สนามบินนานาชาติหงสาวดี...
โอกาสทางธุรกิจที่อยู่ไม่ไกลของไทย

 
   
           การเปิดประเทศของพม่าและการปฏิรูปประเทศที่มีพัฒนาการมากขึ้นเป็นลำดับส่งผลให้นักลงทุนและ
นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้าสู่พม่าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับพม่ามีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยชูจุดแข็ง
ของแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ทำให้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เดินทางมาพม่าเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ ทางการพม่าตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบัน
ที่ราว 1 ล้านคน (ในจำนวนนี้ราวร้อยละ 55 เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาโดยเครื่องบิน) เป็น 7.5
ล้านคนภายในปี 2563
จึงเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะการปรับปรุงและยกระดับสนามบิน
ภายในประเทศให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น
         ล่าสุดทางการพม่าอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างสนามบินหงสาวดี ซึ่งจะเป็นสนามบินนานาชาติ
แห่งที่ 4 ของพม่า รองจากสนามบินนานาชาติย่างกุ้ง สนามบินนานาชาติมัณฑะเลย์ และสนามบิน
นานาชาติเนปิดอว์
โดยหากการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีส่วนช่วยรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
รวมทั้งเชื่อมโยงเส้นทางการเดินทางในประเทศ ตลอดจนเชื่อมโยงเส้นทางการเดินทางระหว่างประเทศสมาชิก
อาเซียน ซึ่งกำลังก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ภายในปี
2558

         สนามบินนานาชาติหงสาวดี
         สนามบินนานาชาติหงสาวดี (Hanthawady International Airport) ตั้งอยู่ในเขตพะโค (Bago Region)
ห่างจากเมืองย่างกุ้งไปทางเหนือราว 80 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กว่า 24,000 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนราว 1 พันล้าน
ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สนามบินนานาชาติหงสาวดีถูกออกแบบให้สามารถรองรับเครื่องบินแอร์บัส A-380 ซึ่ง
เป็นเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ และเครื่องบินขนส่งสินค้า รวมทั้งตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation
Hub) ของเที่ยวบินระหว่างประเทศในพม่า ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 12 ล้านคน
ต่อปี และสามารถขยายการรองรับผู้โดยสารได้ถึง 35 ล้านคนต่อปีในระยะต่อไป
เทียบกับสนามบินนานาชาติ
ย่างกุ้งซึ่งปัจจุบันรองรับผู้โดยสารได้เพียง 2.7 ล้านคนต่อปี และอยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อให้สามารถรองรับ
ผู้โดยสารได้ 6 ล้านคนต่อปี
         เดิมโครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติหงสาวดีเคยได้รับอนุมัติให้ดำเนินการในปี 2539 แต่ถูกระงับไป
เนื่องจากบริษัทที่ได้รับสัมปทานไม่สามารถดำเนินโครงการได้ ต่อมา Department of Civil Aviation (DCA)
ของพม่าได้หยิบยกโครงการดังกล่าวขึ้นมาสานต่อ พร้อมทั้งเปิดเผยว่ามีบริษัท 30 แห่ง สนใจเข้ามาลงทุนใน
โครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติหงสาวดี แต่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกเพียง 7 บริษัท (การคัดเลือกพิจารณา
จากความมั่นคงทางการเงิน ประสบการณ์การทำงาน และทักษะของบุคลากร เป็นต้น) อาทิ Incheon International
Airport Consortium (เกาหลีใต้) Yongnam-CAPE-JGC Consortium (สิงคโปร์) Vinci Airport (ฝรั่งเศส) และ
Taisei Corporation (ญี่ปุ่น) และเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2556 DCA ได้ประกาศผลการคัดเลือกให้บริษัท Incheon
International Airport Consortium ซึ่งประกอบด้วย Incheon International Airport และพันธมิตรทางธุรกิจที่
เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างของเกาหลีใต้อีก 4 ราย ได้แก่ Kumho Industrial Co. Ltd., Halla Engineering &
Construction Corp., Lotte Engineering & Construction Co. Ltd. และ Posco ICT เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง
สนามบินนานาชาติหงสาวดี ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2561

         โอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทย
         โครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติหงสาวดียังอยู่ในระยะเริ่มต้น จึงเป็นโอกาสของธุรกิจก่อสร้าง ซึ่ง
ต้องการผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้รับเหมาช่วงในงานก่อสร้างประเภทต่างๆ รวมถึงโอกาสในการขยาย
ตลาดส่งออกปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ
ซึ่งพม่ามีความต้องการสูงทั้งในโครงการก่อสร้างสนามบิน
นานาชาติหงสาวดีและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งยังขาดแคลนอยู่มากในพื้นที่โดยรอบ ทั้งนี้
ทางการพม่ามีแผนจะพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบินนานาชาติหงสาวดีให้เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจ
อันดับ 2 ของประเทศ รองจากเมืองย่างกุ้ง
ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเชื่อมโยง
การท่องเที่ยวระหว่างเมืองพะโคกับเมืองย่างกุ้ง นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวของพม่ารายงานจำนวนห้องพัก
ในเขตพะโคมีเพียง 349 ห้อง จากโรงแรมและที่พัก 13 แห่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการเข้าไปลงทุนก่อสร้าง
โรงแรมและที่พัก โดยเฉพาะโรงแรมและที่พักระดับดี ซึ่งยังมีไม่มากนัก ทั้งนี้ เมื่อสนามบินนานาชาติหงสาวดี
ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลพม่า จะมีส่วน
ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวให้คึกคักมากยิ่งขึ้น รวมทั้งคาดว่าจะสร้าง
การจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 1.49 ล้านตำแหน่งภายในปี 2563
จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในระยะถัดไป
ในการขยายตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในการประกอบอาหาร ซึ่งมีความจำเป็น
ค่อนข้างมากต่อการดำรงชีวิตประจำวัน อาทิ น้ำตาลทราย น้ำปลา น้ำมันพืช ซอสปรุงรส และผงชูรส

เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคของชาวพม่าที่มีแนวโน้มขยายตัวตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น และรองรับ
นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด