พฤติกรรมผู้บริโภคและโอกาสของสินค้าไทย
ในตลาดรัสเซีย
   
   
            หากจะกล่าวถึงตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพในปัจจุบัน สหพันธรัฐรัสเซียหรือรัสเซียเป็นอีกตลาดหนึ่ง
ที่น่าสนใจ ทั้งจากขนาดของตลาดที่ใหญ่ด้วยจำนวนประชากรราว 143 ล้านคน และเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัว
ต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 3.8 ในช่วงปี 2558-2561 ทำให้กำลังซื้อของชาวรัสเซียมีเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากรายได้ที่
ใช้จ่ายได้จริง (Personal Disposable Income) ของทั้งประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,746 พันล้านดอลลาร์
สหรัฐในปี 2561 จากระดับ 1,180 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 ขณะเดียวกันศักยภาพด้านการค้าของรัสเซีย
ก็เอื้อต่อโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยเข้าไปเจาะตลาดทั้งในรัสเซียและประเทศใกล้เคียง โดยเฉพาะประเทศ
ในเครือรัฐเอกราช (The Commonwealth of Independent State : CIS) อาทิ ยูเครน คาซัคสถาน และเบลารุส
ซึ่งมีพื้นที่ชายแดนติดกับรัสเซีย ตลอดจนมีวัฒนธรรมและรสนิยมในการบริโภคที่คล้ายคลึงกับรัสเซีย จึงอาจใช้
รัสเซียเป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้น นอกจากนี้ การที่รัสเซียได้รับเลือกให้
เป็นเจ้าภาพจัดงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมือง Sochi ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 และเจ้าภาพฟุตบอลโลก
ในปี 2561 คาดว่าจะมีส่วนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้เข้ามาท่องเที่ยวในรัสเซีย และกระตุ้นให้
ตลาดสินค้าในรัสเซียขยายตัวยิ่งขึ้น
 
  อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของรัสเซีย  
  หมายเหตุ : *ตัวเลขคาดการณ์
ที่มา : Economist Intelligence Unit : EIU
 
            “เก็บตกจากต่างแดนฉบับนี้” จึงขอนำท่านผู้ประกอบการที่สนใจส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในประเทศรัสเซีย
มาทำความรู้จักกับพฤติกรรมผู้บริโภคและโอกาสของสินค้าไทยในตลาดรัสเซีย มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

         ลักษณะและพฤติกรรมที่น่าสนใจของผู้บริโภคชาวรัสเซีย
         วัยแรงงานที่อาศัยหนาแน่นในเมืองใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญ และมีบทบาทกำหนดทิศทาง
การบริโภค
รัสเซียมีจำนวนประชากรที่อยู่ในวัยแรงงาน (อายุระหว่าง 15-64 ปี) สูงถึงร้อยละ 71 ของประชากร
ทั้งหมด หรือราว 101 ล้านคน เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ และส่วนใหญ่อาศัยหนาแน่นในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะ
กรุง Moscow (เมืองหลวง) เมือง St. Petersburg (เมืองท่าสำคัญ) ซึ่งเป็นศูนย์รวมของหน่วยงานทั้งราชการ
บริษัทเอกชน และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้เปิดใจรับวัฒนธรรมการบริโภคตามสมัยนิยมได้เร็ว
เทียบกับเมืองอื่นๆ ของรัสเซีย โดยเฉพาะการหันมาเลือกซื้ออาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) และ
อาหารปรุงสุก (Ready to Cook)
เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลาแทนการซื้ออาหารสดไปปรุงที่บ้าน ล่าสุด
อาหารประเภท Snack Bar
ที่มีธัญพืชเป็นส่วนประกอบสำคัญ กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ชาวรัสเซีย
ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและใส่ใจดูแลสุขภาพ โดยนิยมรับประทานเป็นอาหารว่างระหว่างพักจากเวลาทำงาน เพื่อ
บรรเทาความหิวระหว่างอาหารมื้อหลัก
 
    เมืองสำคัญ   Snack Bar    
  ที่มา : www.cia.gov      
           ชาวรัสเซียนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น หลังจากเศรษฐกิจรัสเซียเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวรัสเซียมีกำลังซื้อสูงขึ้น และนิยม
นัดพบปะสังสรรค์กับเพื่อนสนิทหรือรับประทานอาหารร่วมกับครอบครัวในวันหยุดที่ร้านอาหารนอกบ้านมากขึ้น
ทั้งนี้ การที่ชาวรัสเซียนิยมบริโภคอาหารรสชาติค่อนข้างจืด ทำให้ร้านอาหารจีนและร้านอาหารญี่ปุ่นได้รับความ
นิยมอย่างสูง โดยเฉพาะร้าน Sushi Bar เพราะชาวรัสเซียเห็นว่าแปลกใหม่ ต่างจากอาหารท้องถิ่นที่รับประทานเป็น
ประจำทุกวัน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าร้านอาหารไทยเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น หลังจากชาวรัสเซียที่เคย
เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยติดใจในรสชาติอาหารไทย
 
  ร้านอาหารญี่ปุ่นในรัสเซีย  
            ชาวรัสเซียนิยมซื้อสินค้าในไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ต อาทิ Azbuka Vkusa, Paterson และ
Perekryostok เพราะเป็นศูนย์รวมสินค้ารุ่นใหม่หลากหลายแบรนด์ การเปรียบเทียบราคาและคุณภาพสินค้าทำได้ง่าย
นอกจากนี้ การที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตดังกล่าวมักจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายด้วยการจัดสินค้าเข้าชุดกัน
ทำให้สามารถซื้อสินค้ายกชุดได้สะดวก ซึ่งเข้ากับรูปแบบการจับจ่ายของแม่บ้านชาวรัสเซียที่นิยมเลือกซื้อสินค้า
ครั้งละมากๆ เพียงสัปดาห์ละครั้ง
 
  บรรยากาศการเลือกซื้อสินค้าใน
ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ต
 
            โอกาสของสินค้าไทยในตลาดรัสเซีย
          ตลาดสินค้าอาหารในรัสเซียยังเปิดกว้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัสเซียมีสภาพอากาศหนาวเย็นเกือบ
ตลอดทั้งปี และมีช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเพาะปลูกจำกัด ทำให้รัสเซียต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร
เป็นหลัก ทั้งนี้ สินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่มีโอกาสส่งออกไปจำหน่ายในรัสเซีย มีรายละเอียดที่น่าสนใจ
ดังนี้
             - ข้าว แม้ว่าข้าวไม่ได้เป็นอาหารหลักของชาวรัสเซีย แต่การที่รัสเซียมีอาณาเขตกว้างขวาง และมีพื้นที่
บางส่วนติดกับจีน ทำให้ได้รับวัฒนธรรมการบริโภคข้าวจากจีน สังเกตได้จากอาหารพื้นเมืองของรัสเซียบางรายการ
มีการใช้ข้าวเป็นส่วนผสม อาทิ Golubtzy ที่ประกอบด้วยข้าวและเนื้อสัตว์ห่อด้วยกะหล่ำปลี และ Coulibiac มี
ลักษณะคล้ายพาย สอดไส้ด้วยเนื้อปลาและข้าว นอกจากนี้ การขยายตัวของร้านอาหารญี่ปุ่น จีน และไทยในย่าน
ธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของรัสเซียล้วนเปิดโอกาสให้ข้าวคุณภาพสูงของไทยที่มีรสชาติ และกลิ่นหอมเป็น
เอกลักษณ์เฉพาะตัวยังเป็นที่ต้องการอีกมากในรัสเซีย
 
  Golubtzy และ Coulibiac เป็นอาหารพื้นเมืองรัสเซีย
ที่มีข้าวเป็นส่วนประกอบสำคัญ
 
               - เนื้อสัตว์ จำพวกสัตว์ปีก โดยเฉพาะเนื้อไก่นิยมทั้งแบบลอกหนังและแบบไม่ลอกหนัง รวมไปถึง
เครื่องในไก่
อาทิ ตับไก่ กึ๋นไก่ ยังเป็นที่ต้องการอีกมากในรัสเซียเช่นกัน ขณะที่กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งนิยมประเภท
ทั้งตัว (Head on Shell on) และเด็ดหัว (Headless Shell on) เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในสลัดรับประทานคู่กับอาหาร
จานหลักของชาวรัสเซีย รวมทั้งนำมาใช้เป็นวัตถุดิบทำข้าวปั้นญี่ปุ่น (ซูชิ) หน้ากุ้ง ส่งจำหน่ายให้กับร้านอาหารญี่ปุ่น
อีกด้วย
             - ผลไม้และน้ำผลไม้ การที่ชาวรัสเซียตื่นตัวหันมาใส่ใจกับการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น ทำให้ชาวรัสเซีย
ต้องการบริโภคผลไม้มากขึ้น ส่วนใหญ่นิยมนำเข้าเป็นผลไม้เมืองร้อนที่ไม่สามารถปลูกได้ในรัสเซีย โดยเฉพาะ
สับปะรดซึ่งนิยมทั้งประเภทผลสดและบรรจุกระป๋อง มะม่วงน้ำดอกไม้ ส้มโอ ส้มเขียวหวาน กล้วย มะพร้าว มังคุด
ลำไย และลิ้นจี่ ขณะที่น้ำผลไม้ที่ได้รับความนิยมสูง คือน้ำผลไม้ผสมที่มีน้ำสับปะรดเป็นส่วนผสมสำคัญ เพราะ
มีรสชาติต่างจากน้ำผลไม้เมืองหนาว อาทิ น้ำแอปเปิ้ลและน้ำมะเขือเทศที่มีวางจำหน่ายทั่วไปในรัสเซีย
             - ขนมขบเคี้ยวและปลาตากแห้ง เป็นสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยว
ประเภทถั่วหรือเมล็ดทานตะวันอบแห้ง
นอกจากนี้ ชาวรัสเซียยังชอบรับประทาน ปลาตากแห้งรสเค็ม พร้อมกับ
ดื่มเครื่องดื่มประจำชาติ คือ Vodka เพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น
             - อาหารทะเลกระป๋องและอาหารแปรรูปแช่เย็นแช่แข็ง ชาวรัสเซียนิยมบริโภคปลากระป๋องประเภท
ที่บรรจุในซอสมะเขือเทศมากกว่าในน้ำมันพืชหรือน้ำเกลือ เพราะชาวรัสเซียคุ้นเคยกับการใช้ซอสมะเขือเทศเป็น
เครื่องปรุงหลักในอาหารอยู่แล้ว ขณะที่อาหารแปรรูปแช่เย็นแช่แข็งของไทยหลายรายการ โดยเฉพาะต้มยำกุ้ง
ผัดไทย และข้าวผัด เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นหลังจากชาวรัสเซียที่เคยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ติดใจ
อาหารไทยและอยากรับประทานซ้ำอีกเมื่อมีโอกาส
 
  ตัวอย่างอาหารแปรรูปแช่เย็นแช่แข็ง
ที่ได้รับความนิยมในรัสเซีย
 
            ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับรัสเซียยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง ด้วยแรงหนุนสำคัญจากการที่
ชาวรัสเซียราว 1 ใน 4 หรือราว 35 ล้านคน เป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง อีกทั้งสุภาพสตรีชาวรัสเซียนิยม
เลือกซื้อสร้อยคอและต่างหูที่เข้าชุดกันสำหรับสวมใส่ไปทำงานเพื่อเสริมบุคลิกภาพ ทั้งนี้ ชาวรัสเซียนิยมเลือกซื้อ
อัญมณี
โดยเฉพาะเพชรขนาด 0.05-0.25 กะรัต และพลอยที่มีโทนสีเขียว รวมถึงสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน อาทิ มรกต
และไพลิน ก็เป็นที่นิยมเช่นเดียวกัน ขณะที่เครื่องประดับที่ทำด้วยทอง พบว่าทองคำสีแดง (Rose Gold) ได้รับ
ความนิยมสูงสุด รองลงมาเป็นทองขาว (White Gold) และทองคำ ตามลำดับ และล่าสุดเครื่องประดับที่ทำด้วย
เงินกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นชาวรัสเซียที่เพิ่งเข้าสู่วัยแรงงานและยังมีรายได้ไม่มากนัก
 
  เกร็ดน่ารู้ : สุภาพบุรุษชาวรัสเซียนิยมซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ
มอบเป็นของขวัญให้กับคนรักในช่วงวันสตรีสากล (วันที่ 8 มีนาคม
ของทุกปี) และวันคริสต์มาส (วันที่ 24 ธันวาคมของทุกปี)
 
            งานแสดงสินค้าที่สำคัญในรัสเซีย
          งานแสดงสินค้าที่สำคัญในรัสเซีย ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในรัสเซียควรนำ
สินค้าไปร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญของรัสเซียซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าใหม่ๆ จากการที่ได้พบกับ
คู่ค้าและผู้บริโภคชาวรัสเซียโดยตรงแล้ว ยังใช้เป็นโอกาสสำรวจทิศทางและแนวโน้มตลาดสินค้าส่งออกของท่าน
ไปพร้อมๆ กันด้วย อาทิ งาน World Food Moscow ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่ม
สำคัญของรัสเซีย มักจัดขึ้นที่กรุงมอสโคราวเดือนกันยายนของทุกปี และ งาน YUVELIR ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้า
ด้านอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญที่กรุง Moscow จัดราวเดือนพฤษภาคมของทุกปี
 
  งาน World Food Moscow  
            แม้ว่ารัสเซียเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการค้า อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การส่งออก
สินค้าไปรัสเซียเป็นไปด้วยความราบรื่น ผู้ส่งออกพึงระลึกเสมอว่าการทำการค้ากับรัสเซียยังมีข้อจำกัดบางประการ
อาทิ อุปสรรคด้านภาษา เนื่องจากชาวรัสเซียมักใช้ภาษารัสเซียในการเจรจาธุรกิจ ผู้ส่งออกไทยจึงควรหาล่าม
ในการเจรจาติดต่อธุรกิจกับชาวรัสเซียเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากความเข้าใจไม่ตรงกัน นอกจากนี้
ผู้ส่งออกควรเตรียมตัวให้พร้อมกับการขนส่งสินค้าที่ใช้เวลานานเพราะระยะทางที่ห่างไกลกัน โดยเฉพาะสินค้า
ประเภทผลไม้ ซึ่งผู้ส่งออกควรเรียนรู้วิธีการบรรจุหีบห่อและการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมระหว่างการขนส่ง และ
ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น สินค้าที่มีน้ำหนักมากและสินค้าที่มีกำไรค่อนข้างต่ำ จึงอาจไม่เหมาะ
ที่จะส่งออกไปรัสเซีย
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  ภาพประกอบจาก www.google.com การเผยแพร่ภาพนี้เพื่อแนะนำข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ