ธุรกิจท่องเที่ยวในมาเลเซีย...
ศักยภาพที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม

 
   
            มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถ
เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตจากที่มุ่งเน้นการเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมแบบจำนวนมาก (Mass
Production) ไปเป็นประเทศที่มุ่งเน้นภาคบริการและการผลิตสินค้าที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น ขณะเดียวกัน
รัฐบาลมาเลเซียยังให้ความสำคัญต่อการผลักดันการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายใน
ปี 2563 ผ่านการดำเนินงานภายใต้แนวคิดต้นแบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Model : NEM) ซึ่งประกาศ
ใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2554 โดยมุ่งพัฒนาระบบการศึกษา ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค และให้ความสำคัญกับ
ภาคเศรษฐกิจหลัก (National Key Economic Areas : NKEAs) 12 กลุ่ม ประกอบด้วยภาคพลังงาน ปาล์มน้ำมัน
ภาคการเงิน ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การศึกษา ไฟฟ้าและ
อิเล็กทรอนิกส์ บริการทางธุรกิจ บริการทางการแพทย์ เกษตรกรรม และ Greater Kuala Lumpur (เขตเมืองหลวง
ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและธุรกิจสำคัญของประเทศ) เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตอย่าง
ยั่งยืนในระยะข้างหน้า
          เป็นที่น่าสังเกตว่าธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจหลักที่รัฐบาลมาเลเซียให้ความสำคัญ เนื่องจาก
เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ ซึ่งหากพิจารณานโยบายของรัฐบาลมาเลเซียที่มุ่งเน้นการเปิดเสรีภาคบริการ
ให้มากขึ้นและศักยภาพของธุรกิจท่องเที่ยวของมาเลเซียที่แข็งแกร่ง สะท้อนได้จาก The Travel & Tourism
Competitiveness Report 2013 ของ World Economic Forum (WEF) ได้ปรับเพิ่มอันดับความสามารถในการ
แข่งขันด้านการท่องเที่ยวของมาเลเซียจากอันดับที่ 35 ในปี 2554 เป็นอันดับที่ 34 ในปี 2556 จากการจัดอันดับ
ทั้งหมด 140 ประเทศ ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ดังนั้นจึงนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ
ไทยที่มีจุดแข็งและความเชี่ยวชาญในธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวจะเข้าไปขยายธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่
เกี่ยวเนื่องในมาเลเซีย

          ปัจจัยสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวในมาเลเซีย
          จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ปัจจุบันมาเลเซียประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง
ในการพัฒนาและส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว สะท้อนได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมามาเลเซียในปี
2555 มากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ด้วยจำนวน 25.03 ล้านคน และสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่า 60.6 พันล้าน
ริงกิต (ราว 18.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น
36 ล้านคน และเพิ่มรายได้เข้าประเทศเป็น 168 พันล้านริงกิต (ราว 52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2563
          รัฐบาลมาเลเซียให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง รัฐบาลมาเลเซียเล็งเห็นความสำคัญ
ของภาคการท่องเที่ยว จึงวางแผนและเตรียมการพัฒนามาอย่างยาวนาน สะท้อนได้จากความสำเร็จจากการเปิดตัว
แคมเปญ “Malaysia Truly Asia” ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2542 และได้กระแสตอบรับจากทั่วโลกเป็นอย่างดี แคมเปญ
ดังกล่าวสามารถเสริมสร้างวิสัยทัศน์ด้านศักยภาพของการท่องเที่ยวมาเลเซียในเวทีโลก อีกทั้งยังสามารถสร้าง
ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของมาเลเซียได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันยังทำให้มาเลเซียกลายเป็นจุดหมายปลายทาง
การท่องเที่ยวอันดับ 1 ในภูมิภาค ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียได้กำหนดให้ปี 2557 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวมาเลเซีย หรือ
Visit Malaysia (VMY) 2014 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยใช้สโลแกนประจำปีว่า “One Malaysia Truly Asia” ซึ่ง
หมายถึงความเป็นหนึ่งเดียวของความหลากหลายทางวัฒนธรรมของมาเลเซีย
          รัฐบาลมาเลเซียตั้งเป้าหมายยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อก้าวไปสู่ระดับ High-end ให้
สำเร็จภายในปี 2563 โดยมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มระยะเวลาท่องเที่ยวใน
มาเลเซียให้นานขึ้น และขยายส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปเพิ่มเติมจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และไทย
อีกทั้งยังเตรียมขยายตลาดไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ นักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง
แอฟริกาเหนือ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States : CIS) นอกจากนี้
รัฐบาลมาเลเซียยังมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวให้หลากหลาย อาทิ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิง
การแพทย์ และการท่องเที่ยวเชิงการศึกษา เป็นต้น
          มาเลเซียมีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก
             - แหล่งท่องเที่ยว มาเลเซียเป็นแหล่งรวมของวัฒนธรรมหลายเชื้อชาติทั้งมาเลย์ จีน และอินเดีย ทำให้
มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ตึกแฝดเปโตรนาส (Petronas Twin Tower) ลานเอกราช (Merdeka
Square) อาคารสุลต่านอับดุลซามัค (Sultan Abdul Samad Building) เมืองใหม่ปุตราจายา (Putrajaya) เมือง
เกนติ้งไฮแลนด์ (Genting Highlands) และสวนสนุกเลโก้แลนด์ (Legoland) ซึ่งเป็นแห่งที่ 6 ของโลกและแห่งแรก
ในเอเชีย เป็นต้น นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลก 5 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติคินาบาลู
(Kinabalu National Park) อุทยานแห่งชาติกูนุงมูลู (Gunung Mulu National Park) เมืองมะละกา (Malacca City)
เมืองจอร์จทาวน์ (George Town) และแหล่งโบราณคดีหุบเขาเล็งกอง (Lenggong) ขณะที่ชายหาดของมาเลเซีย
ยังสวยงามติดอันดับโลก ล่าสุดสำนักข่าว CNN ได้จัดอันดับ 100 ชายหาดที่สวยงามที่สุดในโลก โดยชายหาดของ
มาเลเซียติด 50 อันดับแรกถึง 3 แห่ง คือ ชายหาดบนเกาะ Pulau Perhentian Kecil Island (อันดับที่ 13) ชายหาด
Juara บนเกาะ Tioman Island (อันดับที่ 21) และชายหาด Tanjung Rhu บนเกาะ Langkawi (อันดับที่ 49)
             - กิจกรรมสำคัญและเทศกาลประจำปี นอกจากมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายแล้ว มาเลเซียยังมี
กิจกรรมสำคัญและเทศกาลประจำปีจำนวนมากที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยกิจกรรมสำคัญระดับโลกที่จัดขึ้นใน
มาเลเซีย คือ Malaysian Grand Prix หรือการจัดการแข่งขันรถ Formula One ที่สนาม Sepang International
Circuit นอกจากนี้ ยังมีเทศกาลส่งเสริมด้านวัฒนธรรม ซึ่งจัดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี
โดยใช้ชื่องานว่า“Colors of Malaysia” ซึ่งเป็นการแสดง แสง สี เสียง เพื่อฉลองความเป็นมาอันยาวนานด้าน
ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีที่หลากหลายของกลุ่มคนแต่ละเชื้อชาติในมาเลเซีย ส่วนเทศกาลลดราคาสินค้าซึ่ง
เป็นที่ชื่นชอบของทั้งชาวมาเลเซียและนักท่องเที่ยวต่างชาติมี 2 ช่วง คือ ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมของทุกปี
เป็นเทศกาล Malaysia Mega Sale และในช่วงปลายปีตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน-ต้นเดือนมกราคมของ
ปีถัดไป เป็นเทศกาล Malaysia Year-End Sale

          โอกาสการลงทุนของผู้ประกอบการไทย
          การลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวในมาเลเซียที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนประกอบด้วยธุรกิจโรงแรม
สวนสนุก สิ่งก่อสร้างสำหรับพักผ่อนในวันหยุด ศูนย์ประชุมที่สามารถรองรับผู้เข้าร่วมงานได้อย่างน้อย 3,000 คน
ซึ่งธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยมีความชำนาญ ประกอบกับมาเลเซียยังมีความต้องการโรงแรมและ
ที่พักจำนวนมาก สะท้อนได้จากอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (Occupancy Rate) ของมาเลเซียในปี 2555 โดยเฉพาะ
รัฐ Pahang ที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงที่สุดที่ร้อยละ 81.8 และกรุงกัวลาลัมเปอร์ (ร้อยละ 69.3) จึงเป็นโอกาส
ที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม ทั้งนี้ การลงทุนในธุรกิจโรงแรมในมาเลเซียที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการ
ลงทุนต้องเป็นการก่อสร้างโรงแรมแห่งใหม่ระดับ 1-5 ดาว และการขยายหรือการปรับปรุงโรงแรมที่มีอยู่เดิมให้ดู
ทันสมัยขึ้น โดยสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่จะได้รับสามารถจำแนกได้ 2 ประเภท คือ Pioneer Status และ
Investment Tax Allowance (ITA) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ได้อย่างใดอย่างหนึ่งที่เห็นว่า
เป็นประโยชน์ที่สุดได้ที่ Malaysian Industrial Development Authority (MIDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่
รับผิดชอบด้านการลงทุน โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
          Pioneer Status ผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ในกลุ่มนี้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
บางส่วนเป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่เริ่มดำเนินการ โดยนำรายได้เพียงร้อยละ 30 ของเงินได้สุทธิมาใช้เป็นฐานใน
การคำนวณภาษีในอัตราปกติ และหากลงทุนก่อสร้างโรงแรม 4-5 ดาวในพื้นที่ที่รัฐบาลมาเลเซียส่งเสริมเป็นพิเศษ
อาทิ รัฐ Sabah และรัฐ Sarawak จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี
          Investment Tax Allowance (ITA) ผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ในกลุ่มนี้สามารถนำ
ค่าใช้จ่ายจากการลงทุนตามเงื่อนไขของ MIDA มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ร้อยละ 60 ของค่าใช้จ่าย
ดังกล่าว ก่อนนำไปคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราปกติ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินได้สุทธิในปีนั้น เป็น
เวลา 5 ปี นับจากวันที่ค่าใช้จ่ายนั้นเกิดขึ้น ส่วนที่เหลือจึงจะนำมาคำนวณเพื่อชำระภาษีในอัตราปกติ และหากลงทุน
ก่อสร้างโรงแรม 4-5 ดาวในพื้นที่ที่รัฐบาลมาเลเซียส่งเสริมเป็นพิเศษ อาทิ รัฐ Sabah และรัฐ Sarawak สามารถนำ
ค่าใช้จ่ายจากการลงทุนมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เต็มจำนวนและได้สูงสุดถึงร้อยละ 100 ของเงินได้
สุทธิ
          นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ทั้ง 2 ประเภทแล้ว รัฐบาลมาเลเซียยังให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับธุรกิจ
ท่องเที่ยว อาทิ การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนสองเท่าของค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดกิจกรรม
ประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในมาเลเซียที่ได้รับอนุมัติจากทางการ
รวมทั้งการยกเว้นภาษีสำหรับตัวแทนนำเที่ยว เป็นต้น
          โอกาสการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวในมาเลเซียยังเปิดกว้างอยู่มาก ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าไปลงทุนในธุรกิจ
ดังกล่าวจึงควรศึกษาข้อมูลการลงทุนให้ละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะกฎระเบียบด้านการลงทุน ซึ่งจะทำให้การดำเนิน
ธุรกิจในมาเลเซียเป็นไปอย่างราบรื่น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถใช้ประโยชน์จากการก้าวสู่การเป็นประชาคม
เศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ
การลงทุน และแรงงานมีฝีมือระหว่างไทยและมาเลเซียเสรีมากขึ้น
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  ภาพประกอบจาก www.google.co.th การเผยแพร่ภาพนี้เพื่อแนะนำข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ