ใส่ใจระบบภาษีสักนิดก่อนไปลงทุนใน สปป.ลาว  
   
           สปป.ลาว นับเป็นอีกประเทศหนึ่งในอาเซียนที่ประตูเปิดกว้างรอต้อนรับนักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลก ดังเห็นได้
จากในช่วงที่ผ่านมารัฐบาล สปป.ลาว เร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัยครบครันมากขึ้น เพื่อ
ปูทางสู่ความเป็นสากล พร้อมกับสนับสนุนธุรกิจดาวเด่นที่ชูเอกลักษณ์ของประเทศ ทั้งในด้านความอุดมสมบูรณ์
ทางทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเหมืองแร่ พลังงานไฟฟ้า เกษตรและเกษตรแปรรูป หรือด้านทัศนียภาพ ขนบธรรมเนียม
และวัฒนธรรมอันงดงาม อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อตอบรับความต้องการลงทุนจากนักลงทุน
ต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะเวียดนาม จีน ไทย เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักลงทุนสำคัญลำดับ
ต้นๆ ใน สปป.ลาว
         การจะเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว นอกจากผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด
รอบคอบ ทั้งความต้องการของตลาด กฎระเบียบด้านการลงทุน หรือธรรมเนียมในการติดต่อธุรกิจ สิ่งสำคัญ
อีกประการหนึ่งที่นักลงทุนควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ คือ ระบบภาษี [กฎหมายภาษี
ของ สปป.ลาว ฉบับล่าสุด คือ Amended Tax Law (No. 05/NA, 20 December 2011) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่
วันที่ 1 ตุลาคม 2555 และปรับปรุงจาก Tax Law (No. 04/NA, 19 May 2005)] เนื่องจากภาษีถือเป็นต้นทุนสำคัญ
อีกประการหนึ่งที่นักลงทุนต้องแบกรับในการประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ ภาษีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนใน สปป.ลาว
มีดังนี้
         ภาษีกำไรหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล (Profit Tax) สปป.ลาว เรียกเก็บภาษีกำไรจากบริษัทต่างชาติและ
บริษัทท้องถิ่นในอัตราเท่ากันที่ร้อยละ 24 ของกำไรสุทธิก่อนหักภาษี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม
2556 ทั้งนี้ ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต การนำเข้า และการจำหน่ายยาสูบต้องเสียภาษีกำไรในอัตราร้อยละ 26 ขณะที่
ธุรกิจอื่นๆ ที่โดยปกติเสียภาษีกำไรในอัตราต่ำกว่าร้อยละ 24 สามารถเสียภาษีในอัตราเดิมได้ ส่วนบริษัทที่จด
ทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว (Lao Securities Exchange : LSX) เสียภาษีกำไรลดลงร้อยละ 5 จากอัตราปกติ
เป็นระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่วันที่เข้าจดทะเบียนใน LSX
 
  ที่มา : Tax Department, Ministry of Finance (Lao PDR)  
           อย่างไรก็ตาม การลงทุนในธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล สปป.ลาว จะได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีที่ระบุ
ในกฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับปี 2552 โดยแบ่งตามระดับความสำคัญของกิจการและเขตพื้นที่การลงทุน ดังนี้
         ระดับความสำคัญของกิจการ แบ่งเป็น
             ระดับ 1     กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนสูงสุด อาทิ โรงแรม 4 ดาว และสถาบันการศึกษา
             ระดับ 2     กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนปานกลาง อาทิ ธุรกิจผลิตรถจักรยานยนต์
             ระดับ 3     กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต่ำ อาทิ ธุรกิจผลิตเครื่องดื่ม และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์
         เขตพื้นที่การลงทุน แบ่งเป็น
             เขตที่ 1     พื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร และขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐาน
             เขตที่ 2     พื้นที่ที่มีสาธารณูปโภคพื้นฐานจำกัด
             เขตที่ 3     เขตเมืองใหญ่ และมีสาธารณูปโภคพื้นฐานพร้อม
 
  ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เวียงจันทน์  
           ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นหรือลดหย่อนอัตราภาษีกำไรของทุกโครงการจะเริ่ม ณ วันแรกที่กิจการเริ่ม
ดำเนินการ ยกเว้นกิจการผลิตสินค้าใหม่ กิจการค้นคว้า และสร้างเทคโนโลยีใหม่ จะเริ่มตั้งแต่วันที่โครงการมี
ผลกำไร และเมื่อระยะเวลารับสิทธิประโยชน์สิ้นสุดลง นักลงทุนจะต้องเสียภาษีกำไรในอัตราปกติตามที่กฎหมาย
กำหนด
         ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax) ชาวลาวต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใน
อัตราก้าวหน้าตั้งแต่ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 24 ของรายได้สุทธิก่อนหักภาษี ขณะที่ชาวต่างชาติที่ทำงานใน สปป.ลาว
เกินกว่า 180 วันในแต่ละปีและได้รับรายได้จากต่างประเทศต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 10
ยกเว้นกรณีที่ได้รับการยกเว้นตามความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตชาวต่างชาติที่
ทำงานใน สปป.ลาว น้อยกว่า 180 วันต้องเสียภาษีในอัตราดังกล่าวเช่นกัน ทั้งนี้ รายละเอียดของอัตราภาษีเงินได้
บุคคลธรรมดาของชาวลาว มีดังนี้
           - รายได้ในรูปของเงินเดือน ค่าจ้าง และโบนัส ดังนี้
 
  ที่มา : Tax Department, Ministry of Finance (Lao PDR)  
             - รายได้อื่นๆ อาทิ  
  ที่มา : Tax Department, Ministry of Finance (Lao PDR)  
           ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax : VAT) เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากการขายสินค้าตั้งแต่การขายส่ง
จากโรงงานจนถึงผู้ค้าปลีกในอัตราเดียวที่ร้อยละ 10 โดยมีผลบังคับใช้แทนภาษีการค้า (Business Turnover Tax :
BTT) ทั้งนี้ กิจการที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 400 ล้านกีบอยู่ภายใต้ระบบภาษีดังกล่าว
         ค่าธรรมเนียมต่างๆ การนำเข้าสินค้าทุกประเภทต้องเสียค่าธรรมเนียมการนำเข้า (Administrative Fee
on Imports) ร้อยละ 5 ของมูลค่านำเข้าที่แจ้งต่อกรมศุลกากร ส่วนโครงการลงทุนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการใช้
ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การลงทุนสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ต้องจ่ายค่าภาคหลวง (Royalty Fee) เป็น
ร้อยละของรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า
         การปรับปรุงกฎหมายภาษีและกฎหมายส่งเสริมการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาสอดรับกับนโยบายดึงดูดการลงทุน
จากต่างประเทศของรัฐบาล สปป.ลาว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะบรรลุอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เฉลี่ย
ร้อยละ 8 ต่อปี และยังเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนา สปป.ลาว สู่การเป็นประเทศเป้าหมายหลักเพื่อการลงทุนในกลุ่ม
ประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม) อันจะนำไปสู่การหลุดพ้นจากประเทศที่มีระดับการพัฒนา
น้อยที่สุด (Least Developed Countries : LDCs) ในอนาคต
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด