ตลาดอาหารฮาลาลในอินโดนีเซีย...
โอกาสรออยู่ข้างหน้า

 
   
            อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งท่ามกลางวิกฤต
เศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากตลาดภายในประเทศมีขนาดใหญ่ ด้วยจำนวนประชากรราว 240
ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ทำให้อินโดนีเซียเป็นตลาดการค้าที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสินค้าอาหารฮาลาล
เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ขณะที่สินค้าอาหารของไทยได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพ
และมาตรฐานในระดับสากล อีกทั้งไทยและอินโดนีเซียยังมีข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน ทำให้อินโดนีเซียเป็น
ตลาดอาหารฮาลาลที่ผู้ส่งออกไทยไม่ควรมองข้าม

          ปัจจัยสนับสนุนการขยายตลาดอาหารฮาลาลในอินโดนีเซีย
          ตลาดอาหารฮาลาลมีขนาดใหญ่ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก โดย
ประชากรอินโดนีเซียราว 200 ล้านคน หรือราวร้อยละ 85 ของประชากรทั้งหมด นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งคิดเป็น
สัดส่วนราวร้อยละ 10 ของประชากรมุสลิมโลก ทำให้มีความต้องการบริโภคอาหารฮาลาลจำนวนมาก ขณะที่
ผู้ประกอบการในอินโดนีเซียยังผลิตอาหารฮาลาลได้ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ ส่งผลให้
อินโดนีเซียต้องนำเข้าอาหารฮาลาลจากต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนสูงถึงเกือบร้อยละ 90 ของการนำเข้าอาหาร
ทั้งหมดของอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ในปี 2555 อินโดนีเซียนำเข้าสินค้าอาหารเป็นมูลค่า 15,828 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือราวร้อยละ 10 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดของอินโดนีเซีย
          กำลังซื้อสูงขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย EIU คาดว่ารายได้
เฉลี่ยต่อคนต่อปีของชาวอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นจาก 3,540 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 เป็น 5,590 ดอลลาร์สหรัฐ
ในปี 2560 ตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งเฉลี่ยราวร้อยละ 6 ต่อปีในช่วงปี 2553-2560 ซึ่งรายได้ที่เพิ่ม
จะทำให้การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นตาม
          ชาวอินโดนีเซียมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าอาหารของไทย เนื่องจากมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับเมื่อเทียบกับ
สินค้าอาหารของประเทศคู่แข่ง อาทิ เวียดนาม และจีน ซึ่งมีราคาใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ชาวอินโดนีเซียยังนิยม
อาหารรสชาติค่อนข้างจัดและใช้เครื่องเทศหลายชนิดซึ่งคล้ายกับอาหารไทย ทำให้อาหารไทยสามารถทำตลาด
ได้ไม่ยากนัก
          ได้รับสิทธิประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community :
AEC)
ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนและอุปสรรคทางการค้าให้แก่ผู้ส่งออกไทยในการส่งสินค้าไปอินโดนีเซีย ปัจจุบัน
อัตราภาษีนำเข้าสินค้าของอินโดนีเซียอยู่ในระดับต่ำ คือ ร้อยละ 0-5 ขณะที่ AEC จะช่วยให้อัตราภาษีนำเข้า
ทั้งหมดลดลงเหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2558 ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive List) 2 รายการ คือ
ข้าว ซึ่งจะเก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 25 ลดลงจากเดิมที่ร้อยละ 30 และน้ำตาลทราย ซึ่งจะเก็บภาษีนำเข้า
ในอัตราร้อยละ 5-10 ลดลงจากเดิมที่ร้อยละ 30-40

          สินค้าอาหารฮาลาลไทยที่มีศักยภาพในการเจาะตลาดอินโดนีเซีย
          การที่อินโดนีเซียผลิตสินค้าอาหารฮาลาลได้ไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ขณะที่สินค้าอาหาร
ของไทยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคชาวอินโดนีเซีย จึงเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทยที่จะเข้าไปขยาย
ตลาดในอินโดนีเซีย โดยสินค้าอาหารของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออก มีดังนี้
          ข้าว น้ำตาล ผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง โดยเฉพาะผลไม้ไทยเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับว่า
มีคุณภาพและรสชาติดีมากในตลาดอินโดนีเซีย ดังเห็นได้จากการที่ชาวอินโดนีเซียนิยมเติมคำว่า “Bangkok” เพื่อ
ใช้เรียกผลไม้ที่มีคุณภาพดี เช่น ทุเรียนจะเรียกว่า “Durian Bangkok” หรือมะม่วงจะเรียกว่า “Mangga Bangkok”
เป็นต้น เช่นเดียวกับทุเรียนและมะม่วงที่นำเข้าจากไทย เพื่อบ่งบอกว่าผลไม้ดังกล่าวมีคุณภาพในระดับเดียวกับผลไม้
ที่นำเข้าจากไทย ทั้งนี้ สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าอาหารฮาลาลตามธรรมชาติ (Natural Halal) ที่ฮาลาลในตัว
สินค้าเอง เนื่องจากเป็นสินค้าอาหารที่ไม่มีส่วนผสมของสัตว์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสิ่งต้องห้ามตามหลัก
ศาสนา จึงไม่จำเป็นต้องติดตราสัญลักษณ์ฮาลาล
          อาหารพร้อมปรุงและพร้อมรับประทานทั้งแบบแช่แข็ง แปรรูป และบรรจุกระป๋อง อาทิ อาหารทะเล
แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไอศกรีม ขนมขบเคี้ยว ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เช่น น้ำผลไม้
ทุเรียนกวน และทุเรียนอบกรอบ เป็นต้น รวมทั้งอาหารพร้อมรับประทานแบบตะวันตก เช่น ขนมปัง พาสตา และ
สปาเกตตี ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากการที่ชาวอินโดนีเซียเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น ขณะที่ปัจจุบัน
วิถีชีวิตของชาวอินโดนีเซียเร่งรีบขึ้นและมีชั่วโมงทำงานต่อวันยาวนานขึ้น ประกอบกับสตรีชาวอินโดนีเซียออกไป
ทำงานนอกบ้านมากขึ้นทำให้มีเวลาเตรียมอาหารน้อยลง จึงหันมาเลือกซื้ออาหารพร้อมปรุงและอาหารพร้อม
รับประทานมากขึ้น ทดแทนการซื้ออาหารสดมาปรุงรับประทานเองที่บ้าน ส่งผลให้อาหารพร้อมปรุงและพร้อมรับ
ประทานเป็นที่ต้องการมากขึ้น
          อาหารฮาลาลอินทรีย์ (Organic Halal Food) นับเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากมีแนวโน้มได้รับความ
นิยมเพิ่มขึ้นตามกระแสการรักสุขภาพ โดยเน้นการเจาะตลาดชาวมุสลิมที่มีรายได้สูงและปานกลางค่อนข้างสูง ซึ่ง
มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของอินโดนีเซีย

          ข้อควรรู้...ก่อนรุกตลาดอาหารฮาลาลอินโดนีเซีย
          กฎระเบียบสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าอาหารฮาลาล การนำเข้าอาหารฮาลาลต้องเป็นไปตาม
กฎระเบียบของหน่วยงานอาหารและยาของอินโดนีเซีย (National Agency for Drug and Food Control) หรือ
Badan Pengawas Obat dan Makanan (BPOM) ในภาษาอินโดนีเซีย ที่กำหนดให้สินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่
นำเข้าต้องขึ้นทะเบียนอาหารและยา (ML Registration) เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งผู้ส่งออกสามารถยื่น
ขอจดเลขทะเบียน ML กับ BPOM และต้องระบุเลขทะเบียนอย่างชัดเจนบนฉลากสินค้าที่จะจำหน่ายในประเทศ
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกควรแต่งตั้งให้ผู้นำเข้าหรือผู้แทนจำหน่ายสินค้าในอินโดนีเซีย เป็นตัวแทนยื่นเรื่องจดทะเบียนสินค้า
กับ BPOM เนื่องจากการขอ ML Registration มีกระบวนการที่ซับซ้อนและใช้เวลานานอย่างน้อย 6 เดือน นอกจากนี้
สินค้าอาหารฮาลาลที่จะวางจำหน่ายในอินโดนีเซียต้องได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาลจากสภาอิสลามแห่ง
ชาติอินโดนีเซีย (Majelis Ulama Indonesia : MUI) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองฮาลาลของอินโดนีเซีย
          ชาวมุสลิมในอินโดนีเซียให้ความสำคัญกับตราสัญลักษณ์ฮาลาลเป็นอย่างมาก เนื่องจากทำให้มั่นใจ
ว่าอาหารนั้นไม่มีส่วนผสมหรือสิ่งต้องห้ามที่ขัดต่อหลักศาสนา (Haram Material) ผู้ส่งออกไทยจึงควรติดตรา
สัญลักษณ์ฮาลาลให้เห็นอย่างชัดเจนบนผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้ สินค้าอาหารต้องติดฉลากระบุรายละเอียด
ต่างๆ ตามที่กำหนด เช่น ตราสินค้า ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ประเทศผู้ผลิต และส่วนผสมของวัตถุดิบ วันเดือนปี
ที่ผลิตและวันหมดอายุ นอกจากนี้ หากมีส่วนประกอบที่ได้จากการตัดแต่งพันธุกรรม (Genetically Modified
Organisms : GMOs) ต้องระบุไว้บนฉลากด้วย
          ชาวอินโดนีเซียนิยมจับจ่ายสินค้าอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น โดยเฉพาะ
กลุ่มผู้บริโภควัยทำงาน (อายุระหว่าง 15-64 ปี) ซึ่งมีจำนวนเกือบร้อยละ 70 ของประชากรอินโดนีเซียทั้งหมด
ทำให้ช่องทางดังกล่าวเป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าอาหารที่สำคัญมากขึ้น ทั้งนี้ การนำสินค้าวางจำหน่ายใน
ซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตในอินโดนีเซีย ผู้ส่งออกไทยควรติดต่อผ่านผู้นำเข้าหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้า
ในอินโดนีเซีย เนื่องจากซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ไม่นิยมนำเข้าโดยตรงจากผู้ผลิตหรือผู้ส่งออก
ในต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการแบกรับภาระต้นทุนและปัญหาที่เกิดจากการนำเข้าเองโดยตรง

          แม้ว่าตลาดอาหารฮาลาลในอินโดนีเซียเป็นตลาดที่มีศักยภาพ แต่ยังมีอุปสรรคที่ผู้ส่งออกพึงระวังและควร
ให้ความสนใจ โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการตรวจสอบสินค้านำเข้าอย่างเข้มงวดของทางการอินโดนีเซีย ทั้ง
มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และการใช้มาตรการจำกัดปริมาณการนำเข้าสินค้าบางรายการ เช่น
น้ำตาลทราย เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปเจาะตลาดอาหารฮาลาลในอินโดนีเซียควรศึกษา
ข้อมูลตลาดและกฎระเบียบด้านการนำเข้ารายสินค้า ซึ่งในเบื้องต้นสามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์ของกรมการค้า
ต่างประเทศของไทย (http://www.dft.moc.go.th/) นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรเดินทางไปสำรวจตลาดในเมือง
เศรษฐกิจสำคัญ เช่น กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย รวมทั้งหาโอกาสเข้าร่วมงาน Indonesia Halal
Expo (INDHEX) งานแสดงสินค้าฮาลาลระดับนานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตา เป็นประจำทุกปี เพื่อทราบถึง
ลักษณะและศักยภาพของตลาดเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้าง
สายสัมพันธ์ทางธุรกิจและการจับคู่ทางการค้าได้อีกทางหนึ่งด้วย
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  ภาพประกอบจาก www.google.co.th การเผยแพร่ภาพนี้เพื่อแนะนำข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ