ลงทุนในฟิลิปปินส์…อย่ามองข้ามเขตเศรษฐกิจพิเศษ

 
   
            ในช่วงเวลาที่การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ขยับใกล้
เข้ามา ผู้ประกอบการหลายรายต่างมองหาช่องทางที่จะขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้กันมากขึ้น
ฟิลิปปินส์ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ด้วยปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความอุดมสมบูรณ์
ของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจต่างๆ ที่ต้องอาศัยทรัพยากรดังกล่าวเป็นวัตถุดิบ อาทิ เหมืองแร่
การค้าวัสดุก่อสร้าง และรับเหมาก่อสร้าง อีกทั้งมีตลาดรองรับขนาดใหญ่ด้วยประชากรราว 100 ล้านคน มากเป็น
อันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย (ราว 250 ล้านคน) ยิ่งไปกว่านั้น ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีของ
ชาวฟิลิปปินส์ยังช่วยให้การสื่อสารระหว่างผู้ประกอบการต่างชาติและลูกจ้างท้องถิ่นเป็นเรื่องง่าย อย่างไรก็ตาม
ปัจจุบันฟิลิปปินส์ยังมีปัญหาด้านความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น ผู้ที่ต้องการลงทุนในฟิลิปปินส์
จึงควรพิจารณาถึงโอกาสการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษควบคู่ไปด้วย เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐาน
ในพื้นที่ดังกล่าวมีความพร้อมมากกว่าพื้นที่อื่นๆ อีกทั้งยังมีสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจหลายประการ
          
เขตเศรษฐกิจพิเศษ…ช่องทางลงทุนที่น่าสนใจ
             เขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ Philippine Economic Zone Authority
(PEZA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย Special Economic Zone Act of 1995 ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน
มิถุนายน 2556 ฟิลิปปินส์มีเขตเศรษฐกิจพิเศษถึง 396 แห่ง ซึ่งรวมที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่าง
การก่อสร้างกระจายอยู่ทั่วประเทศ (ส่วนใหญ่อยู่บนเกาะลูซอนซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงมะนิลา เมืองหลวง
ของฟิลิปปินส์) นักลงทุนจึงมีทางเลือกค่อนข้างมากในการตัดสินใจลงทุนในธุรกิจที่ตนมีศักยภาพในเขต
เศรษฐกิจพิเศษที่เหมาะกับโครงการลงทุนมากที่สุด
 
  สัดส่วนจำนวนเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละประเภท  
   
  หมายเหตุ : ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 ที่มา : PEZA  
            เป็นที่น่าสังเกตว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษประเภทเทคโนโลยีสารสนเทศมีสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ
64.6 ของจำนวนเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมดของฟิลิปปินส์
เนื่องจากธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นธุรกิจ
ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ให้การสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง อาทิ กิจการรับจ้างบริหารระบบธุรกิจ (Business Process
Outsourcing : BPO) ถือเป็นธุรกิจดาวเด่นของฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะธุรกิจ Call Center ซึ่งมีอัตราการขยายตัว
ของรายได้เฉลี่ยราวร้อยละ 15 ต่อปี จากการที่บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และ
ออสเตรเลีย นิยมว่าจ้างศูนย์ Call Center ในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น โดยอาศัยข้อได้เปรียบด้านความสามารถในการใช้
ภาษาอังกฤษของชาวฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของธุรกิจ BPO ยังส่งผลให้การก่อสร้างอาคารสำนักงาน
มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และ
ขยายตลาดสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างและเครื่องจักร ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษประเภทอุตสาหกรรมมีจำนวน
รองลงมา คิดเป็นร้อยละ 22.7
โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่รัฐบาล
ฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญมาก ประกอบกับแรงงานฟิลิปปินส์มีความรู้ด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างดี จึงถือเป็นโอกาส
ในการขยายการลงทุนในธุรกิจดังกล่าว นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษอีก 3 ประเภท คือ อุตสาหกรรมเกษตร
แปรรูป ท่องเที่ยว และท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ก็ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ไม่ควรพลาดเช่นกัน เนื่องจาก
บริเวณดังกล่าวพร้อมรองรับธุรกิจที่นักลงทุนไทยมีความเชี่ยวชาญ และเป็นที่ต้องการของตลาด
ฟิลิปปินส์
อาทิ ธุรกิจเกษตรแปรรูป (เช่น ธุรกิจผลิตผักผลไม้แปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง ขนมปังกรอบ และ
นมพร้อมดื่ม) การท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (เช่น ธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพ) เพื่อ
ตอบรับกระแสใส่ใจสุขภาพและความงามในฟิลิปปินส์ที่เพิ่มขึ้นมาก
          การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
             นอกจากความสะดวกสบายจากโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครันแล้ว นักลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของ
ฟิลิปปินส์ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและค่าธรรมเนียม รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ อีกด้วย อาทิ
 
  ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ไทย), PEZA  
            ผู้ที่สนใจลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.peza.gov.ph
และยื่นคำร้องไปยัง PEZA พร้อมค่าสมัคร 3,600 เปโซ (ราว 2,600 บาท) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรเป็นผู้มี
ประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างดี และศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบก่อนการลงทุน
ทั้งกฎระเบียบด้านการลงทุน ธรรมเนียมในการติดต่อธุรกิจในฟิลิปปินส์ และวิธีการรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจ
เกิดขึ้น อาทิ ปัญหาทางการเมือง และภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง พร้อมทั้งควรขอรับคำปรึกษา
จากหน่วยงานไทยที่เชี่ยวชาญด้านการลงทุน เพื่อให้การลงทุนในฟิลิปปินส์เป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความ
สำเร็จ
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  ภาพประกอบจาก www.sxc.hu การเผยแพร่ภาพนี้เพื่อแนะนำข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ