เกาะติดการเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในเวียดนาม

 
   
            แม้ในปี 2556 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจเวียดนามต้องเผชิญกับปัญหารุมเร้านานัปการ ทั้งความต้องการบริโภคใน
ประเทศที่ซบเซา ระบบธนาคารมีหนี้เสียในระดับสูง และมีบริษัทปิดกิจการมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่เศรษฐกิจ
โดยรวมยังมีทิศทางดีขึ้น สะท้อนได้จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ค่าเงินด่องมี
เสถียรภาพมากขึ้น ภาคส่งออกขยายตัวดีขึ้น และทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ทาง
เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลเวียดนาม ภาวะตลาดภายใน
ประเทศโดยเฉพาะตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจ
ในเวียดนาม รวมทั้งผู้ที่สนใจเข้าไปดำเนินธุรกิจในเวียดนามควรทราบถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อ
ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ตลอดจนแสวงหาแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสม ท่ามกลางภาวะการแข่งขันใน
เวียดนามที่รุนแรงขึ้นทุกขณะ

          แนวโน้มตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในเวียดนามและแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ
          การหลั่งไหลเข้ามาทำตลาดของบริษัทชั้นนำระดับโลก ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทชั้นนำระดับโลกหลาย
แห่งทยอยเข้ามาทำตลาดในเวียดนามมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งรวมถึงการเข้ามาเปิดกิจการของ Burger King หนึ่งใน
บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ให้บริการอาหารจานด่วน ซึ่งเปิดร้านอาหารสาขาแรกที่นครโฮจิมินห์เมื่อเดือนตุลาคม
2555 ตามด้วย Starbucks ร้านกาแฟระดับแนวหน้าที่มีสาขาหลายหมื่นแห่งทั่วโลก เข้ามาเปิดร้านกาแฟสาขาแรก
ที่นครโฮจิมินห์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 นอกจากนี้ McDonald บริษัทยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลกที่ให้บริการ
อาหารจานด่วน เตรียมเปิดร้านอาหารสาขาแรกในนครโฮจิมินห์เช่นเดียวกันภายในปี 2557 และมีแผนเปิดอีก 100
สาขาทั่วประเทศ ขณะที่บริษัทชั้นนำระดับโลกอื่นๆ ที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามก่อนหน้านี้ อาทิ Coca Cola และ
P&G ก็มีแผนขยายการลงทุนในเวียดนาม การหลั่งไหลเข้ามาของบริษัทเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดสินค้าอุปโภค
บริโภคในเวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพและนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมากที่สุดในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม
การบุกตลาดเวียดนามของบริษัทชั้นนำระดับโลกทำให้บริษัทท้องถิ่นและบริษัทต่างชาติขนาดกลางและ
ขนาดเล็กที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามเผชิญกับความท้าทายในการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดในธุรกิจ
ทั้งนี้
นักวิเคราะห์มองว่าตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป บริษัทท้องถิ่นในเวียดนามซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่เป็นที่ยอมรับนักและไม่มีการ
ลงทุนเพื่อสร้างตราสินค้าอย่างต่อเนื่อง จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากบริษัทชั้นนำระดับโลกที่หลั่งไหล
เข้ามาในเวียดนาม ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทท้องถิ่นของเวียดนามที่สามารถแข่งขันกับแบรนด์ชั้นนำระดับโลกมีอยู่เพียง
ไม่กี่ราย อาทิ Vinamilk (บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม) และ Trung Nguyen Coffee
(บริษัทท้องถิ่นผู้ครองตลาดร้านกาแฟในเวียดนาม)
             ข้อแนะนำ : สินค้าอุปโภคบริโภคที่จะสามารถแข่งขันในตลาดเวียดนามได้นั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาและ
ปรับปรุงตราสินค้าอย่างสม่ำเสมอผ่านช่องทางการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงความแตกต่าง
กับสินค้าคู่แข่ง อันจะทำให้การทำการตลาดของสินค้านั้นรวดเร็วและง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคยอมรับและ
ตัดสินใจซื้อสินค้าในที่สุด ทั้งนี้ ผู้บริโภคในเวียดนามส่วนใหญ่มักเลือกซื้อสินค้าที่มีตราสินค้าเป็นที่ยอมรับ รวมทั้ง
นิยมบริโภคสินค้าระดับกลางถึงระดับบนมากขึ้นตามระดับรายได้ที่สูงขึ้น
          การเข้าสู่ยุคการตลาดแบบดิจิตอลและการตลาดบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ในปี 2556 จำนวนผู้ใช้
อินเทอร์เน็ตในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนแตะระดับ 32.6 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 35.6 ของจำนวนประชากร
ทั้งประเทศ) โดยร้อยละ 73 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีอายุต่ำกว่า 35 ปี และร้อยละ 61 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเคยซื้อ
สินค้าผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ ราวร้อยละ 60 ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในเวียดนามสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
ขณะที่จำนวนผู้ใช้งานเว็บไซต์ Google ในเวียดนามอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 96 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด
ในเวียดนาม ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเปิดโอกาสให้นักการตลาดหันมาทำโฆษณาบนโทรศัพท์มือถือ (Mobile Advertising)
มากขึ้น รวมทั้งธุรกิจประเภท Search Engine Optimization (SEO) ในเวียดนามก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่ง SEO
คือ การปรับแต่งเว็บไซต์และกระบวนการต่างๆ ของเว็บไซต์ตั้งแต่การออกแบบ เขียนโปรแกรม และการโปรโมท
เว็บไซต์ เพื่อให้ติดอันดับต้นๆ ของเครื่องมือค้นหาเว็บไซต์ต่างๆ (Search Engine) เช่น Google เป็นต้น ทั้งนี้
การตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคชาวเวียดนามขึ้นอยู่กับคำแนะนำจากบุคคลใกล้ชิด เช่น บุคคลใน
ครอบครัวและเพื่อน ผ่านการสร้างกระแสแบบปากต่อปาก (Words of Mouth) ซึ่งกำลังมีอิทธิพลต่อ
การเลือกซื้อสินค้าของชาวเวียดนามมากขึ้นเป็นลำดับ และเมื่อผนวกกับกระแสเครือข่ายสังคมออนไลน์
ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น ทำให้นักการตลาดหันมาใช้กลยุทธ์สื่อสารทางการตลาดผ่านเครือข่ายสังคม
ออนไลน์ซึ่งเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จมากในปัจจุบัน
โดยบริษัทส่วนใหญ่มีการจัดตั้งแฟนเพจ (Fan Page)
บนเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้า รวมทั้งมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น
บริษัท Ford Vietnam เปิดตัวรถยนต์ Ford Fiesta ภายใต้แคมเปญ “Fiesta Hunt” บนเครือข่ายสังคมออนไลน์
ซึ่งสามารถดึงดูดให้มีผู้เข้ามาชมแคมเปญดังกล่าวได้มากกว่า 80,000 ราย
             ข้อแนะนำ : นับตั้งแต่ปี 2556 เวียดนามได้ก้าวเข้าสู่ยุคการตลาดแบบดิจิตอลและการตลาดบนเครือข่าย
สังคมออนไลน์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในเวียดนามต้องปรับตัวและอาศัยความสามารถในการ
ใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายในการทำการตลาดและสื่อสารกับลูกค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควร
พัฒนาโปรแกรมและแอพพลิเคชั่นบนมือถือสำหรับธุรกิจของตนและเลือกใช้เครื่องมือ SEO ในการทำการตลาด ซึ่ง
จะช่วยเพิ่มโอกาสและช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้น รวมทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำการตลาด เนื่องจาก
ค่าใช้จ่ายในการทำ SEO มีราคาถูกกว่าสื่อโฆษณาประเภทอื่นๆ ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งพิมพ์ ซึ่งจะช่วยให้
ผู้ประกอบการสามารถใช้งบประมาณทางการตลาดได้อย่างคุ้มค่าที่สุด และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการ
แข่งขันให้กับสินค้าได้อีกทางหนึ่ง
          การปรับปรุงตราสินค้าอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความยั่งยืนของสินค้าในระยะยาว ในช่วง 2 ปี
ที่ผ่านมา บริษัทท้องถิ่นในเวียดนามต้องปิดกิจการเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในทิศทางขาลง ประกอบกับ
บริษัทท้องถิ่นส่วนใหญ่ขาดความสามารถในการแข่งขันและสินค้าขาดพลังของตราสินค้า (Brand Power) ทำให้
ธุรกิจไม่สามารถอยู่รอดได้ในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญวิกฤต ขณะที่บริษัทที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง
มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ (เช่น การปรับขนาดและราคาของสินค้าให้
สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ การมอบคูปองส่วนลดออนไลน์ในช่วงเทศกาลต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย)
และมีตราสินค้าที่แข็งแกร่ง เช่น Vinamilk, Duoc Hau Giang (บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยา
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และเครื่องสำอางชั้นนำของเวียดนาม) และ Sabeco (บริษัทผู้ผลิตเบียร์ชั้นนำ
ของเวียดนาม ภายใต้ตราสินค้า Saigon Beer และ 333 Beer) ไม่เพียงแต่สามารถอยู่รอดได้ในช่วง
วิกฤตเศรษฐกิจ แต่ธุรกิจยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

             ข้อแนะนำ : การดำเนินธุรกิจในเวียดนามผู้ประกอบการควรมีการปรับปรุงตราสินค้าและกลยุทธ์ในการดำเนิน
ธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ควรมีการลงทุน
ในระยะยาวเพื่อมุ่งสร้างตราสินค้าให้แข็งแกร่งและมีความแตกต่างจากสินค้าของคู่แข่ง เช่น Vinamilk ออก
ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตแบบใหม่ภายใต้ชื่อ “Pro Beauty” พร้อมทั้งสโลแกน “New yogurt gives you beautiful skin”
ซึ่งสามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าการบริโภคโยเกิร์ตดังกล่าวจะทำให้มีผิวที่สวยงามขึ้น เป็นต้น
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  ภาพประกอบจาก www.sxc.hu การเผยแพร่ภาพนี้เพื่อแนะนำข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ