กัมพูชา...ตลาดเปิดกว้างสำหรับสินค้าไทย  
   
           การค้าระหว่างประเทศมีความสำคัญอย่างมากต่อกัมพูชา โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้า เนื่องจากกัมพูชา
ไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศได้อย่างเพียงพอทั้งในด้านปริมาณและ
คุณภาพ ขณะที่เศรษฐกิจกัมพูชาที่เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะขยายตัวราว
ร้อยละ 7 ในปี 2556 ส่งผลให้กัมพูชามีความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี 2554
พบว่า สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง อาทิ ด้ายและผ้าผืน น้ำมันปิโตรเลียม และวัสดุก่อสร้าง
เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่กำลังเติบโต โดยมีจีนเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับ 1
ครองส่วนแบ่งตลาดเกือบร้อยละ 30 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดของกัมพูชา รองลงมา คือ เวียดนาม ร้อยละ 14.4
และไทย ร้อยละ 11.8 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปกัมพูชา ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม
เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และปูนซีเมนต์ ตามลำดับ
 
  แหล่งนำเข้าสำคัญของกัมพูชาปี 2554  
  ที่มา : General Department of Customs and Excise of Cambodia  
  สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปกัมพูชาปี 2555  
  ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ (ไทย)  
           ความจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศส่งผลให้กัมพูชา
เป็นตลาดการค้าที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทยและมีโอกาสขยายมูลค่าการค้าได้อีกมาก โดยเฉพาะท่ามกลาง
กำลังซื้อในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และยุโรปที่ยังอ่อนแอ อีกทั้งไทยมีแต้มต่อจากการที่ชาวกัมพูชามีทัศนคติที่ดี
ต่อสินค้าไทยทั้งในด้านคุณภาพซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและราคาเหมาะสมเมื่อเทียบกับสินค้าที่มีระดับราคา
ใกล้เคียงกันจากคู่แข่งอย่างเวียดนาม ส่งผลให้สินค้าไทยเป็นที่นิยมและได้รับการตอบรับอย่างดีจากชาวกัมพูชา
นอกจากนี้ การที่ชาวกัมพูชาได้รับอิทธิพลค่อนข้างมากจากสื่อโทรทัศน์ของไทย ผู้บริโภคชาวกัมพูชาจึงรู้จักสินค้า
ไทยเป็นอย่างดี ประกอบกับไทยมีพรมแดนติดต่อกับกัมพูชา ซึ่งเอื้อต่อการขนส่งและกระจายสินค้าระหว่างกัน
ขณะที่ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ทั้งสองประเทศตั้งเป้าเพิ่ม
มูลค่าการค้าระหว่างกันเฉลี่ยร้อยละ 30 ต่อปีในช่วงปี 2555-2558 ซึ่งคาดว่าจะเกื้อหนุนให้มูลค่าส่งออกของไทย
ไปกัมพูชาขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 44 ในปี 2555 ทั้งนี้ สินค้าไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกไป
กัมพูชา มีดังนี้

         วัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุน
         วัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุน ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกไปกัมพูชา ได้แก่
         ผ้าผืนและด้าย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชาที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการ
ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ทั้งนี้ ในปี 2554 ผ้าผืนและด้ายเป็นสินค้านำเข้าสำคัญอันดับ 1 คิดเป็นเกือบร้อยละ 30 ของ
มูลค่านำเข้าทั้งหมดของกัมพูชา
         เชื้อเพลิง เพื่อรองรับการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม การผลิตกระแสไฟฟ้า และความต้องการใช้
ยานพาหนะที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปี 2555 ไทยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปกัมพูชาเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 18
ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยไปกัมพูชา และขยายตัวสูงถึงร้อยละ 48 จากความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรม
และภาคคมนาคมขนส่งที่ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
         ปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง มีแนวโน้มเติบโตตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกำลังขยายตัวอย่างร้อนแรง
โดยเฉพาะในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา ทั้งนี้ ในปี 2555 มูลค่าการลงทุนในภาคก่อสร้างของกัมพูชา
ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 72 เป็น 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีการอนุมัติโครงการก่อสร้างศูนย์การค้า อาคาร
พาณิชย์ คอนโดมิเนียม โรงแรมและรีสอร์ต จำนวนมาก นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งพัฒนาประเทศทั้งการปรับปรุงระบบ
สาธารณูปโภคพื้นฐานและการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการคมนาคมภายในประเทศและเส้นทางคมนาคมขนส่ง
ระหว่างประเทศเพื่อรองรับการค้าและการลงทุนภายใต้การก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN
Economic Community : AEC) อย่างเต็มรูปแบบในปี 2558
         เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตร อาทิ รถไถ รถเก็บเกี่ยว รถตัดหญ้า เครื่องสูบน้ำ เครื่องปั๊มน้ำ
เครื่องสีข้าว และเครื่องอบ เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนภาคเกษตรกรรม ทำให้มีความต้องการ
นำเข้าสินค้าในหมวดเครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรที่
เหมาะกับตลาดกัมพูชาควรมีเทคโนโลยีไม่ซับซ้อน ใช้งานสะดวก สามารถซ่อมบำรุงได้ง่าย และราคาไม่สูงนัก
เนื่องจากเกษตรกรกัมพูชาส่วนใหญ่ยังขาดทักษะและมีข้อจำกัดด้านเงินทุน

         สินค้าอุปโภคบริโภค
         ปัจจุบันกัมพูชาพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคค่อนข้างมาก เนื่องจากขาดแคลนเทคโนโลยี
และเงินลงทุนในการผลิตและแปรรูปสินค้า
อีกทั้งเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนกัมพูชา ซึ่ง
มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสูงถึง 3.58 ล้านคนในปี 2555 หรือขยายตัวราวร้อยละ 25 จากปี 2554 ขณะที่
กระทรวงการท่องเที่ยวของกัมพูชาคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านคนในปี 2563 ทั้งนี้
สินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกไปกัมพูชา ได้แก่
         อาหารและเครื่องดื่ม อาทิ อาหารแปรรูป ขนมขบเคี้ยว นมและผลิตภัณฑ์นม ชาและน้ำผลไม้ ตลาดมี
แนวโน้มขยายตัวดี เนื่องจากจำนวนประชากรของกัมพูชามีแนวโน้มขยายตัวสูงเฉลี่ยร้อยละ 1.5 ต่อปี ประกอบกับ
มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในกัมพูชาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่การผลิตอาหารและเครื่องดื่มในประเทศยัง
ไม่เพียงพอทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ทำให้กัมพูชาจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าดังกล่าว
         เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นสินค้าดาวรุ่งที่มีแนวโน้มเติบโตสูง เนื่องจากประชากร
กัมพูชากว่าร้อยละ 50 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ชอบแต่งตัวและรักสวยรักงาม นอกจากนี้ การพัฒนาประเทศ
และความเป็นเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชาวกัมพูชาเริ่มหันมาดูแลสุขภาพและเสริมความงามมากขึ้น
อีกทั้งยังได้รับอิทธิพลจากสื่อของไทย ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบการใช้สินค้าไทย ส่งผลให้มูลค่าส่งออกสินค้า
ในหมวดดังกล่าวจากไทยไปกัมพูชาเติบโตก้าวกระโดดเฉลี่ยร้อยละ 32 ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
         ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ของชาวกัมพูชาที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาด
ยังมีช่องว่างในการเติบโตอีกมาก รถยนต์ที่นำเข้าจากไทยเพื่อจำหน่ายในกัมพูชาทั้งหมดเป็นรถยนต์ที่ผลิตขึ้นตาม
คำสั่งเฉพาะ เนื่องจากต้องมีพวงมาลัยด้านซ้ายตามที่กฎหมายกัมพูชากำหนด นอกจากนี้ กลุ่มประชากรที่มีกำลังซื้อ
ไม่สูงนักนิยมซื้อรถยนต์มือสอง ทำให้กัมพูชานำเข้ารถยนต์มือสองกว่าร้อยละ 30 ของรถยนต์ทั้งหมดที่นำเข้า จึง
เป็นโอกาสสำหรับการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ประเภท REM (Replacement Equipment Manufacturing) ซึ่งเน้น
จำหน่ายเป็นอะไหล่ทดแทน รวมทั้งยางอะไหล่รถยนต์และรถจักรยานยนต์
         สินค้าที่จำหน่ายในกัมพูชาควรมีลักษณะเช่นเดียวกับที่จำหน่ายในไทย เนื่องจากชาวกัมพูชาได้รับอิทธิพล
ค่อนข้างมากจากสื่อโทรทัศน์ของไทย ขณะที่การโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อต่างๆ เช่น โปสเตอร์
หนังสือพิมพ์ ป้ายโฆษณา โทรทัศน์ และวิทยุ จะช่วยให้ชาวกัมพูชารู้จักสินค้าดีขึ้น นอกจากนี้ อาจใช้วิธีส่งเสริมการ
ขายในรูปแบบต่างๆ ควบคู่กันไป เช่น การแจกตัวอย่างสินค้าให้ลูกค้าทดลองใช้ การให้นักแสดงหรือนักร้องที่เป็นที่
ชื่นชอบในกัมพูชาสาธิตและแนะนำวิธีการใช้สินค้าใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด การให้ค่านายหน้า (Commission Fee)
แก่ผู้ประกอบการกัมพูชาที่สามารถทำยอดขายสินค้าไทยได้ตามเป้า รวมถึงการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ เป็นต้น
         ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายตลาดในกัมพูชาควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้การค้ากับกัมพูชาเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น และควรหาโอกาสเดินทางไปสำรวจและศึกษาตลาดในกัมพูชา
ด้วยตนเองเพื่อให้ทราบถึงรสนิยมของผู้บริโภคและสามารถนำไปปรับปรุงรวมทั้งต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้อง
กับความต้องการของชาวกัมพูชา โดยอาจเริ่มต้นจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้ากับหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์
ไทย นอกจากนี้ ควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อให้ได้รับการคุ้มครอง โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับความนิยมสูง
เนื่องจากในกัมพูชามีการลอกเลียนแบบสินค้าและการปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าบ่อยครั้ง อีกทั้งการฟ้องร้อง
และการดำเนินคดีค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลานาน
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด