สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคมาเลเซีย...
กลยุทธ์สำคัญก่อนเจาะตลาดให้สำเร็จ

 
   
            มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และเป็นตลาดที่สินค้าไทย
มีศักยภาพสูง ดังเห็นได้จากมูลค่าส่งออกของไทยไปมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นจาก 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2552
เป็น 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2556 หรือขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 11 ต่อปีในช่วงปี 2552-2556 ส่งผลให้ปัจจุบัน
มาเลเซียก้าวขึ้นเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทยในอาเซียน และเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 5 ของ
ไทยในโลก ขณะที่การค้าระหว่างไทยและมาเลเซียยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกในระยะถัดไป เนื่องจากเศรษฐกิจ
มาเลเซียมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดย EIU คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.8 ในปี 2556
เป็นเฉลี่ยร้อยละ 5.4 ต่อปีในช่วงปี 2557-2561 ซึ่งจะเกื้อหนุนกำลังซื้อของชาวมาเลเซียที่มีจำนวนราว 30 ล้านคน
ให้เติบโตต่อเนื่อง โดยรายได้ต่อหัวของชาวมาเลเซียจะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 50 จาก 10,650 ดอลลาร์สหรัฐในปี
2556 เป็น 16,070 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 อันจะยิ่งเกื้อหนุนความต้องการบริโภคสินค้าให้เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการ
นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นด้วย

          ตลาดผู้บริโภคในมาเลเซีย
          
ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมและแนวโน้มตลาดผู้บริโภคในมาเลเซียมีดังนี้
          
ประชากรวัยทำงานเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ชาวมาเลเซียส่วนใหญ่ร้อยละ 65 อยู่ในวัยทำงาน (อายุ
ระหว่าง 15-64 ปี) ในจำนวนนี้ผู้มีอายุระหว่าง 25-54 ปี มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 ของประชากรวัยทำงานทั้งหมด
ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและให้ความสำคัญมากกับคุณภาพและแบรนด์ของสินค้า โดยหากเจาะลึกลงไปพบว่า
กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มีอายุราว 25-39 ปี มีการศึกษาและรายได้สูง เป็นกลุ่มที่มักจับจ่ายใช้สอยเพื่อความสะดวก
สบายและความบันเทิง เกาะติดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำสมัย ชอบทดลองสินค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะสินค้านำเข้า
จากต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสของสินค้าเทคโนโลยี ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ตลอดจนสินค้าแฟชั่น
เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับที่มีการออกแบบทันสมัย อาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว และ
เครื่องดื่มที่มีรสชาติแปลกใหม่ รวมทั้งผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผลไม้ไทย ซึ่งเป็นที่นิยม
มากในตลาดมาเลเซีย เช่น มะม่วง ทุเรียน มังคุด และมะพร้าว เป็นต้น ล้วนมีแนวโน้มเติบโตตามกำลังซื้อ
ของผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว
นอกจากนี้ กลุ่มผู้บริโภคในวัยทำงานยังนิยมสังสรรค์กับเพื่อนฝูงหลังเลิกงาน ซึ่งร้าน
อาหารไทยเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ได้รับความนิยมมาก ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยเปิดให้บริการกว่า 5,000 แห่งใน
มาเลเซีย เนื่องจากชาวมาเลเซียคุ้นเคยกับอาหารไทยเป็นอย่างดีเพราะมีการเดินทางไปมาหาสู่ติดต่อค้าขายกัน
มานาน ประกอบกับอาหารไทยมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ และมีสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นส่วนประกอบ
สำคัญเข้ากับกระแสตื่นตัวในการดูแลสุขภาพในปัจจุบัน การบริโภคอาหารไทยจึงมีแนวโน้มเติบโตดี และเป็นโอกาส
ต่อเนื่องในการส่งออกวัตถุดิบสำหรับใช้ปรุงอาหาร โดยเฉพาะเครื่องปรุงรส อาทิ น้ำปลา ซอสหอยนางรม
น้ำพริกเผา น้ำจิ้มไก่ กะทิบรรจุกล่อง รวมทั้งผงปรุงรสสำเร็จรูปที่ใช้ปรุงอาหารให้มีรสชาติตามรายการ
อาหารไทยยอดนิยม อาทิ ผงปรุงรสต้มยำ แกงส้ม และผัดกะเพรา เป็นต้น
 
  โครงสร้างประชากรของมาเลเซีย  
  ที่มา : The Central Intelligence Agency (CIA)  
            ชาวมาเลเซียมีรสนิยมการบริโภคอาหารค่อนข้างหลากหลายตามเชื้อชาติและศาสนา โดยชาว
มาเลเซียส่วนใหญ่ราวร้อยละ 60 ที่นับถือศาสนาอิสลาม
จะไม่รับประทานเนื้อสุกรและไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มี
ส่วนผสมของแอลกอฮอล์ รวมทั้งเคร่งครัดและให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าอาหารที่ผลิตตามหลักฮาลาล
ของศาสนาอิสลาม ขณะที่ประชากรมาเลเซียเชื้อสายจีน ซึ่งมีจำนวนราวร้อยละ 20 ไม่นิยมรับประทานเนื้อวัว แต่ชื่นชอบการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ นิยมการสังสรรค์และรับประทานอาหารนอกบ้าน โดย
จะเลือกบริโภคอาหารจีนเป็นลำดับแรก และจะหมุนเวียนบริโภคอาหารชาติอื่น ซึ่งรวมถึงอาหารไทย จึงเป็นกลุ่ม
ผู้บริโภคที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภคอาหารไทยในมาเลเซีย ขณะที่ชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียที่มี
จำนวนราวร้อยละ 7 ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู
ไม่รับประทานเนื้อวัว นิยมการรับประทานอาหารรสจัดจาก
เครื่องเทศหลากหลายชนิด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอาหารที่ผลิตในมาเลเซียยังมีค่อนข้างจำกัด ทำให้มาเลเซียต้อง
นำเข้าอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการและเพิ่มความหลากหลายให้สอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภค จึง
นับเป็นโอกาสดีของสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์ของไทยในการขยายตลาดในมาเลเซีย อาทิ ข้าว
น้ำตาลทราย ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋อง
และแปรรูป ไอศกรีม รวมถึงอาหารพร้อมปรุงและพร้อมรับประทานทั้งแบบบรรจุกระป๋องและแบบแช่เย็น

ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นตามวิถีชีวิตที่เร่งรีบและขนาดครอบครัวที่เล็กลง ทำให้ชาวมาเลเซียที่อาศัยอยู่ใน
เขตเมืองนิยมซื้ออาหารสำเร็จรูปมารับประทานที่บ้านแทนการปรุงอาหารเอง ทั้งนี้ ผู้ส่งออกควรใส่ใจกับรสนิยม
การบริโภคอาหารที่หลากหลายและปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับความต้องการ อาทิ อาจเลือกใช้เนื้อไก่ กุ้ง
หรือเนื้อปลาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสำเร็จรูปแทนเนื้อสุกรและเนื้อวัว เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภค
ได้ทุกกลุ่ม รวมทั้งให้ความสำคัญกับรายละเอียดในการติดตราสัญลักษณ์ฮาลาลในทางปฏิบัติ อาทิ การ
ติดตราสัญลักษณ์ฮาลาลบนผักผลไม้กระป๋อง แม้เป็นสินค้าฮาลาลตามธรรมชาติ (Natural Halal)
อยู่แล้ว เพื่อให้ผู้บริโภคซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมมั่นใจว่าการผลิตอาหารนั้นสอดคล้องกับหลักศาสนา
          
ชาวมาเลเซียใส่ใจและหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประชากรในช่วงอายุตั้งแต่ 40 ปี
ขึ้นไป ทําให้การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าจะคำนึงถึงประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น อาทิ การนิยมเลือกซื้อเครื่องดื่ม
ที่เน้นคุณประโยชน์และเสริมสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มผสมโสม ซุปไก่สกัด รังนก ชาสมุนไพร เครื่องดื่มเกลือแร่
และเครื่องดื่มสมุนไพรชนิดต่างๆ แทนการดื่มน้ำอัดลม ส่งผลให้ตลาดสินค้าดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโต และเป็น
โอกาสเครื่องดื่มของไทยที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว
          ชาวมาเลเซียนิยมซื้อสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ในปี 2555 การค้าปลีกผ่านอินเทอร์เน็ต
ขยายตัวถึง 12% และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 13% ต่อปีจนถึงปี 2560 เนื่องจากปัจจุบันประชากร
มาเลเซียมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่าร้อยละ 60 อีกทั้งรัฐบาลมาเลเซียตั้งเป้าผลักดันให้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ
75 ในปี 2558 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการจำหน่ายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตให้มีแนวโน้มเติบโตตาม โดยเฉพาะกลุ่ม
ผู้บริโภครุ่นใหม่ เนื่องจากสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ตลอดเวลา การเปรียบเทียบราคาสินค้าทำได้ง่าย และจัดส่งสินค้า
ถึงประตูบ้าน ทำให้สะดวกและประหยัดเวลา ดังนั้น การจำหน่ายสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตและการโฆษณา
สินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตจึงเป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจในการเจาะตลาดมาเลเซีย เนื่องจากสามารถ
เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในบ้าน (Home Care) เสื้อผ้า
เครื่องแต่งกาย สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งยอดจำหน่ายผ่านทางอินเทอร์เน็ต
ขยายตัวสูง


          การศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมและแนวโน้มตลาดผู้บริโภคมาเลเซียในเบื้องต้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการ
ไทยสามารถวางกลยุทธ์การผลิตและส่งออกสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในมาเลเซียได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกที่สนใจขยายตลาดสินค้าในมาเลเซียควรศึกษากฎระเบียบการนำเข้าในรายสินค้า ซึ่ง
สามารถศึกษารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของ Ministry of International Trade and Industry ของมาเลเซีย คือ
http://www.miti.gov.my/cms/index.jsp รวมทั้งใช้ประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN
Economic Community : AEC) โดยเฉพาะด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีนำเข้าที่ปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าสินค้า
ส่วนใหญ่ของมาเลเซียภายใต้ AEC อยู่ในระดับต่ำ คือ ร้อยละ 0-5 ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนและอุปสรรคทาง
การค้าให้แก่ผู้ส่งออกไทยในการส่งสินค้าไปยังมาเลเซีย
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  ภาพประกอบจาก www.sxc.hu การเผยแพร่ภาพนี้เพื่อแนะนำข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ