารกึ่งสำเร็จรูป และเครื่องใช้ในครัวเรือน นอกจากนี้ การที่
สปป.ลาว มีประชากรราว 7 ล้านคน ส่งผลให้การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าสำหรับตอบสนองความ
ต้องการของตลาดภายในประเทศอาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเท่าใดนัก สปป.ลาว จึงมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการ
นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคค่อนข้างมาก ทั้งนี้ สินค้าอุปโภคบริโภคของไทยที่ได้รับความนิยม และ สปป.ลาว มี
ความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ผงซักฟอก แชมพู สบู่ อาหารแปรรูป ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม
ซึ่งจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้บริโภคชาวลาว เนื่องจากร้านค้าส่วนใหญ่มัก
อยู่ในย่านชุมชนซึ่งชาวลาวคุ้นเคยเป็นอย่างดี และมีสินค้าอุปโภคบริโภคหลายประเภทให้เลือก ทั้งนี้ ชาวลาวมัก
ซื้อสินค้าบ่อยครั้ง แต่จะซื้อด้วยปริมาณไม่มากนักในแต่ละครั้ง ดังนั้น สินค้าที่จะวางจำหน่ายใน สปป.ลาว ควรแบ่ง
บรรจุลงในกล่อง ห่อ หรือซองที่มีขนาดกะทัดรัด เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวลาว และเป็นการเพิ่ม
ยอดจำหน่ายได้อีกทางหนึ่ง
         นอกจากนี้ เครื่องปรุงรสต่างๆ จากไทยไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา กะปิ และน้ำตาล ยังได้รับความนิยมในร้านอาหาร
และภัตตาคารใน สปป.ลาว เนื่องจากโดยทั่วไปอาหารลาวใช้วัตถุดิบที่คล้ายคลึงกับอาหารไทย ขณะที่ผู้ประกอบการ
ร้านอาหารไทยใน สปป.ลาว สามารถนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากไทยได้อย่างสะดวก เนื่องจากพรมแดนที่ติดกันส่งผล
ให้การขนส่งใช้ระยะเวลาไม่นานนัก และค่าขนส่งถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ห่างไกลกัน
         ผู้ประกอบการที่สนใจขยายตลาดไป สปป.ลาว ควรศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบ
โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบและมาตรการด้านการค้า มาตรการด้านภาษีศุลกากร หรือธรรมเนียมในการติดต่อธุรกิจ
แม้ว่าการค้าขายกับ สปป.ลาว ทำได้สะดวกเพราะภาษาและวัฒนธรรมค่อนข้างคล้ายคลึงกับไทย แต่ผู้ส่งออกควร
เตรียมพร้อมรับมือกับข้อจำกัดต่างๆ บางประการ อาทิ ระบบการค้าระหว่างประเทศของ สปป.ลาว ยังไม่เป็นสากล
และมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือกฎระเบียบบ่อยครั้ง โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทำให้บางครั้งผู้ส่งออกไทย
ไม่สามารถส่งออกสินค้าไป สปป.ลาว ได้ตามสัญญาซื้อขายที่ตกลงกันไว้ นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังกำหนดเงื่อนไข
ให้บริษัทผู้นำเข้าลาว ต้องมีสัดส่วนการนำเข้าต่อการส่งออกเท่ากับ 60 : 40 ทำให้ผู้นำเข้าบางรายนำเข้าสินค้า
จากไทยลดลง เนื่องจากไม่สามารถหาสินค้าส่งออกได้ครบตามสัดส่วนที่รัฐบาลกำหนด ผู้ส่งออกจึงควรขอรับคำ
ปรึกษาจากหน่วยงานไทยที่เชี่ยวชาญด้านการค้า อาทิ กรมการค้าต่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้การค้ากับ สปป.ลาว เป็นไปอย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด