ประเด็นทางเศรษฐกิจที่ต้องเฝ้าติดตามในปี 2557  
   
           สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปี 2557 มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงให้เห็นอย่างชัดเจนขึ้นเมื่อเทียบกับ
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยแม้หลายฝ่ายจะมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่การที่กิจกรรม
ทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการค้าการลงทุน ตลาดเงินหรือตลาดทุนของแต่ละประเทศที่มีการเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น
ทำให้เศรษฐกิจโลกในระยะถัดไปต้องเผชิญกับความผันผวนที่รวดเร็วและรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ประเด็นทางเศรษฐกิจที่
ควรเฝ้าติดตามในปี 2557 มีดังนี้
         เศรษฐกิจของประเทศตลาดหลัก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป หลังจาก
ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังคงมีอยู่ โดยสหรัฐฯ ยังต้องเผชิญกับการตัดลดงบประมาณ
รายจ่ายของรัฐบาลโดยอัตโนมัติ (Sequestration) และปัญหาเพดานหนี้ที่อาจกลับมาสร้างความปั่นป่วนให้กับ
ตลาดการเงินอีกเป็นระลอก ขณะที่ยุโรปยังมีปัญหาหนี้สาธารณะและอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับสูง ในส่วนของญี่ปุ่น
ก็ต้องเผชิญกับปัญหาเงินฝืดและการปรับขึ้นภาษีการขาย ซึ่งอาจฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ปัญหา
ต่างๆ อยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้และคาดว่าจะไม่ลุกลามจนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงเช่นที่ผ่านมา
         เศรษฐกิจของประเทศตลาดใหม่ชะลอลง หลังจากที่ขยายตัวร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีนซึ่ง
รัฐบาลหันมามุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาวมากกว่าการขยายตัวแบบก้าวกระโดดในระยะสั้น
ขณะที่หลายประเทศเริ่มเผชิญกับปัญหาขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจากการพึ่งพาเงินทุนต่างชาติมากเกินไป ทั้ง
อินเดียและอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV จะยังคง
ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการเพิ่งเปิดประเทศ ประชากรมีกำลังซื้อและมีการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้น
อีกทั้งยังเป็นเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติในการเข้าไปขยายฐานการผลิต
         ค่าเงินผันผวนรวดเร็วและรุนแรงขึ้น เนื่องจากเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศมีความอ่อนไหวมาก
ต่อกระแสข่าวและความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและการเมืองจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะจากประเทศเศรษฐกิจ
ขนาดใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น นอกจากนี้ การที่สถาบันการเงินต่างๆ ออกตราสารทางการเงิน
ที่หลากหลายขึ้นก็เป็นอีกแรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้เงินทุนระหว่างประเทศเคลื่อนย้ายเร็วขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจ
และการเมืองของสหรัฐฯ ที่มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มถูกลดทอนความสำคัญลง เห็นได้จาก
การที่นักลงทุนเริ่มที่จะลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งรัฐบาลของหลาย
ประเทศเริ่มลดการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ
         ต้นทุนการผลิตและต้นทุนทางการเงินมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งค่าจ้างแรงงานและวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น
ตามค่าครองชีพและอุปทานของปัจจัยการผลิตที่เริ่มขาดแคลน ส่งผลให้หลายประเทศอาจต้องเผชิญกับแรงกดดัน
ด้านเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยซึ่งถือเป็นต้นทุนทางการเงินของทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน
จะค่อยๆ ปรับสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยระยะยาวในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้ม
ฟื้นตัว ทำให้ธนาคารกลางของประเทศดังกล่าวเริ่มที่จะลดหรือถอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งจะ
ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น
         ความพยายามในการรวมกลุ่มทางการค้าระหว่างประเทศมีมากขึ้น ทำให้เกิดรูปแบบทางการค้า
ที่เน้นการค้าในภูมิภาคเดียวกัน (Intra-regional Trade) มากขึ้น เพื่อลดความผันผวนจากความไม่แน่นอนทาง
เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้านอกภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ อาจนำมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี
(Non-tariff Measures) มาใช้มากขึ้น ที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน ได้แก่ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม มาตรฐานสุข
อนามัยและความปลอดภัย มาตรการคุ้มครองแรงงาน และมาตรการด้านสังคมอื่นๆ เป็นต้น
         การกระจายฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานไปยังต่างประเทศจะปรากฏให้เห็นมากขึ้น เพื่อลด
ผลกระทบจากข้อจำกัดของกระบวนการผลิตและความผันผวนของต้นทุนการผลิตจากปัญหาภัยธรรมชาติ โรคระบาด
และความขัดแย้งระหว่างประเทศที่นับวันจะยิ่งเกิดบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาปัจจัยการผลิต
ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะถัดไปมีความผันผวนยิ่งขึ้น
         หลายประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) โดยเฉพาะในเอเชียและยุโรป รวมทั้ง
ประเทศไทย ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุข ประกอบกับอัตราการเกิดที่
ลดลงเพราะสภาวะทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิตและทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องเผชิญกับรายจ่าย
ในการดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของหลาย
ประเทศลดต่ำลงในระยะยาวและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในที่สุด
         จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2557 ต้องเผชิญกับทั้ง
โอกาสและความเสี่ยงในเวลาเดียวกัน โดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดหลักและการขยายตัวอย่าง
ต่อเนื่องของกลุ่มประเทศ CLMV ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนจากภายนอกประเทศที่ช่วยหนุนการส่งออกของไทยให้
ขยายตัวดีขึ้นกว่าในปี 2556 ประกอบกับยังมีปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศ โดยเฉพาะโครงการบริหารจัดการน้ำ
มูลค่า 3.5 แสนล้านบาทและโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านบาทหากสามารถเบิกจ่ายได้
ภายในปี 2557 จะเป็นอีกฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศและเศรษฐกิจโดยรวมให้กลับมาขยายตัวได้ดี
อย่างไรก็ตาม ความผันผวนทางเศรษฐกิจที่มีทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้น รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ
ซึ่งอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลและอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของประเทศ
คู่ค้าในการสั่งสินค้าจากไทย ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนและผู้ส่งออกไทยควรระมัดระวังและต้องศึกษาหา
เครื่องมือเพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวให้ได้อย่างทันท่วงที
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  ภาพประกอบจาก www.sxc.hu การเผยแพร่ภาพนี้เพื่อแนะนำข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ